อดีตผู้บริหารก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ยืนยันรันเวย์สุวรรณภูมิจะมีการยุบตัว เกิดเป็นหลุมได้ตลอดเวลา เชื่อวิธีการใช้ไปซ่อมไปดีที่สุด บอกทุกฝ่ายต้องยอมรับให้ได้ เหตุวิกฤตอากาศร้อนและแรงกดทับจากล้อเครื่องบินตัวปัญหาใหญ่ ทำให้พื้นยางมะตอยเสียหาย แนะสร้างรันเวย์ที่ 3 จะช่วยได้
อดีตผู้บริหารการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวถึงกรณีพื้นรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ ฝั่งตะวันตกยุบตัวเป็นหลุมกว้าง 60 เซนติเมตร ลึก 5 เซนติเมตร ว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่รันเวย์ตะวันตกต้องแบกรับน้ำหนักการขึ้น-ลงของเครื่องบินในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการปิดซ่อมรันเวย์ตะวันออก ซึ่งจะใช้เวลาอีก 1 เดือนจากนี้ไปจึงจะแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดีบริเวณที่เกิดการยุบตัวเป็นหลุมนั้น เกิดบริเวณที่เครื่องบินจะขึ้นสู่อากาศ (Take Off) จะต้องมีการเร่งสปีดเต็มที่ ทำให้ล้อกดทับจากการแบกน้ำหนักของเครื่องบิน อีกทั้งพื้นผิวรันเวย์เป็นพื้นผิวยางมะตอยจึงทำให้ยุบตัวได้ง่ายกว่าการที่รันเวย์เป็นพื้นผิวคอนกรีต
“ถ้าเราก่อสร้างเป็นคอนกรีตซึ่งแม้จะมีอายุใช้งานนานถึง 20 ปี ยางมะตอยเพียง 7 ปี แต่คอนกรีตจะอันตรายกว่าตรงที่จะมีร่องในการเชื่อมต่อทุก 10 เมตร และเมื่อมีการทรุดตัวจากแรงกดทับจะเกิดเป็นมุมเหลี่ยมที่ทำให้ยางล้อเครื่องบินระเบิดได้”
ดังนั้นเมื่อรันเวย์เป็นยางมะตอย จึงต้องยอมรับความจริงว่าจะเกิดปัญหาการยุบตัว เป็นหลุมในจุดพื้นผิว Taxi Way และรันเวย์ที่เครื่อง Take Off ได้ตลอดเวลา ซึ่งทางฝ่ายก่อสร้างก็ต้องใช้วิธีการซ่อมไปใช้ไป
“จริง ๆ การยุบตัวเป็นหลุมของรันเวย์เจอปัญหาบ่อยมาก แต่ที่ไม่เป็นข่าวเพราะมี 2 รันเวย์ ขณะที่ปัจจุบันเหลือเพียงรันเวย์ตะวันตกเท่านั้นที่เปิดใช้”
แหล่งข่าวอธิบายอีกว่า เดิม 80% ของเที่ยวบินในการบินขึ้นจะใช้รันเวย์ตะวันออก และบินลงจะใช้รันเวย์ตะวันตก ส่วนที่เหลือ 20% จะมีการผันแปรเป็นบางช่วง ทำให้รันเวย์ตะวันออกมีปัญหาการยุบตัวมากจึงต้องปิดซ่อมประมาณ 1,000 เมตรเป็นเวลา 2 เดือน และให้ไปใช้รันเวย์ตะวันตกทั้งขึ้นและลงของเครื่องบินทดแทน
“รันเวย์ตะวันออก ช่วงนี้ขึ้นได้เฉพาะเครื่อง 737 เท่านั้น ส่วนเครื่องใหญ่ต้องใช้รันเวย์ตะวันตกทั้งหมด และแต่ละวันเรามีเครื่องบินขึ้นลง 7-800 เที่ยวต่อวันจึงแบกน้ำหนักไว้มาก”
นอกจากนี้ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อพื้นยางมะตอยอย่างมาก เพราะทำให้พื้นผิวกรอบและล่อนง่าย จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝ่ายช่างของสนามบินเกิดความกังวลเพราะจะทำให้พื้นผิวล่อนและยุบตัวง่ายขึ้น
ส่วนทางออกนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ใช้สนามบินได้รับทราบถึงเหตุที่เกิดขึ้น และควรเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นว่าปัญหาการยุบตัวนั้นจะไม่มีผลกระทบต่อเครื่องบินและผู้โดยสารแน่นอน
“ในยุคที่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานบอร์ด ทอท. เคยเปิดให้มีการขุดเจาะพิสูจน์เป็นพันจุดเพื่อตรวจสอบว่ามีการทุจริตนำทรายขี้เป็ดมาใช้ในการก่อสร้างสนามบิน และเป็นต้นเหตุให้สนามบินยุบตัวหรือไม่ ซึ่งผลการขุดเจาะก็ไม่พบและเรื่องนี้ก็ยุติปัญหาไปได้”
รวมไปถึงจะต้องเร่งก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 เข้ามารองรับการบริการของเที่ยวบินทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะต้องยอมรับความจริงว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องเปิดใช้ 2 รันเวย์จึงจะไม่มีผลกระทบหากมีการปิดซ่อม 1 รันเวย์
“รันเวย์ที่ 3 เราได้มีการปรับปรุงคุณภาพดินไว้พร้อมแล้ว งบประมาณที่ต้องใช้ 3 พันกว่าล้านในการก่อสร้างก็พร้อมแล้ว แต่ปัญหาที่เราต้องรีบเคลียร์ก็คือผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน ถ้าทุกอย่างเดินหน้าได้ก็จบ”