นายกฯ ปฏิบัติภารกิจที่ปากีสถานเป็นวันสุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพฯ ช่วงบ่าย เผยผลหารือเอกชนไทย เตรียมเจรจาเอฟทีเอ ลดอุปสรรคการค้าการลงทุนในปากีสถาน พร้อมสั่งเอ็กซิมแบงก์ช่วยเอกชน
วันนี้ (21 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ว่าเมื่อเวลา 18.00 น.วานนี้ (21 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เพื่อพบหารือกับนายมูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ (H.E. Mr. Muhammad Nawaz Sharif) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน
โดยนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือว่า นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้หารือกันในด้านต่างๆ ทั้งความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความมั่นคง และเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคและพหุภาคี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้ง สองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศร่วมกันเป็นประธานในการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างไทยและปากีสถาน 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านการค้าระหว่างไทยและปากีสถาน 3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมระหว่างไทยและปากีสถาน
ในช่วงเช้าที่โรงแรม Serena กรุงอิสลามาบัด ผู้แทนนักเรียนและนักศึกษาไทยในปากีสถาน ที่เข้ามาศึกษาด้านศาสนาและวิทยาศาสตร์ เข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์สอบถามความเป็นอยู่ จากนั้นนายกฯ เดินทางเยี่ยมชมมัสยิดไฟซาล ซึ่งเป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปากีสถาน และใหญ่เป็นลำดับ 4 ของโลก และเดินทางไปยังเนินเขา Shakar Parian ซึ่งเป็นที่สำหรับแขกบ้านแขกเมืองจะมาปลูกต้นไม้และชมวิวเมือง
จากนั้นเวลา 12.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกฯ และคณะเดินทางไปยังทำเนียบประธานาธิบดีปากีสถาน เพื่อพบหารือกับนายอาซีฟ อาลี ซาร์ดารี ประธานาธิบดีปากีสถาน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์แจ้งแก่ประธานาธิบดีปากีสถานถึงผลการหารือกับนายมูฮัมหมัด นาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ได้มีการร่วมลงนาม 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างไทยและปากีสถาน 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านการค้าระหว่างไทยและปากีสถาน 3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมระหว่างไทยและปากีสถาน ความร่วมมือในการการผลักดัน FTA ไทย-ปากีสถาน นอกจากนี้ ทั้งสองยังได้หารือถึงการต่อสู้กับขบวนการหัวรุนแรงในปากีสถาน โดยทั้งสองเห็นร่วมกันว่า การส่งเสริมให้ประชาชนเคารพและเข้าใจในความหลากหลายจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งได้ในที่สุด
หลังจากนั้นเวลา 13.00 น. นายกฯ และคณะเดินทางไปยังท่าอากาศท่าอากาศยานทหาร Noor Khan Air Base เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยเที่ยวบินพิเศษ TG 8891 โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 19.55 น.
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน นายกฯ ได้พบหารือกับภาคเอกชนไทยที่สนใจเปิดการค้ากับปากีสถาน รวมถึงรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการที่เริ่มทำการค้าแล้ว โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ได้รายงานนายกฯว่าประเทศปากีสถาน เป็นประเทศที่น่าลงทุน มีประชากรกว่า 190 ล้านคน ปัจจุบันมีภาคเอกชนไทยทำการค้ากับปากีสถาน พอสมควร และปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าระหว่างกัน ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกของไทย 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากปากีสถาน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีภาคเอกชนหลายสาขามาลงทุนในปากีสถาน เช่น กลุ่มยางรถยนต์ อาหาร วัสดุก่อสร้าง การศึกษา และจากการหารือกับเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย พบว่าเขาต้องการให้เข้ามาลงทุนด้านธุรกิจบริการสุขภาพ เนื่องเชื่อมั่นในบริการสาธารณสุขของไทย และมีชาวปากีสถานเดินทางไปใช้บริการโรงพยาบาลในประเทศไทยปีละหลายหมื่นคน
นายธีรัตถ์กล่าวต่อว่า การเดินทางเยือนปากีสถานของนายกฯ ในครั้งนี้ ได้มีการลงนามเพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมด้านการค้าไทยปากีสถาน หรือ JTC ซึ่งเริ่มประชุมทันทีในวันที่ 21 ส.ค. เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมย์ขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เตรียมเชิญหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของปากีสถาน เดินทางไปให้ข้อมูลและโอกาสในการลงทุนในปากีสถานให้กับนักลงทุนของประเทศไทยอีกด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ภาคเอกชนเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการทำการค้ากับปากีสถาน คือ อัตราภาษีที่สูงกว่า 50% เพราะมีทั้งภาษีนำเข้า ภาษีขาย ภาษีน้ำท่วม ซึ่งอยากให้ทางรัฐบาลเจรจาเพื่อหาทางในการลดภาษีลง รวมถึงการเดินหน้าเปิดการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทยและปากีสถาน พร้อมๆ กับเรียกร้องให้ปากีสถานให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะมีสินค้าไทยบางรายการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในปากีสถาน
ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวหลังจากรับฟังความเห็นของภาคเอกชนว่า จะนำข้อสังเกตของภาคเอกชนไปหารือกับทางการปากีสถาน เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าต่อไป ขณะเดียวกันก็จะเริ่มทำการเจรจาเปิดการค้าเสรี หรือ FTA กับปากีสถานทันที นอกจากนี้จะหาทางให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าหรือ EXIM BANK เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเอกชนมากขึ้นในการทำธุรกิจกับประเทศที่ยังไม่มีความคล่องตัวนักในการชำระเงิน เพื่อทำให้เอกชนมีความมั่นใจและส่งเสริมการค้าระหว่างกันมากขึ้น