xs
xsm
sm
md
lg

“3 ศาสตร์” ขจัด Office Syndrome กระตุ้นกล้ามเนื้อ-ช่วยสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 ศาสตร์ ขจัดโรคออฟฟิศซินโดรม “นวดดัดจัดสรีระ-กายภาพบำบัด-กัวซา” อายุรแพทย์โรคหัวใจ เจ้าของศาสตร์นวดดัดจัดสรีระ ชี้อาการ Office Syndrome ต้นเหตุของสารพัดโรคตามมา ไม่เว้นกระทั่งสมรรถภาพทางเพศลดลง ขณะที่นักกายภาพบำบัด ระบุ การห่อไหล่ก้มหน้าจิ้ม “สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต” ลุ้นเป็นโรคหลอดเลือดและระบบประสาท ระวังเยาวชนใช้โต๊ะคอมพิวเตอร์ผิดไซส์ สะสมอาการได้ตั้งแต่เด็ก ส่วนแพทย์แผนจีน ใช้วิธีกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดฝอย ช่วยให้มีการไหลเวียนเลือดดีขึ้น!

“มีการสำรวจพนักงานสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเมืองไทยพบว่า กว่า 80% ของพนักงานมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดเบ้าตา อ่อนเพลีย สมองตื้อ ไปตรวจก็หาสาเหตุของการปวดไม่พบ อาการดังกล่าวในปัจจุบันเรียกกันว่าโรค Office Syndrome ซึ่งกลายเป็นสาเหตุการลาป่วยอันดับต้นๆ ของทุกสำนักงาน โดยเฉพาะสุภาพสตรีช่วงมีประจำเดือนจะปวดหัว ปวดบั้นเอวอยู่แล้ว เมื่อมีอาการเหล่านี้ก็จะป่วยหนักจนไปทำงานไม่ไหว หรือต้องฝืนใจไปทำงาน แต่ทำงานไม่ได้อยู่ดี”

นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ เปิดฉากเล่าเรื่องโรคยอดฮิต Office Syndrome ที่มักจะมีคนไข้หนุ่มสาวอายุแค่ 30 กว่าๆ มาปรึกษาเป็นประจำ เขาบอกอีกว่า ในต่างประเทศมีการประเมินว่าพนักงานสูญเสียประสิทธิภาพไปถึง 1 ใน 3 เมื่อป่วยด้วยโรคนี้ ผลงานของบริษัทลดลง ต้องจ้างคนเพิ่ม คนหนุ่มสาวในเมืองเป็นโรคนี้กันมาก จนร้านนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า มีคนไปใช้บริการอย่างเนืองแน่น แต่สักพักก็พบว่าการนวดแบบนั้นทำให้รู้สึกผ่อนคลายแค่ชั่วคราว ไม่นานก็กลับมาปวดใหม่ ต้องไปนวดซ้ำ พอนวดแรงไปก็เกิดอาการช้ำ ยอก หลังจากการนวด ผลลัพธ์แทนที่จะดีขึ้น กลับกลายเป็นแย่กว่าเก่า

“สาเหตุการป่วยเป็น Office Syndrome เกิดจากการนั่งเกร็งอยู่ในท่าใดเป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อจะตึงตัวและไม่ยอมคลายตัวออกเมื่อเสร็จงานแล้ว ระบบประสาทอัตโนมัติที่เรียกว่า Sympathetic ทำงานตลอดเวลา มีผลทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเครียด ความดันขึ้นสูง อยากกินอาหารมากๆ อยากดื่มเบียร์ อยากสูบบุหรี่ เพื่อให้จิตใจเย็นลง ตั้งแต่ยุคคอมพิวเตอร์ครองเมืองต่อเนื่องมาถึงการจิ้ม Smart Phone ทำให้เกิดการใช้กล้ามเนื้อมือ แขน ไหล่ คอ ในมุมเคลื่อนไหวแคบๆ หากเป็นเช่นนี้นานๆ จะนำไปสู่อาการไหล่ติด กล้ามเนื้อหน้าอกตึง หายใจลำบาก ปวดหัว เวียนหัว หลับไม่สนิท”

