“วรวิทย์” ย้ำไม่บริหาร “ออมสิน” ให้มีความเสี่ยง แต่จะช่วยหนุนนโยบายรัฐบาลทั้งดันเศรษฐกิจมหภาคภายใต้เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จับมือกระทรวงมหาดไทย และสถาบันการศึกษาท้องถิ่นพัฒนาการผลิต-การตลาดสินค้าตาม OTOP ต้นแบบของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันจะมี MOU จัดตั้งสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ปฏิบัติ 5 พันธกิจที่สำคัญ เป็นแหล่งเงินกู้ระหว่างกัน ชี้ไม่เสี่ยงเพราะมั่นใจกระทรวงการคลังค้ำประกัน!
2 เดือนกับการกลับมาบริหารธนาคารออมสินในตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ของนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี หลังจากบริหารออมสินในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ 9 ปี และไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารอาคารสงเคราะห์ 2 ปีเต็ม
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กล่าวกับทีม Special scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันว่า กลับมาออมสินครั้งนี้ ไม่มีงานอะไรที่หนักใจ เพราะที่ผ่านมาขณะเป็นรองผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้ดูแลงานสินเชื่อ คุมงานสาขา คุมบุคลากร และดูแลงานกลยุทธ์ ซึ่งเป็นงานสำคัญ และได้ทำงานมา 9 ปีเต็ม ประกอบกับการทำงานอยู่ออมสินและร่วมกับบุคลากรของออมสินมานานจึงกลับมาสานต่อได้อย่างราบรื่น
“งานสำคัญของการบริหาร คือการรู้จักใช้บุคลากร put the right man in the right job ใครเชี่ยวชาญด้านไหนก็ให้ไปทำด้านนั้น อันนี้สำคัญที่สุดที่จะทำให้งานเดินหน้าได้อย่างราบรื่น”
หนุนนโยบายรัฐดันเศรษฐกิจ
ที่สำคัญการบริหารออมสินจะยังคงขับเคลื่อนไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร คือ เป็นธนาคารเพื่อการออมของลูกค้ารายย่อย และสนับสนุนงานตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนโยบายมหภาค และนโยบายฐานราก
โดยนโยบายมหภาค เรื่องใหญ่ยังอยู่ที่ พ.ร.บ. กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง ได้แก่ รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ซึ่งมีแผนมาแล้วหลายรัฐบาล และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เพิ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงขึ้นมาด้วย โดยจะต้องกู้เงินทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลน่าจะมีแผนการลงทุนเน้นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ ทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง และธนาคารพาณิชย์ ก็น่าจะเข้ามาร่วมให้รัฐบาลกู้ เนื่องเพราะไม่มีความเสี่ยง โดยมีกระทรวงการคลังให้การค้ำประกัน
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ยังมีแผนที่จะตั้งสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คล้ายกับที่ธนาคารพาณิชย์มีสมาคมธนาคารไทย
“ที่ผ่านมามีการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ อยู่แล้ว มีการเจอกันเพื่อทานข้าวแลกเปลี่ยนกัน แต่ยังไม่มีงานที่ชัดเจน ดังนั้นการตั้งเป็นสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจะดีกว่า จะได้มีการประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งอยู่ระหว่างการรอเซ็น MOU ซึ่งน่าจะสำเร็จภายใน 1-2 เดือนนี้”
5 ภารกิจสำคัญสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ภารกิจหลักของสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนี้ จะมีการประสานงาน ประสานกำลังกัน 5 ประการ ได้แก่ ประการแรก รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ต้องการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มสาขากระจายให้ทั่วถึงมากที่สุด ดังนั้น หากแบงก์ไหนไม่มีสาขา ก็จะมีการร่วมมือกัน แบ่งพื้นที่กัน 1 สาขา 2 แบงก์ได้ เช่นที่ผ่านมา ออมสินร่วมกับธนาคารเอ็กซิมแบงก์ในการแบ่งสาขา
ประการที่สอง ในบรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารออมสินมีสาขาเอทีเอ็มมากที่สุด ดังนั้นก็จะมีความร่วมมือกันในการ pool เครื่องเอทีเอ็มโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งส่วนนี้ได้มีการดำเนินการไปแล้ว
ประการที่สาม เรื่องของแหล่งเงินทุน ที่จะมีการเป็นแหล่งเงินทุนระหว่างกัน โดยธนาคารออมสินถือเป็นสถาบันเพื่อการออม การระดมเงินฝากก็มีประสิทธิภาพรวดเร็ว การให้สินเชื่อกู้ยืมกันเองก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง และการตั้งสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็จะมีส่วนในการร่วมกันดูแลเรื่องของความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดด้วย
