xs
xsm
sm
md
lg

“นวัตกรรมเซลล์บำบัด-สเต็มเซลล์” ธุรกิจหลอกคนรวย!? ทุนใหญ่!กำจัด “คล้ายอัปสร” พ้นเส้นทางถอดรหัสยีน (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของ “ฮาร์ท เจเนติกส์” ผู้คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์แค่เจาะเลือดตรวจระดับยีนมนุษย์ด้วยการถอดรหัสยีน-DNA ก็สามารถบอกได้ว่าคุณกำลังจะป่วยด้วยโรคร้ายอะไร ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ชี้ช่องทางรักษาเพื่อสกัดกั้นการเกิดโรคได้ ล่าสุดเตรียมให้บริการตรวจลึกระดับอาร์เอ็นเอและผลจากที่เป็นหนึ่งเดียวของไทยในระดับโลก ทำให้ทุนธุรกิจใช้ “วิชามาร” จ้องงาบกิจการแห่งนี้

ขณะเดียวกันนวัตกรรมของ “คล้ายอัปสร” กลายเป็นตัวการกระชากหน้ากาก “ธุรกิจหลอกคนรวย” ที่บรรดาโรงพยาบาลเอกชน และศูนย์ความงามต่างๆ ดูดลูกค้าทั้งไทย-เทศ มาใช้บริการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนทำให้ธุรกิจนี้มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท

ดังนั้น “คล้ายอัปสร-ฮาร์ท เจเนติกส์” จึงกลายเป็น “ศัตรูตัวร้าย” ของทุนธุรกิจที่มีทั้ง “มาเฟียตำรวจ-นักการเมือง-นักธุรกิจ-แพทย์” ส่งผลให้คล้ายอัปสรตัองเผชิญสิ่งเลวร้ายที่ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์จะกระทำกันและหลายครั้งเธอก็แทบ “สติแตก'!!

ทีม Special scoop จะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกแง่ทุกมุมของฮาร์ท เจเนติกส์ และวงการธุรกิจสุขภาพหลอกคนรวย ที่แม้แต่ “แพทยสภา” ซึ่งรู้ลึกถึงระดับใครคือมาเฟีย แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับมนุษย์เสื้อกาวน์กลุ่มนี้ได้ โดยจะนำเสนอทั้งหมด 5 ตอนจบ

อ่านย้อนหลังตอนที่ 1 : “นวัตกรรมเซลล์บำบัด-สเต็มเซลล์” ธุรกิจหลอกคนรวย!? “ฮาร์ท เจเนติกส์” ถอดรหัสยีนพบมะเร็งก่อนระยะที่ 1 (ตอนที่ 1)

อ่านข่าวประกอบ : เจ้าของ บ.ถอดรหัส DNA แจ้งจับ จนท.ห้องแล็บปลอมเอกสาร

ตอนที่ 2

“คล้ายอัปสร” รับถูกบีบทุกทาง หลังนำนวัตกรรมตรวจยีนบอกโรคให้บริการเชิงพาณิชย์ ลูกน้องเก่า-ลูกค้าพร้อมใจฟ้องร้อง ตัดช่องทางรับลูกค้า จนต้องกลับไปใช้บ้านทำแล็บลดต้นทุน ส่วนคู่ค้าเดิมไม่ขายน้ำยาตรวจผลให้ บริการส่งผลไปตรวจต่างประเทศก็ถูกสกัด แถมผู้ถือหุ้นเปลี่ยนท่าทีต้องการบริหารเอง หนักสุดปล่อยงูเข้าบ้าน ชี้นวัตกรรมนี้ดีต่อผู้บริโภคที่ทราบผลได้ตรงเหตุ แต่กระทบฐานธุรกิจให้บริการแบบเดิม เพราะบริษัทยามีส่วนได้เสีย

กว่า 30 ปีในการค้นคว้าและวิจัยของ ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร จนค้นพบนวัตกรรมในการตรวจหาสาเหตุของโรคในระดับยีน และกำลังก้าวไปในระดับ RNA ความสำเร็จและความเพียรพยายาม ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ ที่จะสามารถให้การรักษาโรคแก่ผู้ป่วยได้ตรงกับต้นเหตุของโรคที่แท้จริง

จากความสำเร็จในการค้นพบนวัตกรรมการตรวจยีนเพื่อหาต้นเหตุของโรค ที่ ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร ได้เปิดให้บริการตรวจเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงนวัตกรรมตัวนี้ ในนามบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นแล็บตรวจยีน 1 ใน 4 ของโลก หนึ่งเดียวในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ช่วยให้คนไทยได้พบกับการรักษาที่ถูกต้องตรงกับโรค และถึงขั้นรู้ได้ก่อนการป่วยเป็นโรค ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วยชีวิตของผู้ป่วยยืนยาวขึ้น