อย่างไรก็ดี แม้วิถีชีวิตและการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อให้เกิดโรคมากขึ้น แต่มนุษย์ยังคงสามารถพัฒนาศาสตร์ต่างๆ ขึ้นมาแก้อาการเจ็บป่วยใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมากมายหลายศาสตร์ บางศาสตร์ใช้รักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว ขณะที่บางศาสตร์ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรค Office Syndrome ภัยเงียบที่มนุษย์สำนักงานต้องรู้เท่าทันทั้งวิธีป้องกันและการรับมือเมื่อเกิดอาการ หากอยากมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงไปนานๆ
นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา สาธิตการนวดดัดจัดสรีระ
นวดดัดจัดสรีระแบบไทย สลายอาการ Office Syndrome
 

นพ.พูลชัยเล่าต่อว่า เขาพบว่าหนุ่มสาววัย 30 ต้นๆ จำนวนมากที่มาปรึกษาด้วยเรื่องความดันสูงกว่าปกติ ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอกบ่อยๆ รู้สึกเหนื่อยง่าย เดินขึ้นบันไดก็เหนื่อย นั่งเฉยๆ ก็เหนื่อย นอนไม่หลับ ลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ และบางคนเล่าว่ามีปัญหาเรื่องการตอบสนองทางเพศหายไป ตรวจสุขภาพประจำปีกับบริษัทก็พบว่ามีไขมันสูง จึงมาขอคำปรึกษาว่าเขาจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่

เมื่อตรวจร่างกายก็ไม่พบสิ่งตรวจพบที่จะสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจใดๆ ความดันสูงบ้าง ให้นอนพักนิ่งๆ ก็ลดลงได้เอง ให้ออกกำลังกายแค่ 1 นาที ก็เกิดการเพิ่มของความดันและชีพจรขึ้นไปอย่างรวดเร็ว หายใจเหนื่อย ต่อมาเมื่อตรวจความตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยการใช้นิ้วกดลงที่โคนนิ้วหัวแม่มือ และที่ด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้า ก็พบว่ามีอาการปวดอย่างรุนแรงจนต้องชักมือหนี กล้ามเนื้อหน้าอก Pectoris Major ตึง กดเจ็บ กางแขนแทบไม่ออก และจุดที่บอกว่าเจ็บตรงหัวใจ ก็พบว่าเป็นจุดเจ็บของกล้ามเนื้อหน้าอกที่เขม็งเป็นก้อนนั่นเอง

“หลังจากให้ยารักษาแบบอาการกล้ามเนื้อตึง อาการปวดก็ดีขึ้น แต่คนไข้ยังรู้สึกไม่สดชื่น ไม่มีแรง และง่วงนอนง่าย สมองช้าลง ผมจึงเริ่มค้นคว้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง และปรับเอาศาสตร์การทำ Stretching + Yoga + Chiropractor + Trigger point และศาสตร์ของการนวดไทย เอามาผสมผสานกันเป็นท่าบำบัด 9 ท่า 25 ขั้นตอน ที่สามารถใช้เวลาเพียง 45-60 นาที ก็จะทำการจัดสมดุลของกล้ามเนื้อและโครงสร้างที่ตึง บิดตัว โดยการนวดดัดจัดสรีระ”

นพ.พูลชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การนวดดัดจัดสรีระเป็นการนวดดัดที่ไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ Parasympathetic ให้ทำงาน ส่งกระแสประสาทมาสั่งให้กล้ามเนื้อที่ถูกกระตุ้นคลายตัวออก ลดความเครียด ความตึงตัว ความดัน จากระบบ Sympathetic อย่างได้ผล

การนวดดัดจัดสรีระสามารถยืดกล้ามเนื้อทุกมัด คลายข้อต่อ ลดภาวะปวดเมื่อยขา และ Office Syndrome ของคนทำงานได้ผลนานเป็นสัปดาห์

“ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาด้วยการนวดดัดจัดสรีระจะแปลกใจว่าทำไมกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบ่า ไหล่ คอ ถึงได้ตึงอย่างมากมายเช่นนั้น และเมื่อยืดกล้ามเนื้อมัดเหล่านี้ อาการปวดศีรษะก็หายไปทันที และหากมานวดเน้นจุดที่คอและขมับ อาการปวดหัว อาการง่วงซึม ก็จะหายไป เกิดภาวะตัวเบา โล่ง อยากนอน บางท่านเมื่อออกไปนั่งรอรับยาอาจจะเผลองีบหลับไปสัก 10 นาที พอตื่นขึ้นมาก็บอกว่า หลับได้อิ่มกว่าที่นอนมาทั้งคืนเสียอีก”

หลังจากมีการปรับปรุงท่านวดต่างๆ กับผู้ป่วยของคลินิก ที่มาติดตามผลต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 3 ปี นพ.พูลชัยจึงรวบรวมท่าและคำอธิบายทางสรีรวิทยาเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นการนวดดัดจัดสรีระไทย หรือ Thai Chiropractor โดยมุ่งหวังให้เป็นภูมิปัญญาการดูแลแบบไทยต่อโรคสมัยใหม่ของคนวัยทำงาน กับสมาคมการแพทย์ผสมผสานไทย โดยตั้งใจสร้างชื่อ Thai Chiropractor ให้เป็นอาชีพของคนไทยเท่านั้น

“เมื่อไรก็ตามที่ติดป้ายร้านว่า Thai Chiropractor จะต้องเป็นคนไทยเท่านั้นที่ทำงานบริการเชิงสร้างสรรค์เช่นนี้ ไม่ให้ซ้ำรอยกับ Thai Massage ที่เข้าไปแล้วพบว่าพนักงานนวดเป็นคนชาติอื่นที่ไม่ใช่คนไทย ไม่เข้าใจการดูแลแบบไทยอย่างแท้จริง และเอาไปทำงานเสริมด้านการบริการพิเศษ จนสุภาพบุรุษบางคนหรือสุภาพสตรีไม่กล้าเข้าไปที่ร้าน Thai Massage”

ปัจจุบัน นพ.พูลชัยเปิดคลินิกทางด่วนเพื่อชุมชนบริเวณแยกดินแดง เป็นคลินิกการแพทย์ผสมผสาน และจัดบริการนวดดัดจัดสรีระโดยทีมนวดที่พัฒนาต่อยอดจากผู้ที่จบการนวดแผนไทยมาโดยตรง

“นวดดัดจัดสรีระ” ช่วยการตอบสนองทางเพศดีขึ้น
 

เขาบอกอีกว่า การรักษา Office Syndrome โดยทั่วไปจะรู้สึกดีมากๆ ตั้งแต่ครั้งแรก และเมื่อนวดดัดต่อเนื่องกันประมาณสัก 4 ครั้ง จะมีอาการดีต่อเนื่องไปเป็น 1-2 เดือน โดยจะพบว่าอาการเครียด อาการล้าจากงาน การปวดศีรษะ การปวดประจำเดือน การตอบสนองทางเพศดีขึ้น ดังนั้นจึงพบว่าในปัจจุบันคู่สามีภรรยา หรือกลุ่มวัยต่างๆ มักจะมารักษากันมาก เพราะพบว่าประหยัด และได้ผลสบายตัวต่อเนื่องนาน ไม่ช้ำ ไม่ระบมหลังการรักษา ที่สำคัญใช้เวลาเพียง 45-60 นาที ไม่ต้องนวด 2-4 ชั่วโมงเช่นสมัยก่อน

อย่างไรก็ดี นอกจากการนวดดัดจัดสรีระจะดีต่อผู้มารับการรักษาแล้ว ผู้ให้การรักษาซึ่งหลายคนทำงานเป็นหมอนวดแผนไทยมานานหลายปีก็บอกว่าการเปลี่ยนมานวดแบบนี้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น ไม่ปวดนิ้วมือ ไม่ปวดแขน ปวดไหล่เหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้นวดรวดเดียว 8 คนก็ยังไหว สมัยก่อนนวดได้แค่ 3-4 คน ก็ต้องไปให้เพื่อนหมอนวดด้วยกันนวดคลายเส้นให้แล้ว จึงเห็นได้ว่าการนวดดัดจัดสรีระไทย เป็นนวัตกรรมการดูแลรักษาโรคโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ใช้เวลาไม่นาน เหมาะกับชีวิตที่เร่งรีบ