“ออมสินกำลังเป็น leader ในเรื่องต้นทุน แม้ขาหนึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของธนาคารน้อยลง แต่ก็สามารถรักษาต้นทุนของรัฐบาลไว้ได้ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในภาพรวม”
โดยสินเชื่อภาครัฐขณะนี้มีประมาณ 3 แสนล้านบาท จาก 1.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.38% ถือว่าตัวเลขไม่มาก ขณะที่สินเชื่อเอกชนอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.58% ของพอร์ตรวม
ประการที่สี่ จะเป็นการแชร์เรื่องของความรู้ การฝึกอบรมพัฒนาระหว่างกัน โดยแต่ละแบงก์มีความถนัดด้านใดก็จะมีการให้ความรู้ระหว่างกัน เช่น ออมสินเก่งเรื่องเทคนิคระดมเงิน ธนาคารเอ็กซิมแบงก์เก่งเรื่อง SMEs เป็นต้น
ประการสุดท้าย จะเป็นเรื่องของแนวทางปฏิบัติ จะมีการตกลงเรื่องของเกณฑ์การบริหารความเสี่ยง เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติ แต่ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง การมาร่วมกันเพื่อช่วยกันกำหนดเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องจำเป็น
นี่คืองานขาแรกของออมสินในการขานรับนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นระบบภายใต้ความรับผิดชอบต่อเงินฝากของประชาชน
ร่วมมือชุมชนพัฒนา OTOP เพิ่มสัดส่วนหนี้คุณภาพ
ส่วนขาอีกข้างหนึ่งออมสินจะดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางของรัฐบาล
โดยเป้าหมายเชิงธุรกิจในปี 2556 นี้ มีเป้าหมายสินทรัพย์ขยายตัวจำนวน 180,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 มีเงินฝากเพิ่มสุทธิ 134,700 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 มีสินเชื่อเพิ่มสุทธิ 142,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 กำหนดสินเชื่อ NPLs ไว้ที่ร้อยละ 1.5 ของสินเชื่อรวม ตั้งเป้าหมายกำไรสุทธิไว้ที่ 21,027 ล้านบาท โดยที่ ROA อยู่ที่ร้อยละ 1.20 และ ROE อยู่ที่ร้อยละ 17.46
“เรากำหนดให้เป้าหมายอยู่ที่เงินฝาก 8.5% ถือว่าน้อยกว่าปีก่อน แต่นโยบายของผมคือตัวเลขเป้าหมายให้คงไว้ที่ 8.5% เพราะอยู่ในระดับที่ดีอยู่แล้ว แต่ที่จะเพิ่มขึ้นมาคือการเน้นการพัฒนาคุณภาพ ออมสินจะเป็นสถาบันการเงินที่เรียกว่าสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา หรือ developing bank”
การที่จะเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาที่ดี จึงต้องเน้นดำเนินนโยบายฐานราก
นายวรวิทย์เปิดเผยว่า อำเภอทั่วประเทศไทยมีทั้งหมด 807 อำเภอ ขณะนี้ออมสินมีสาขาแล้ว 544 อำเภอ ซึ่งในปีนี้ ออมสินมีแผนที่จะเปิดเพิ่มในปี 2556 นี้อีก 20 สาขา และคาดว่าสถาบันการเงินของรัฐทั้งหมดจะเปิดครบทุกอำเภอในอีก 3 ปีข้างหน้า
ดังนั้น เมื่อขยายสาขาของสถาบันการเงินของรัฐกระจายไปตามท้องถิ่นต่างๆ ได้มากเท่าไร การเข้าถึงเรื่องการเงินของประชาชนก็มีมากขึ้น
“ทิศทางของออมสินชัดเจนว่าจะเน้นการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน อันนี้เป็นงาน CSR ของธนาคารด้วย ที่จะตอบแทนประชาชน”
โดยงานสำคัญที่จะทำในปีนี้ จะมีการขยายธุรกรรมกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้ออมสินดูแลอยู่ประมาณ 5 หมื่นกว่าหมู่บ้าน และในปีนี้จะให้มีการ link ข้อมูลมาที่ธนาคารออมสินเป็นรายบุคคล 5,000 กว่าหมู่บ้าน ให้สามารถจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซึ่งออมสินจะเป็นคนทำระบบให้
นอกจากนี้จะมีการเข้าไปช่วยประชาชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามรูปแบบ OTOP ของประเทศญี่ปุ่น โดยออมสินมีงบประมาณร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ที่จะลงไปให้ความรู้ประชาชน ทั้งการพาไปดูงาน การสอน แนะนำการผลิต และการทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของประชาชน ซึ่งตรงนี้สำคัญ และเชื่อว่าจะได้ประโยชน์กับชุมชน ที่สำคัญคือออมสินจะมีหนี้เสียน้อยลง เป็นการบริหารงานที่ทำให้หนี้มีคุณภาพกลับมาเป็นประโยชน์ให้ออมสินด้วย
“ญี่ปุ่นเขามีหมู่บ้าน OTOP ที่มีระบบของการสร้าง และมีกฎเกณฑ์ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ตรงนี้เราอยากให้เกิดขึ้นกับสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของประชาชนด้วย ซึ่งจะมีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ โดยเฉพาะกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง”