แต่ความสำเร็จดังกล่าวกลับกลายเป็นปมปัญหาอันหนักหน่วงให้กับ ดร.คล้ายอัปสรเป็นอย่างมาก เพราะการค้นพบต้นตอของโรคผ่านการตรวจยีน ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนที่เคยได้ประโยชน์กุมชะตากรรมของคนไทยมาตั้งแต่อดีต รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพทั้งระดับคลินิกตรวจสุขภาพทางเลือกชื่อดังหรือโรงพยาบาล ที่ต้องการสกัดและต้องการทราบถึงเจ้านวัตกรรมอันนี้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ร่วมถือหุ้นในบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ต้น

พบโรค-เพิ่มศัตรู

“ลูกค้าบางรายของเราเคยตรวจหามะเร็งจากที่อื่นมา ผลการตรวจแจ้งว่าไม่พบมะเร็ง แต่เมื่อมาตรวจกับเรากลับพบ โดยการตรวจในระดับยีนจะทำให้เห็นถึงยีนบางตัวที่ตรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 1 การพบสาเหตุก่อนย่อมเป็นผลดีต่อการรักษาหรือยับยั้งไม่ให้ต้นเหตุของโรคแพร่กระจาย” ดร.คล้ายอัปสรกล่าว

นอกจากนี้เธอยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการให้บริการด้านความงามในรูปแบบต่างๆ บางครั้งมีการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อความงาม เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่ร่างกาย มีโอกาสที่จะทำให้ยีนกลายพันธุ์เป็นโรคมะเร็งได้

ด้วยนวัตกรรมที่เธอค้นพบทำให้ทราบถึงโอกาสของการที่จะเป็นโรคร้ายเหล่านี้ แม้จะไม่ใช่เรื่องของความจงใจที่จะทำร้ายคู่แข่ง แต่หากมีลูกค้าที่เคยใช้บริการที่หนึ่งไปตรวจค้นหาโรคในระดับยีนแล้วพบว่ายีนเกิดการกลายพันธุ์ไปสู่มะเร็ง ธุรกิจด้านความงามที่เปิดให้บริการอยู่เดิมนั้นคงไม่มีใครกล้าเข้าไปใช้บริการ และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก

ดังนั้น คงไม่มีเจ้าของกิจการด้านสุขภาพหรือความงามรายใดพึงพอใจกับผลการตรวจแล้วมีโอกาสพบโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับลูกค้าจากการเข้ามาใช้บริการของตน

เมื่อการค้นพบนวัตกรรมใหม่ในการตรวจหาสาเหตุของโรค กลับกลายเป็นชนวนเหตุในการทำลายธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการเดิมโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงเป็นที่มาของกระบวนการจ้องทำลายนวัตกรรมของฮาร์ท เจเนติกส์ ด้วยกรรมวิธีทางธุรกิจจึงได้เปิดฉากและหนักขึ้นเรื่อยๆ
ภาพจาก thaicancerj.wordpress.com
มีคนอยากฮุบ

ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด เปิดใจถึงปัญหาที่รุมเร้ากับบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ในเวลานี้ว่า นับตั้งแต่การตัดสินใจนำเอางานวิจัยที่เคยทำไว้ในมหาวิทยาลัยมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ ทางบริษัทประสบปัญหาหลายอย่าง

“เราคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดน่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือมีคนหรือภาคธุรกิจที่อยากได้นวัตกรรมของเรา อีกเหตุหนึ่งน่าจะมาจากมีหุ้นส่วนบางคนอยากได้ธุรกิจของเรา”

เริ่มตั้งแต่อดีตพนักงานของเราออกไปเมื่อสิงหาคม 2552 แล้วย้ายไปอยู่กับแล็บอื่น ได้ฟ้องร้องในคดีแรงงาน เมื่อราวเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งกระบวนการยังอยู่ในขั้นสืบพยาน หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ขโมยสินทรัพย์ในบริษัท พบว่าสิ่งที่หายไปเป็นเครื่องมือและฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงพลาสมาดีเอ็นเอบางส่วน ที่น่าสงสัยคือผู้ที่เข้ามาขโมยเลือกที่จะขโมยส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งสิ้น และขโมยก็เลือกเฉพาะส่วนที่เก็บข้อมูลสำคัญได้อย่างถูกต้อง

