xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯแฉ “สพฐ.” ตัวร้ายวงการศึกษา! แย่งชิงเงินอุดหนุนการเรียนเด็ก-หวั่นจบ “ป.ตรี” ตกงานล้นประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
จุฬาฯ แฉเบื้องหลัง สพฐ.ออกนโยบายรับเด็กปีการศึกษา 2556 ใหม่ เอื้อให้เด็ก ม.ต้น ได้เรียนต่อ ม.ปลายในโรงเรียนเดิมมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เด็กไปเรียนต่อสายอาชีพ แท้จริงแล้วเป็นยุทธศาสตร์ในการแย่งชิงเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐจำนวนมหาศาล เชื่อนโยบายนี้ผิดพลาดส่อแววบัณฑิตปริญญาตรีตกงานถ้วนหน้า จี้รัฐออกกฎหมายกำหนดสัดส่วนเด็กนักเรียนชัดเจน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ด้านการศึกษา ระบุรัฐผลิตกำลังคนผิดสาขา ส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ แนะนำอาชีวะหลักสูตรฐานวิทยาศาสตร์ 5 แห่ง ปั้นเด็กเก่งทักษะช่าง

ที่ผ่านมาการเพิ่มจำนวนนักเรียนสายอาชีพก็ดูจะเป็นเรื่องยากลำบากชนิดหืดขึ้นคออยู่แล้วสำหรับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งต้องเร่งผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับนโยบายชาติ ที่มุ่งสนองตลาดแรงงานสายช่างที่กำลังขาดแคลนในปัจจุบัน ทว่า สอศ.ก็ยังจำเป็นต้องยิ้มสู้ และตั้งเป้าเพิ่มยอดนักเรียนสายอาชีพสูงขึ้นทุกปี แม้ว่าความเป็นไปได้จะมีอยู่น้อยก็ตาม

แต่ปีการศึกษานี้ดูท่า สอศ.จะเผชิญภาวะหาเด็กมาเรียนสายอาชีพยากลำบากกว่าเก่า ด้วยนโยบายประกันค่าจ้างที่ 15,000 บาท สำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (เฉพาะที่รัฐจัดจ้าง) และประกันรายได้แรงงานขั้นต่ำที่ 300 บาท/วัน ส่งผลให้เด็กหนีไปเรียนสายสามัญมากขึ้น หรือไม่ก็เลิกเรียนต่อหลังจบ ม.3 เพื่อออกไปทำงานรับรายได้ขั้นต่ำ 300 บาท/วัน

กอปรกับการปรับเกณฑ์รับเด็กสายสามัญของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในปีการศึกษา 2556 ที่เปิดช่องให้เด็ก ม.3 เรียนต่อ ม.4 โรงเรียนเดิมได้ง่ายและมากขึ้น โดยกำหนดเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) เพียงแค่ 2.00 ขึ้นไปจะได้เรียนต่อชั้น ม.4 อัตโนมัติ และหากมีคะแนน GPAX ต่ำกว่า 2.00 แต่สูงกว่า 1.50 ขึ้นไป ยังได้รับโอกาสให้เข้าทดสอบประมวลความรู้ระดับชั้น ม.ต้น ของโรงเรียน นอกจากนั้นเด็กกิจกรรมที่มีความสามารถเฉพาะทางที่มีคะแนน GPAX สูงกว่า 1.50 ก็ยังได้เลื่อนชั้นอัตโนมัติอีกด้วย

ขณะที่เกณฑ์เดิมที่ให้รับนักเรียนเข้าเรียนโรงเรียนเดิมได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของแผนการรับนักเรียน และยังกำหนดเงื่อนไข GPAX ที่สูงสำหรับสายวิทย์-คณิต หรือสายศิลป์คณิต-อังกฤษ อีกทั้งต้องมี GPA (เกรดเฉลี่ยแต่ละวิชา) ในแต่ละวิชาหลักได้ตามเงื่อนไข เช่นจะเรียนสายวิทย์ ต้องได้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ที่ 3.00 ขึ้นไป ส่วนคนที่ได้ 2.00 มีโอกาสเรียนแค่ห้องทั่วไปที่มีเพียง 1 ห้อง และมักจะถูกเด็กที่ได้เกิน 2.00 ได้สิทธิเรียนก่อนอยู่แล้ว