วอนรัฐดูแลปัญหาการพนัน
สำหรับโครงการธนาคารประชาชน ก็มีการดำเนินงานมา 12 ปีแล้ว มีบัญชีอยู่ประมาณ 3 ล้านบัญชี เป็นเงิน 14,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีการบริหารจนเหลือยอดสินเชื่อแค่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ใน 7 แสนกว่าบัญชี เมื่อมีการร่วมมือกันลงไปพัฒนาอาชีพการผลิตสินค้าให้ประชาชน ส่วนนี้ก็ได้ประโยชน์ด้วย ที่ผ่านมาเห็นชัดว่ายอดสินเชื่อลดลงอย่างต่อเนื่อง
“กลุ่มนี้ก็คือกลุ่มคนที่เป็นหนี้นอกระบบ เราเข้าไปช่วยแก้ปัญหา แต่ถามว่าแก้ได้หมดไหม ก็พยายามแก้ไป แต่ยอมรับว่ามีกลุ่มที่แก้ยากอยู่ด้วย ได้แก่หนี้ที่เกิดจากการเล่นการพนันซึ่งแก้ยากที่สุด เกินกำลังของธนาคาร ตรงนี้รัฐบาลต้องหาวิธีเข้ามาดูแลด้วย”
อย่างไรก็ดี การเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินของนายวรวิทย์ก็เป็นไปตามคาดหมาย เพราะความเชื่อว่าเขาเป็นคนที่มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลหนุนหลังและสามารถสนองนโยบายรัฐได้เป็นอย่างดี
และนี่จึงเป็นเหตุและผลที่นายวรวิทย์ต้องอธิบายให้สังคมได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วเขามีหลักการในการทำงานอย่างไร จึงเป็นบทสรุปสุดท้ายของการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้
“ผมทำตามนโยบายรัฐบาลทุกรัฐบาล รัฐบาลไหนมาเราก็ทำ แต่ผมไม่ชอบความเสี่ยง ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าการบริหารจะมีความเสี่ยง ผมค่อนข้าง Conservative แต่ผมจะเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาช่วย โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิตอล อย่างในปีนี้ ออมสินจะต้องมีการบริการธุรกรรมผ่านมือถือ จุดนี้คือสไตล์การบริหารงานของผม”
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารออมสินในปี 2555 ก่อนการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีกำไรสุทธิ 21,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 3,407 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 1,962,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2554 จำนวน 190,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.75 ขณะที่สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสุทธิ 233,155 ล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 17.25 หรือคิดเป็น 2.46 เท่าของเป้าหมายสินเชื่อ สินเชื่อคงเหลือ ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 1,585,144 ล้านบาท
ด้านการออม สิ้นปี 2555 มียอดเงินฝากรวม 1,679,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 154,008 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.09 หรือคิดเป็น 1.44 เท่าของเป้าหมายเงินฝากเพิ่มสุทธิ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs มีประมาณ 16,752 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.06 ของสินเชื่อรวม
ขณะที่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROA อยู่ที่ร้อยละ 1.15 อัตราผลตอบแทนต่อสัดส่วนของทุน หรือ ROE อยู่ที่ร้อยละ 17.00 และอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio อยู่ที่ร้อยละ 10.63
ออมสินครบ 100 ปี ออก 4 ผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ปีนี้ธนาคารออมสินจะมีอายุครบ 100 ปี จึงได้ออกผลิตภัณฑ์พิเศษสำหรับลูกค้าไว้ 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. สลากออมสิน 3 ปี จะเริ่มเปิดขาย 25 มีนาคม-กันยายน 2556 โดยมีรางวัลที่ 1 เป็นทองคำ 100 บาท 2. เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ 100+1 วัน ซึ่งจะมีดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน 3. เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษชื่อเกษียณสุขสันต์ ให้ผู้ฝากอายุ 55 ปีขึ้นไป ดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ และ 4. ประกันชีวิตชื่อ ออมสินเกษียณเพิ่มทรัพย์ ให้ผู้มีอายุ 55-80 ปี จ่ายครั้งเดียวคุ้มครองยาว 60 ปี โดยจะเปิดจำหน่ายในวันที่ 1 เมษายนนี้ด้วย เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้า
“1 เมษายนนี้ครบรอบ 100 ปีธนาคารออมสิน ตามปณิธานที่พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ตั้งขึ้น นับว่าเป็นวาระมงคลยิ่ง”
ออมสินตั้งมาได้ 100 ปีแล้ว เป็นสถาบันเพื่อการออมที่สำคัญสำหรับคนไทย
“ผมจึงไม่มีนโยบายที่จะบริหารออมสินด้วยความเสี่ยง”! นายวรวิทย์บอก