ก่อนหน้านี้เคยมีหน่วยงานบางแห่งขอสัมภาษณ์อดีตพนักงานของบริษัทเรา หลังจากนั้นการพรีเซนต์งานของหน่วยงานนั้นก็มีงานที่คล้ายๆ ผลงานของบริษัทฯ ไปอยู่กับเขา เรื่องนี้จึงคิดว่าพนักงานของเราน่าจะมีการนำเอานวัตกรรมที่เรามีไปให้กับเขา ที่สำคัญในช่วงที่อดีตพนักงานชุดที่ฟ้องร้องดร.คล้ายอัปสรยังอยู่ บริษัทฯ หาลูกค้าได้น้อยมาก แต่เมื่อพนักงานชุดนี้ลาออกไปบริษัทฯ กลับมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

ท่ามกลางคดีความฟ้องร้องกับอดีตพนักงานและการยกเค้าอุปกรณ์และข้อมูลสำคัญที่เป็นหัวใจในการทำงานของเธอแล้ว ยังมีลูกค้ารายหนึ่งที่ขอใช้บริการตรวจยีนได้ฟ้องร้องว่าส่งผลตรวจล่าช้า ซึ่งลูกค้ารายนี้เคยมีคดีฟ้องร้องกับหมอบางรายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายมาแล้ว เมื่อกระบวนการสู่ชั้นศาล ทาง ดร.คล้ายอัปสรก็แสดงหลักฐานว่าได้ส่งผลตรวจไปที่สหรัฐอเมริกา สุดท้ายบริษัทฯ และ ดร.คล้ายอัปสรก็เป็นฝ่ายชนะคดี
ดร.คล้ายอัปสร แจ้งความกับอดีตพนักงานที่ปลอมแปลงเอกสารและทำลายทรัพย์สิน
สารพัดวิธีบีบ

เมื่ออุปสรรคในการเปิดฮาร์ท เจเนติกส์ถูกถาโถมเข้ามาทั้งจากคดีฟ้องร้องของอดีตพนักงาน ลูกค้าบางรายที่คาดกันว่าน่าจะไม่ใช่ลูกค้าตามปกติ รวมไปถึงพันธมิตรจากโรงพยาบาลไม่ส่งลูกค้ามาให้โดยไม่ทราบสาเหตุ แม้กระทั่งน้ำยาที่ใช้ในการตรวจ บริษัทที่เคยขายให้กลับไม่ขายให้แล้ว จึงทำให้บริษัทฯ ต้องประสบปัญหา เลยต้องใช้บ้านของ ดร.คล้ายอัปสรมาเป็นแล็บแทนเพื่อลดต้นทุน

แต่เรื่องวุ่นวายก็ยังไม่จบ เดือนมิถุนายน 2555 ดร.คล้ายอัปสรได้เข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง หลังจากที่บริษัทขนส่งพัสดุระดับโลกอย่างเฟดเอ็กซ์ ย่านพระราม 3 ทำดีเอ็นเอที่กำลังจะนำไปถอดรหัสที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเสียหายโดยปฏิเสธความรับผิดชอบ

หลังจากนั้นได้เกิดเรื่องวุ่นวายในบ้านที่ใช้เป็นแล็บในการวิจัย อยู่ๆ ก็มีงูขนาดใหญ่เข้ามาในบ้านหลายตัวเดือนตุลาคม 2555 มีทั้งงูเหลือมและงูเห่าขนาดเมตรกว่า จึงต้องเผาในบางจุดเพื่อไล่งู ผลที่ตามมาคือพื้นที่บางส่วนเสียหายและทำให้ระบบไฟฟ้าในบ้านเสียหายทั้งหมด

หนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทเองก็ได้สร้างปัญหาในการบริหารงานในฮาร์ท เจเนติกส์ไม่น้อยเช่นกัน เพราะบางคนต้องการที่จะเข้ามาบริหารในบริษัทแห่งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อย พยายามเข้ามาจัดการในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงการข่มขู่ และเสนอให้มีการถ่ายทอดความรู้ที่เราค้นพบเพื่อแลกกับการยุติปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“เราถูกบีบทุกอย่าง ถูกสกัดทุกทาง สถานพยาบาลบางแห่งก็อยากได้นวัตกรรมของเราไป บางแห่งก็ดึงเด็กของเราไปอยู่ด้วย รวมไปถึงคดีฟ้องร้อง แต่เราก็ยังจะสู้ต่อไป เราบอกเด็กทุกคนว่าให้ยึดงานเป็นที่ตั้ง แล้วหลังจากนั้นเงินจะตามมาเอง เพราะสิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นประโยชน์กับมนุษย์”
ห้องปฏิบัติการบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด
เป็นทั้งคู่แข่งและผู้ทำลาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้นพบของ ดร.คล้ายอัปสรกับการตรวจเลือดลึกลงไปถึงระดับยีนนั้น มีเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่ทำได้ แถมยังเป็นเพียง 1 ใน 4 ของโลก โดยการตรวจในระดับยีนทำให้สามารถทราบได้ถึงโอกาสของการเป็นโรคตั้งแต่ระดับที่ยังไม่แสดงอาการ การตรวจในระดับนี้ทำได้เหนือกว่าคลินิกตรวจสุขภาพทั่วไป