อีกทั้งค่ารักษายังไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อขึ้นทะเบียนมาตรฐานการแพทย์ผสมผสานเรียบร้อยแล้ว ก็จะไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป เพื่อป้องกันมิให้ต่างชาตินำเอาไปใช้ในทางเสื่อมเสียต่อคำว่า Thai และเป็นนวัตกรรมการบริการเพื่อประชาคมอาเซียน หรือ AEC ที่ไทยเราจะส่งออกแรงงานบริการชั้นสูงออกไปต่างประเทศ ให้สมกับที่ต่างชาติยกย่องศิลปะการดูแลของชนชาติไทย
 
กายภาพบำบัด ขจัดโรคชาวออฟฟิศ
 

กายภาพบำบัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค Office Syndrome โดย อ.ดร.คีรินท์ เมฆโหรา อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า คนทำงานที่นั่งอยู่ในสำนักงานเกือบทุกคนจะมีอาการ Office Syndrome แต่อยู่ในระยะแรกซึ่งยังไม่มีอาการคงค้าง พักก็หาย ทุกคนจึงยังทำงานหนัก และสะสมความเครียดโดยไม่รู้ตัว

“หลายคนไม่ได้คิดถึงความเครียด เมื่อเกิดอาการตึงๆ แน่นๆ ต้องลองสังเกตสภาวะอารมณ์ และแรงกดดันในการทำงาน เช่น แรงกดดันเมื่อต้องติดต่อประสานงานกับบริษัทสำคัญ หรือนั่งข้างๆ คนที่เราไม่ชอบ อาจทำให้เกิดความรู้สึกแน่น อึดอัด ซึ่งมีผลต่อกล้ามเนื้อของเราได้ด้วย”

อ.ดร.คีรินท์กล่าวถึงความเครียดและอารมณ์ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค Office Syndrome ได้ นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าเราสามารถสังเกตภาวะความเครียดได้จากลมหายใจ โดยขณะที่โกรธ คนจะหายใจอัดแน่นขึ้นข้างบน กล้ามเนื้อท้องจะเกร็ง และกล้ามเนื้อบ่าจะทำงานหนักขึ้น หากอยากรู้ว่ามีอาการ Office Syndrome เพราะการบาดเจ็บทางกาย หรือเพราะความเครียดต้องลองจัดโต๊ะที่บ้านให้เหมือนกับที่ทำงาน แล้วลองกลับไปเล่นเกมหรือทำอย่างอื่น เพื่อสังเกตว่ามีอาการเหมือนกันหรือเปล่า เพราะบางคนมีอาการหนักมากระหว่างทำงาน แต่พอได้ไปเที่ยวกลับไม่มีอาการ

“ผมมีคนไข้คนหนึ่งมีอาการปวดหัว ปวดบ่า ปวดคอ ตึงไปหมดเลย ถามว่าเป็นตอนไหน เขาบอกแค่เห็นโต๊ะทำงานก็เป็นแล้ว เพราะเขาเป็นช่างซ่อมกล้อง ดังนั้นเวลาที่เห็นโต๊ะ คือการเห็นงาน และเห็นสภาพของคนที่มาทวงงาน เนื่องจากงานทำไม่ทัน จึงเกิดความเครียด ในกรณีนี้ถ้าพ้นจากสภาพการทำงาน เช่น ไปเที่ยว แล้วไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ใครตามตัวไม่ได้ อาการจะหายหมดเลย เพราะเขาเป็น Office Syndrome ที่มีสาเหตุมาจากความตึงเครียด”

ขณะที่อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ เส้นประสาท เนื่องจากพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คนทำงานหลากหลาย แต่ต่อมาเกิดการวิวัฒนาการให้คนมีความถนัดเฉพาะด้าน ทำงานอย่างเดียว ส่งผลให้ใช้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดทำงานมากเกินไป

อ.ดร.คีรินท์อธิบายต่อว่า Office Syndrome มี 2 ลักษณะ คือ การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน และการบาดเจ็บแบบสะสม

การบาดเจ็บเฉียบพลัน คือการที่เนื้อเยื่อ เอ็น กล้ามเนื้อ มีการเกร็งตัว หรือถูกยืดในท่าเดิมนานๆ หรือเส้นประสาทถูกกด ทำให้เกิดการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน เช่น การก้มทำงานจนคอเคล็ด เป็นต้น การบาดเจ็บแบบนี้จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน แสดงออกมา นั่นคือการอักเสบ และเจ็บเวลาสัมผัส หรือขยับเขยื้อนบริเวณที่เป็น ซึ่งการรักษากลุ่มอาการนี้จะต้องลดการอักเสบ โดยการประคบเย็น พยายามหยุดการใช้งานของส่วนนั้น หรืออาจมีการใส่ซัปพอร์ตป้องกันการอักเสบซ้ำ

ส่วนการบาดเจ็บแบบสะสม เกิดจากการทำงานในท่าหนึ่งนานๆ หรือทำกิจกรรมใดซ้ำๆ กัน เช่น พิมพ์ดีดซ้ำๆ นั่งจ้องมองคอมพิวเตอร์ซ้ำๆ ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้กล้ามเนื้อทำงานคงค้างอยู่นาน หรือถูกยืดอยู่นาน แต่ไม่มีการบาดเจ็บแบบทันทีทันใด การบาดเจ็บแบบสะสมจะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะเริ่มมีอาการหลังจากทำงานสักพัก เช่น เช้าไม่มีอาการ แต่ช่วงใกล้เที่ยงถึงช่วงเย็นมีอาการมากขึ้น แต่กลับบ้านนอนพักก็หาย ไม่มีอาการคงค้างใดๆ ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการหลงเหลือ แม้กลับไปพักแล้ว โดยเฉพาะช่วงทำงานหนัก จะมีอาการตึงๆ เจ็บๆ เล็กน้อย ส่วนระยะที่ 3 จะมีอาการเหมือนระยะที่ 2 แต่รุนแรงกว่า

สำหรับการรักษาโรค Office Syndrome จะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น ระยะแรกอาจทำแค่เพียงออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนสถานที่หรือวิธีการทำงานให้เหมาะสม แต่ระยะที่ 2 นอกจากปรับเปลี่ยนการทำงาน อาจต้องรับการรักษาด้วย ส่วนระยะที่ 3 อาจจะต้องพักงานนั้นไปเลย เพราะแค่ทำเบาๆ ก็กระตุ้นอาการแล้ว

แต่ถ้าเป็นเรื่องของสภาวะอารมณ์ ต้องฝึกการปล่อยวางให้เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น และดูการหายใจ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกได้ดีที่สุด ถ้าหายใจแล้วอึดอัด แน่น แสดงว่ามีความเครียดเกิดขึ้นมา ซึ่งการฝึกชี่กงจะช่วยฝึกการหายใจได้

ขณะที่ศาสตร์กายภาพบำบัดถูกนำมาใช้รักษา Office Syndrome ในส่วนของการออกกำลังกาย การดูแลตนเอง การปรับเวิร์ก สเตชัน และการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วยในการรักษา เช่น คลื่นเสียง คลื่นความร้อน เป็นต้น แต่ไม่มีการใช้ยากิน

อ.ดร.คีรินท์ชี้ว่า จุดเด่นของการรักษาด้วยการกายภาพบำบัดคือ มีการตรวจประเมิน เป็นระบบที่ใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักกายภาพบำบัดมีเวลาอยู่กับคนไข้นานๆ ทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาของคนไข้ได้มากขึ้น