ดังนั้นเด็กที่ได้ 2.00 หรือต่ำกว่าจำนวนมาก ก็ต้องไปหาโรงเรียนอื่นแทนแม้จะอยากเรียนที่เดิมก็ไม่สามารถเรียนได้ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว

“แต่ละปีเด็กที่เรียน ม.ต้นเฉลี่ยที่โรงเรียนต่างๆ รับประมาณ 500-700 คน แต่คนที่มีสิทธิต่อ ม.ปลายได้จะเหลือเพียง 200-300 คนเท่านั้น บางโรงเรียนเด็กที่ได้ 2.75 ยังไม่มีสิทธิเรียนต่อ เพราะที่นั่นมีเด็กที่ได้สูงกว่า 2.75 ถูกจัดสรรไว้เต็มจำนวนตามแผนการเรียนต่างๆ ไว้แล้ว”

แต่ในปีนี้ สพฐ.เปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ จึงเตรียมแผนแก้ปัญหาห้องเรียน ม.ปลายไม่พอด้วยการอนุญาตให้เพิ่มสัดส่วนห้องเรียนชั้น ม.ปลายมากขึ้นไปอีก

เมื่อเจอนโยบายของ สพฐ เข้าไป เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ถึงกับต้องนอนก่ายหน้าผาก ทั้งโอดทั้งครวญออกสื่อ เพราะอาชีวศึกษาได้รับผลกระทบเต็มๆ จากเกณฑ์ใหม่ของ สพฐ. หากไม่มีการวางแผนรับนักเรียนร่วมกัน เป้าหมายสัดส่วนการรับนักเรียนสายอาชีพกับสายสามัญที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจาก 40:60 ให้เป็น 70:30 ภายในปี 2561 คงเป็นเพียงแค่ฝันลมๆ แล้งๆ แน่นอน

เหตุใดที่ผ่านมา หน่วยงานที่สำคัญในการผลิตกำลังคนระดับกลางของกระทรวงศึกษาธิการจึงไม่เคยวางแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้เป้าหมายและผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศของรัฐ

ขณะเดียวกันสถาบันอาชีวศึกษาในประเทศไทยก็มีคนสนใจเรียนน้อยลงไปทุกที ทั้งปัญหาค่านิยมใบปริญญา และเรื่องเด็กช่างตีกัน ต่างรุมเร้าจนผู้ปกครองไม่ค่อยอยากส่งเด็กไปเรียนต่อสายอาชีพนัก และดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจความถนัดที่แท้จริงของเด็กอีกต่อไป

จึงอาจถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการต้องสางปมปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนผลิตเด็กออกสู่ตลาดแรงงานแบบผิดๆ จนมีแต่บัณฑิตตกงานท่วมท้นประเทศ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“สายสามัญ-สายอาชีพ” รุมทึ้งแย่งงบอุดหนุนรายหัวเด็ก
 

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปรับเกณฑ์การรับนักเรียนสายสามัญในปีการศึกษา 2556 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงเรียนสายอาชีพว่า นโยบายการสร้างกำลังคนระดับกลางเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุด และรัฐบาลพยายามทำให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์การสร้างกำลังคนของประเทศ แต่กลไกระบบราชการของหน่วยงาน สอศ.กับ สพฐ.ไม่ไปด้วยกัน ปัญหานี้จึงสะสมมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี

“ไม่ว่าจะนโยบาย 30:70, 60:40, 50:50 หรือ 54:45 ก็ยังถือว่าลูกผีลูกคน ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะกลไกราชการไม่ยอมคุยกัน เขาบริหารแท่งใครแท่งมัน โดยไม่สนใจอนาคตของประเทศ ว่าเด็กจะมีงานทำหรือไม่ ส่วนนโยบายที่ลงมากำกับดูแลก็ไม่มีความยั่งยืน บังคับให้ทำตามนโยบายของแต่ละรัฐบาล จึงขาดความต่อเนื่องทางการเมือง ดังนั้นข้าราชการก็มักจะดื้อตาใส ไม่ยอมปฏิบัติตาม” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กไม่เรียนสายอาชีพมีอยู่ 3-4 สาเหตุ เช่น ภาพลักษณ์เด็กอาชีวะตีกัน จนคนมองอาชีวะเป็น 3D คือ Dirty-Dangerous-Dark หรือค่านิยมที่ไม่อยากให้ลูกเรียนออกมาเป็นแรงงาน เป็นต้น

ขณะที่ประเด็นสำคัญที่สุดแต่มีการพูดถึงกันน้อย คือเรื่องการแย่งจำนวนเด็กกับค่าใช้จ่ายรายหัวเด็กที่จะได้รับจากรัฐ ซึ่งถูกปกปิดมานาน และเป็นสาเหตุหลักของการไม่ยอมปล่อยเด็กไปเรียนต่อสายอาชีพ

จำนวนเด็กที่ลดลงจะเชื่อมโยงกับเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัว และเรื่องตำแหน่ง และวิทยฐานะของผู้บริหารกับครู เพราะฉะนั้นสารพัดวิชามารที่จะกั๊กเด็กไว้จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา อาทิ กั๊กใบ รบ. เป็นต้น
สำหรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกิดจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 10 กำหนดว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และในมาตรา 60 กำหนดให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษา (1) จัดสรรเงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จัดโดยรัฐและเอกชนให้เท่าเทียมกัน

ปัจจุบันมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ อยู่ที่ 3,800 บาท/คน/ปี ขณะที่สายอาชีวศึกษา ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวโดยแบ่งเป็นสาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาช่างอุตสาหกรรม 6,500 บาท/คน/ปี, สาขาพาณิชยกรรม 4,900 บาท/คน/ปี, คหกรรม 5,500 บาท/คน/ปี ศิลปกรรม 6,200 บาท/คน/ปี เกษตรกรรมทั่วไป5,900 บาท/คน/ปี และเกษตรกรรมปฏิรูป 11,900 บาท/คน/ปี

โดยอาชีวศึกษาจะได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนมากกว่าสายสามัญ เนื่องจากการเรียนการสอนต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือมากกว่า โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เรียนสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 480,000 คน สอศ.ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวและเงินเรียนฟรี 15 ปี จำนวนกว่า 4,863 ล้านบาท แบ่งเป็นงบเงินอุดหนุนรายหัว 2,828 ล้านบาท ค่าหนังสือเรียน 940 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 216 ล้านบาท ค่าเครื่องแบบ432 ล้านบาท และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 446 ล้านบาท

ดังนั้น หากจำนวนผู้เรียนสายสามัญเพิ่มมากขึ้น เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนอาชีวศึกษาก้อนโต จะยักย้ายถ่ายเทลงมาที่ฟากสายสามัญของ สพฐ. ตามสัดส่วนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นมาทันที !
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 
จี้ออกกฎหมายแบ่งสัดส่วน สกัดปัญหาบัณฑิต ‘เตะฝุ่น-ไร้งาน’
 

ผลที่จะเกิดตามมาจากนโยบายการปรับเกณฑ์รับนักเรียนใหม่ของ สพฐ.จะสะท้อนเมื่อเด็กเรียนจบปริญญาตรี แต่จำนวนคนไม่มีงานทำจะเพิ่มสูงขึ้น