การตรวจลึกในระดับยีนนอกจากจะทำให้แก้ปัญหาหรือจัดยา อาหารเสริมหรือหาแนวทางที่เหมาะสมในการยับยั้งโรคได้ ไม่ต้องใช้ระบบการวินิจฉัยแบบเดิมที่ค่อยๆ หาสาเหตุของโรคตามสมมติฐานไปเรื่อยๆ โดยในระบบเดิมย่อมเป็นผลบวกต่อบริษัทยาและสถานประกอบการที่ลูกค้าหรือคนไข้จะต้องเข้ามาพบแพทย์บ่อยๆ หากเป็นสถานประกอบการเอกชนย่อมมีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่เป็นรายได้ของสถานพยาบาลแห่งนั้น

แม้กระทั่งการให้บริการด้านความงามต่างๆ ก็มีผลต่อการเกิดยีนกลายพันธุ์ อาจทำให้เป็นโรคอื่นตามมาได้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการเหล่านั้น หากยังมีบริการตรวจยีนอย่างที่ฮาร์ท เจเนติกส์ตทำอยู่

อีกด้านหนึ่งผู้ที่ให้บริการตรวจสุขภาพย่อมมองว่าบริการของฮาร์ท เจเนติกส์ ย่อมทำให้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญ เพราะสามารถบ่งชี้ไปถึงต้นตอของโรคได้ตั้งแต่ยังไม่เกิดหรือเริ่มเกิด โดยโรคนั้นยังไม่แสดงอาการ ย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือที่มีต่อการให้บริการในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันด้วยความสามารถในการตรวจและหาต้นตอของโรคได้ ทำให้นวัตกรรมของ ดร.คล้ายอัปสรเป็นที่หมายตาของโรงพยาบาลและสถานประกอบการด้านสุขภาพหลายแห่ง นอกจากชื่อเสียงที่อยู่ในระดับโลกแล้วรวมถึงเป็น 1 ใน 10 ที่ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ทำให้การต่อยอดในทางธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น แม้ว่าค่าตรวจจะมีราคาแพง แต่สำหรับคนที่รักสุขภาพและมีฐานะในระดับกลางขึ้นไป ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขา

ดังนั้น กระบวนการในการสกัดกั้น เพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถยืน เติบโตหรือเกิดขึ้นได้ในธุรกิจสุขภาพที่มีเม็ดเงินมหาศาลจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากปัญหาต่างๆ ที่ตัวของ ดร.คล้ายอัปสรต้องเผชิญอยู่นับตั้งแต่การนำเอานวัตกรรมนี้มาเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์

อีกแนวทางหนึ่งที่แพทย์อาวุโสพยายามเจรจาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อหวังฮุบกิจการและขอให้ ดร.คล้ายอัปสร เป็นเพียงผู้ปฎิบัติ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของบริษัทนี้ทั้งหมด ยังคงดำเนินต่อไป

เพราะนวัตกรรมนี้หากไม่สามารถหยุดยั้งได้จะกระทบกับธุรกิจด้านสุขภาพทางเลือกทั้งที่โรงพยาบาลเอกชน หรือศูนย์ความงามต่างๆ ที่มีการโฆษณาการใช้นวัตกรรมเซลล์บำบัด เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า สเต็มเซลล์ ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน!

เพราะฉะนั้น กรรมวิธีที่ดีที่สุดคือการทำลาย หรือเข้ามาฮุบกิจการนี้เสียเอง!!

แต่สิ่งที่น่าสนใจในวงการสุขภาพขณะนี้ก็คือ สเต็มเซลล์มีความมหัศจรรย์รักษาโรคได้จริงหรือ ที่สำคัญฉีดสเต็มเซลล์ช่วยชะลอความแก่และหย่อนยาน ที่บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ ดารา หรือหนุ่มสาวในวงการไฮโซนิยมฉีดกันได้จริงหรือไม่ และฉีดแล้วมีโอกาสเกิดมะเร็งตามมาหรือไม่ ผศ.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะมาไขคำตอบ (ตอนที่ 3)

กำลังโหลดความคิดเห็น