“นักกายภาพบำบัดสามารถวิเคราะห์เรื่องการเคลื่อนไหว และโครงสร้างต่างๆ ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อ ดังนั้นจะสามารถช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อทำงานหนัก กระดูกข้อต่อทำงานหนัก หรือเส้นประสาทถูกกดทับได้ง่าย เราใช้การวิเคราะห์ต่างๆ เหล่านี้มา เช่น คนคนหนึ่งเดินมาเราจะรู้แล้วว่ากล้ามเนื้อต่างๆ เป็นอย่างไร หรือยกแขนขึ้นมาก็รู้ว่ากล้ามเนื้ออะไรทำงานบ้าง เพราะเรารู้จักกล้ามเนื้อทุกตัวในร่างกาย การมองคนหนึ่งคนของนักกายภาพบำบัดจึงเหมือนมองเห็นกล้ามเนื้อทุกตัวอยู่ในร่างกาย”

นอกจากการทำกายภาพบำบัด ยังสามารถนำศาสตร์อื่นๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษา เช่น การรักษาอาการที่เกิดจากสภาวะอารมณ์อาจแก้ด้วยการดูเรื่องลมหายใจ เช่น ชี่กง เป็นต้น นอกจากนั้นอาจฝึกรำไทย ซึ่งมีการทำวิจัยเรื่องการรำไทยที่สามารถช่วยรักษา Office Syndrome ในเรื่องของระบบประสาท เนื่องจากทำให้เส้นประสาทมีการขยับเขยื้อนได้ดี
 
ท่าออกกำลังกายสำหรับพนักงานในสำนักงานโดยคณะกายภาพบำบัดฯ ม.มหิดล
เล่น “สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต” เกิดโรค Office Syndrome ได้
 

เขาบอกอีกว่า พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตตลอดเวลามีส่วนทำให้เป็นโรค Office Syndrome เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากจอที่เล็ก ทำให้คนต้องห่อไหล่ ห่อตัว ก้มหน้าเพื่อมองจอ บางคนถือด้วยมือเดียว และต้องใช้นิ้วจิ้มเยอะ ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาที่นิ้วและข้อมือ เช่น นิ้วล็อกได้

“การถือแท็บเล็ตซึ่งมีน้ำหนักมากเป็นเวลานานๆ ทำให้มีการทำงานที่คงค้างนาน กล้ามเนื้อจะเกร็งตัว และส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด และระบบประสาท ทำให้เกิดการบาดเจ็บของระบบหลอดเลือดและระบบประสาทได้ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่าอยู่กับสิ่งนั้นนานๆ เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์ก็ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ้าง หรือดื่มน้ำบ่อยๆ หรือมองออกไปไกลๆ บ้าง เพื่อผ่อนคลายสายตาที่โฟกัสใกล้ๆ ตลอดเวลา สำหรับคนที่พิมพ์ดีดไม่เป็นจะต้องฝึกพิมพ์ดีดสัมผัส เพื่อลดการทำงานของคอที่ก้มๆ เงยๆ ตลอดเวลา ทำให้ร่างกายทำงานเยอะขึ้น นอกจากนั้นควรออกกำลังกายประเภทแอโรบิก ซึ่งบริหารได้ทั่วทั้งตัว เช่น ว่ายน้ำ ชี่กง การวิ่ง เป็นต้น”

อ.ดร.คีรินท์ทิ้งท้ายอย่างเป็นห่วงว่า ประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือ เด็ก ที่ใช้คอมพิวเตอร์และโต๊ะทำงานของผู้ใหญ่ ทำให้ต้องเงยมองจอ ซึ่งอาการอาจจะยังไม่ออกตอนเด็ก เพราะเนื้อเยื่อยังดีอยู่ แต่จากการที่เคยสอนเด็กตรวจร่างกาย พบว่าเด็กเริ่มมีปัญหาแล้ว เพียงแต่ยังไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น เช่น มีปัญหาที่คอ ข้อต่อ กล้ามเนื้อ แต่เขายังสามารถอยู่กับมันได้
 

ขูดกัวซา รักษาปวดเมื่อย
 

ด้าน แพทย์จีนเชน ปรีชาวณิชวงศ์ แพทย์ประจำคลินิกแพทย์จีน โรงพยาบาลหัวเฉียว เผยว่า เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน ทั้งจากการใช้คอมพิวเตอร์และการเล่นมือถือติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง จึงมีคนไข้ที่มารักษาโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งศาสตร์แพทย์จีนสามารถรักษาออฟฟิศซินโดรมได้หลายทาง เช่น การฝังเข็ม การนวดทุยหนา และการกัวซา เป็นต้น