“หน่วยงานระดับสูงเขาไม่สนใจว่าเด็กจะเรียนตรงไหน เด็กมีที่เรียน แต่ในอนาคตเรียนจบออกไปจะมีงานทำหรือไม่ ถ้าไม่มีงานทำ จะทำอย่างไร ไม่มีใครสนใจ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของเขา การลดเกณฑ์รับนักเรียนก็เป็นแค่การดึงเด็กกัน ไม่ให้เด็กไป ซึ่งส่งผลให้อาชีวศึกษาต้องทำงานหนัก 2-3 เท่า แต่ก็ทำไม่รอดหรอก ดังนั้น กฎเกณฑ์อันนี้ต้องยกเลิก คุณจะเอากฎเกณฑ์มาเหนือกว่าความสำคัญของเด็กได้อย่างไร นโยบายที่คำนึงถึงความสำคัญของเด็กต้องมาก่อน เพราะนโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อเรื่องการมีงานทำ การมีรายได้ ไม่ใช่ได้เรียนต่อแบบไร้อนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องสามัญสำนึกของคนในวงการการศึกษา ต้องรู้จักแยกแยะว่าอะไรควรไม่ควร ไม่ใช่คิดถึงแต่ประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับเท่านั้น” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

นอกจากนั้น ประเทศไทยจะต้องออกกฎหมายกำหนดสัดส่วนนักเรียนเหมือนประเทศสิงคโปร์ที่กำหนดชัดเจนเลยว่า ต้องมีเด็กสายสามัญ 30% เด็กสายอาชีวะ 70% ขณะที่ประเทศไทยมีแต่ตัวนโยบาย แต่ไม่มีการบังคับ และไม่มีใครรับผิดชอบหากทำไม่ได้ตามเป้า

รศ.ดร.สมพงษ์ย้ำว่า “ข้างบนต้องฟันธงและทุบโต๊ะว่า ถ้าทำไม่ได้ตามเป้า หน่วยงานระดับสูงต้องรับผิดชอบด้วย ต้องกล้าตัดสินใจเปลี่ยนคนดูแล ไม่ใช่ไปเกรงใจข้าราชการเกินไป ทั่วโลกเขาให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษา ทวิภาคี และเรื่องแรงงานระดับกลางกันทั้งโลก แต่เรายังมะงุมมะงาหรากับค่านิยมเรียนปริญญาตรีกัน ดังนั้นก็ต้องเตรียมตัวตกงาน โจทย์ง่ายๆ แค่นี้ ฝ่ายการศึกษาบ้านเรากลับตีไม่ออก”

ส่วนค่านิยมเรื่องการเรียนอาชีวะและการเรียนปริญญาตรี ต้องแก้ให้ได้ 3 เรื่อง คือ 1. เปลี่ยนวิธีคิดผู้ปกครองว่า ถ้าเรียนอาชีวะ เด็กก็มีโอกาสมีงานทำ มีรายได้ 2. จัดการเรื่องเด็กอาชีวะตีกันซึ่งมีอยู่เพียง 1-3% ของนักเรียนอาชีวะทั้งหมดเท่านั้น รัฐต้องจัดการ1-3% นี้ให้เสร็จ 3. ต้องบังคับเชิงนโยบายว่า ถ้าหน่วยงานระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการไม่ทำตามนโยบายที่กำหนดให้ ก็ต้องรับผิดชอบ ต้องโยกย้ายกันไป

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาประเภทอาชีวศึกษานั้น รศ.ดร.สมพงษ์บอกว่า แต่เดิมเกิดขึ้นเพื่อรองรับเด็กที่มีความถนัดและความชอบในสายอาชีพมากกว่า แต่ระยะหลังเด็กอาชีวศึกษาถูกมองเป็นเด็กเฟส 2 เด็กไม่มีทางไป จึงต้องมาเรียนอาชีวะ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ตามก้นสังคมอเมริกัน ทั้งที่จริงแล้วเด็กอาชีวะสมัยก่อนที่มาเรียนสถาบันไทยเทคนิค, เทคนิคไทยเยอรมัน มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาก แต่ระยะหลังถูกเบี่ยงเบนหมด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 
วางนโยบายอาชีวศึกษาผิดทิศ ไทยผลิตกำลังคนผิดทาง
 

ด้าน นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ด้านนโยบายการศึกษาของเด็กและเยาวชน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ สอศ.ตั้งเป้าเพิ่มเด็กเรียนสายอาชีพเป็น 60% และสายสามัญ 40% แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ยังมีเด็กสมัครเรียนสายอาชีวะไม่ถึง 50% จึงถือว่ายังห่างเป้าค่อนข้างมาก

“หากคิดจากเงื่อนไขการพัฒนาประเทศ เราก็ควรมีเด็กสายอาชีพมากกว่า เพราะสายอาชีพจะเข้าไปสู่ภาคการผลิต หรือตอบโจทย์เรื่องความต้องการด้านกำลังคนมากกว่า”

โดยแนวคิดเรื่องอาชีวศึกษาของหลายรัฐบาลที่ผ่านมายังเป็นปัญหาอยู่ ถึงแม้ว่าอยากจะเพิ่มการผลิตคนสายอาชีวะ แต่ที่ผ่านมาก็มุ่งที่จะผลิตแรงงาน หรือแรงงานมีฝีมือออกไปเป็นลูกจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมรับจ้างผลิต เช่น ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องการให้รัฐบาลใช้งบประมาณในการผลิตแรงงานป้อนอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งกระบวนทัศน์เหล่านี้อาจทำให้ประเทศพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาผิดทาง

นายสิริวัฒน์บอกว่า ประเทศไทยอาจจะต้องปรับทิศทางการพัฒนาประเทศเสียใหม่ โดยไม่มุ่งเรื่องของอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดผลกระทบมาก ทั้งปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และปัญหาด้านการใช้พลังงาน เพราะต้องจ้างโรงไฟฟ้าป้อนเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก
 
ขณะเดียวกันในเชิงของประโยชน์ คนไทยกลับได้ประโยชน์น้อย เพราะไทยไม่สามารถส่งวัตถุดิบ หรือเป็นเจ้าของ Know-how อะไรได้เลย เพราะเขาไม่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาประเทศดังกล่าวจึงควรต้องถูกทบทวน

โดยแนวทางที่เหมาะสมและควรส่งเสริมมากกว่าน่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว, ภาคบริการ, การต่อยอดภาคเกษตรเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ, การสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การผลิตกำลังคนสายอาชีวศึกษาก็ต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในเส้นทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง และสร้างเด็กให้ออกมาเป็นผู้ประกอบการ แทนที่จะป้อนเป็นลูกจ้าง ซึ่งผู้ปกครองก็ไม่อยากให้ลูกเรียน

“หลักสูตรต้องถูกปรับให้เด็กออกไปเป็นผู้ประกอบการได้ โดยเด็กต้องมีทักษะในการจัดการ ต้องมีการเรียนเพื่อพัฒนาให้คิดเป็นทำเป็น มีทักษะในการคิด การสื่อสาร การตัดสินใจ หรือมีภาวะผู้นำ ซึ่งเด็กที่มาเรียนอาชีวะก็จะเหมาะกับทางนี้อยู่แล้ว บางคนไม่อยากเรียนสามัญ เพราะเขามีภาวะผู้นำ เก่งคน เก่งคิด แต่เขาไม่อยากอยู่ในกรอบ ไม่อยากท่องจำแบบสายสามัญ จึงมาเรียนอาชีวศึกษา”