การฝังเข็ม การนวดทุยหนา และการกัวซา ล้วนช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้นดีขึ้น ป้องกันการกดทับที่เส้นประสาทไม่ให้รุนแรงยิ่งขึ้น จึงสามารถใช้ทั้งป้องกันและรักษาโรคได้ โดยจุดเด่นของการฝังเข็มนั้นเป็นการปักเข็มเล่มบางพิเศษเข้าสู่ผิวหนังไปตรงจุดที่ปวด ส่งผลให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายลง จึงสามารถบรรเทาอาการปวดขัดได้อย่างรวดเร็ว แต่จะติดตรงที่ผู้ป่วยหลายท่านกลัวเข็ม

การนวดทุยหนา ซึ่งเป็นการนวดแบบแพทย์แผนจีน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม โดยนวดตามจุดลมปราณเป็นหลัก และอาจมีการจัดกระดูก รวมถึงการอบยาสมุนไพรจีน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด โดยปกติควรเข้ารับการรักษาอย่างน้อย 2 ครั้งต่ออาทิตย์จึงจะเห็นผล

ส่วนการกัวซา คือการนำเขาสัตว์หรือแผ่นหินต่างๆ มาขูดผิวหนังบริเวณที่ปวด โดยหลักการของกัวซา คือการขูดบนผิวหนังให้เกิดรอยแดง เป็นการกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดฝอย ช่วยให้มีการไหลเวียนเลือดดีขึ้น ส่งผลให้อาการปวดลดลง ซึ่งการทำกัวซานั้นไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ผู้ป่วยจึงสามารถทำเองที่บ้านได้
ขูดตาม 3 เส้นนี้ จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อยต้นคอและหัวไหล่
 
การรักษาด้วยกัวซาสามารถทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อแผ่นกัวซาได้ง่าย มีขายทั่วไป หรือหากหาซื้อไม่ได้ ก็สามารถใช้ช้อนกระเบื้องที่มีอยู่ประจำบ้านแทนได้ โดยการใช้ตำแหน่งสันช้อนขูดตรงบริเวณที่ปวด เช่น ขูดตามเส้น 3 เส้นในรูปประกอบจะช่วยแก้อาการปวดเมื่อยต้นคอและหัวไหล่

ทั้งนี้ ก่อนการขูดควรใช้ครีมทาผิวหรือเบบี้ออยล์ทาตามผิวหนังบริเวณนั้นเพื่อหล่อลื่นก่อน จากนั้นจึงเริ่มขูด โดยให้ขูดจากบนลงล่างเท่านั้น จนเกิดเป็นรอยแดงขึ้น แรงที่ใช้อย่าให้เจ็บ แต่ก็อย่าเบาจนไม่รู้สึก ขูดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ไม่เร็วไม่ช้า ไม่ควรขูดบริเวณที่ผิวถลอก หลังจากกัวซา รูขุมขนจะเปิด จึงควรหลีกเลี่ยงความเย็นจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม ประมาณ 15-20 นาที เพื่อป้องกันการเป็นหวัด

“สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาคือการป้องกัน โดยหลายท่านคงทราบถึงวิธีป้องกันอยู่แล้ว เช่น หมั่นกายบริหารระหว่างทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อยู่เป็นระยะๆ หรือการปรับเก้าอี้ ปรับท่านั่งให้ถูกวิธี ในทางแพทย์จีนยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรระวัง นั่นคือ ความเย็นไม่ว่าจะจากเครื่องปรับอากาศ หรือแม้กระทั่งพัดลมที่เป่าเข้าหาตัวตลอดเวลา ทำให้พิษเย็นเข้าสู่ร่างกาย เส้นเลือดเกิดการหดตัว การไหลเวียนเลือดไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการปวดต่างๆ ได้ เช่น ปวดหัว ปวดไหล่ เป็นต้น” แพทย์จีนเชนกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น