นอกจากนั้น สอศ.จะต้องแก้ปัญหาภาพลักษณ์เด็กตีกันให้ได้ เพราะที่จริงอาชีวศึกษาของรัฐบาลมีทั้งหมด 416 สถาบัน แต่เด็กอาชีวะที่ก่อปัญหาตีกันมีเพียงไม่กี่แห่ง ประมาณ 40-50 สถาบันเท่านั้น แต่ภาพลักษณ์เสียทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่อยากส่งลูกมาเรียน ดังนั้น สอศ.จะต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยแนวทางที่เหมาะสม ไม่ใช่การใช้อำนาจ การบังคับปราบปราม โดยอาจจะให้เด็กได้ทำกิจกรรมพัฒนาตนเอง ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในโรงเรียนอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีน้อยมาก ทั้งมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 
อาชีวะฐานวิทยาศาสตร์ เด็กสนใจมาก แต่รับสมัครน้อย
 

อย่างไรก็ดี อาชีวศึกษายังมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่มีเด็กนักเรียนสนใจเข้าเรียนต่อจำนวนมาก ทว่า ยังคงมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนนักเรียนที่สมัครเรียนต่อ อาทิ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการประดิษฐ์คิดค้น เพื่อปั้นกำลังคนเก่งด้านช่างอุตสาหกรรมออกสู่ตลาดแรงงานระดับสูง

นายจิระ เฉลิมศักดิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) กล่าวว่า หลักสูตรอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ต่างจากอาชีวศึกษาทั่วไป ตรงที่มุ่งสร้างเด็กเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น โดยการเรียนการสอนของ ร.ร.ฐานวิทยาศาสตร์จะยึดหลักใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Base Learning) เด็กทุกคนต้องทำโครงงาน และเรียนรู้จากโครงงานเหล่านี้ ซึ่งการทำโครงงานเหล่านี้ต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เพียงพอ ผสมกับทักษะทางช่าง

“วิทยาลัยเปิดหลักสูตรอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ สาขาช่างอุตสาหกรรม มาเป็นปีที่ 6 โดยได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ในปี 2551 ซึ่งแต่ละปีมีเป้าหมายรับเด็กเก่ง เด็กมีความสามารถพิเศษ เพียงปีละ 30 คนเท่านั้น โดยคัดเลือกด้วยการสอบข้อเขียน, สอบสัมภาษณ์ และให้นักเรียนแสดงความสามารถพิเศษทางการประดิษฐ์คิดค้น และในเบื้องต้นจะดูระดับคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งต้องได้ไม่ต่ำกว่า 2.75 และต้องมีผลงาน เคยทำโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือสนใจการทำโครงงาน ทำสิ่งประดิษฐ์ เพราะต้องการคัดเลือกเด็กที่มีเป้าหมายชัดเจนจริงๆ ซึ่งเด็กที่มาเรียนจะเป็นเด็กเก่ง และไม่หยุดเรียนแค่ระดับ ปวช. ส่วนใหญ่เด็กที่เรียนจบจากที่นี่จะไปเรียนต่อสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยที่ทำความร่วมมือกับทางอาชีวศึกษา"

โดยที่ผ่านมา มีเด็กสนใจสมัครเรียนจำนวนมากทุกรุ่น แต่ไม่สามารถรับได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เปิดหลักสูตรเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ทั้งหมด 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) สาขาช่างอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์ 2. เทคนิคสุรนารี นครราชสีมา สาขาช่างอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์ 3. เทคนิคพังงา สาขาการท่องเที่ยวและบริหารธุรกิจฐานวิทยาศาสตร์ 4. เทคนิคสิงห์บุรี สาขาคหกรรมฐานวิทยาศาสตร์ 5. วิทยาลัยเกษตรกรรมลำพูน สาขาการเกษตรฐานวิทยาศาสตร์ โดยต่อไป สอศ.มีนโยบายที่จะขยายหลักสูตรฐานวิทยาศาสตร์ไปทั่วประเทศตามสถาบันที่จัดตั้งขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น