xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ฟันธง ‘ยิ่งลักษณ์’ บริหารเศรษฐกิจผิดจุด มั่นใจเศรษฐกิจพอเพียงของ ‘ในหลวง’ แก้ได้ !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     เศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ชี้รัฐบาลออกนโยบายบริหารประเทศโฟกัสผิดจุด มุ่งแค่ระยะสั้น แถมเพิ่มต้นทุนการผลิตแต่ไม่เพิ่มประสิทธิภาพคน ไม่หวั่นประเทศไทยเป็นแบบกรีซ ชี้ประเทศไทยมีภาคเกษตรรองรับ ท้ายที่สุด “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงเป็นที่พึ่ง

     ท่ามกลางวิกฤตทางการเงินในยุโรป กำลังเป็นมหากาพย์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเฝ้าติดตาม ทั้งหมดเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเงินเกินตัวของรัฐบาล ที่เกือบทุกประเทศในยุโรปเน้นไปที่การให้สวัสดิการกับประชาชน สำหรับประเทศไทยนโยบายประชานิยมได้รับการสานต่อมาหลายรัฐบาล
     นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ลดราคาน้ำมัน บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก ทำให้พรรคเพื่อไทยซื้อใจคนไทยส่วนใหญ่ได้ ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่กำลังรุมเร้ามากขึ้นโดยเฉพาะราคาสินค้าแพง
     “ASTV ผู้จัดการรายวัน” จึงได้ รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงนโยบายของรัฐบาลต่อสถานะเศรษฐกิจของประเทศไทย

ถาม - นโยบายของรัฐบาลกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ?

     ดร.ชโยดม - ผมเข้าใจว่าเป็นกลไกการควบคุมราคาสินค้า มันมีสินค้าบางตัวที่อั้นเอาไว้ไม่ให้ขึ้น การที่จะควบคุมราคาสินค้าดังกล่าวก็ผิดตามหลักกลไกของเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น ในที่สุดสินค้าเหล่านั้นก็จะเริ่มหายไปจากตลาด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภคบางประเภทที่ถูกกดราคาไว้
     ส่วนในเรื่องของนโยบายการเงินเข้าใจว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามผ่อนปรน ยืดหยุ่นที่สุด เพราะว่าแนวโน้มเงินเฟ้อที่น่าจะสูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยให้เปลี่ยนไปตาม ยืดหยุ่นเพื่ออำนวยให้แก่ภาครัฐที่จะเดินหน้าไปได้
     ขณะที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แม้จะไม่ได้ปรับทั่วประเทศพร้อมกัน แต่ตรงนี้คนที่ได้รับสัญญาณไปตีความราวกับว่าเพิ่มทั่วประเทศไปแล้ว สินค้าก็ขยับตาม แต่ผมว่าที่ขยับเยอะจะเป็นเรื่องต้นทุนการขนส่งมากกว่า เพราะการขนส่งบ้านเราไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ รวมกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น

ถาม - นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ?

     ดร.ชโยดม - 300 บาทไม่ได้กระทบทุกอุตสาหกรรม แต่กระทบทางอ้อม อาทิ อุตสาหกรรมอัญมณีที่ไม่เคยจ้างต่ำกว่า 300 บาท แต่ต่อให้จ้างเกิน 300 บาทอยู่แล้วก็ต้องปรับ เพราะเงินเฟ้อขึ้น อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือในโรงงานเดิมก็จะต้องปรับเป็นลูกโซ่ แต่จากการที่รัฐกล่าวว่า จะเพิ่มคุณภาพแรงงาน สินค้า แต่แท้จริงแล้วความสามารถไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ในทันทีทันใด เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา
     ถามว่าเป็นแรงกดดันที่ดีหรือไม่ อาจตอบว่าใช่ แต่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตดังกล่าว ก็ต้องได้รับการเกื้อหนุนจากภาครัฐ คงไม่ใช่ว่าบริษัท หรือโรงงาน พอถูกกดดัน 300 บาท ต้นทุนก็สูงอยู่แล้ว จะเอาที่ไหนไปฝึกอบรม เทรนให้กับแรงงาน
     ดร.สมประวิณ - ผมว่าเหตุและผลมันตรงกันข้าม โดยปกติแล้วแปร Productivity เพิ่ม ถึงจะเพิ่มค่าจ้าง ไม่ได้การันตีตรงนั้น อาจเป็นไปได้ว่าพอแรงงานเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง การใช้แรงงานจะลดลง เราก็จะไปเน้นการใช้เครื่องจักร ถ้าเอาตัวเลขมาดูก็จะเพิ่มขึ้น เพราะเราใช้แรงงานน้อยลง จะเป็นผลดีไหมก็ไม่แน่ใจ
     ดร.ชโยดม - ปัญหาอีกเรื่องของแรงงานคือ ข้างบ้านเราเริ่มโต เขมร ลาว เริ่มจะใกล้เป็นแหล่งดึงดูดทุน โดยเฉพาะพม่า ตอนนี้พม่าเป็นจุดขายของอาเซียน แต่ 2 ปีที่แล้ว เป็นจุดอ่อนของอาเซียน พม่าจากที่เคยเป็นจุดอ่อน แต่ตอนนี้กลับเป็นตัวนำ เนื่องจากมีทรัพยากรจำนวนมาก และมีทางออกไปทางจีนตอนใต้
     ดร.สมประวิณ - จริงๆ บ้านเรามีอัตราการว่างงานต่ำมากเกือบที่สุดในโลก อยู่ที่ประมาณ 0.5-0.7% เราไม่ได้ขาดแคลนแรงงานฝีมือ แต่ขาดแรงงานไม่มีฝีมือ กลไกการปรับตัวของค่าจ้างค่อยๆ เพิ่มอยู่แล้ว เราจะหวังว่าขึ้น 300 บาทแล้วแรงงานจะมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันต้องถามว่าเมื่อขึ้นแล้ว จะทำยังไงให้แรงงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าจะโยงสู่พม่า ที่แรงงานเรากำลังจะขาดไปอีก
     ดร.ชโยดม - ตอนนี้ภาครัฐกำลังจะลดภาษี จาก 30 เป็น 23 และบอกว่า จะเป็นการช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนาทักษะแรงงาน ให้เกิดการลงทุนเพิ่ม เข้ามาชดเชยเรื่อง 300 บาท
ดร.สมประวิณ - คนที่ได้มักจะเป็นผู้ที่อยู่ในตลาดหุ้น ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เสียอยู่แล้ว ได้ภาษีมากกว่า และไม่ได้จ่ายค่าแรงขั้นต่ำด้วย

ถาม - นโยบายของรัฐบาลเป็นปัจจัยบวกสำหรับประเทศหรือไม่ ?

     ดร.สมประวิณ - รัฐบาลไปโฟกัสผิดจุดมากกกว่า จะทำงานครบปีอยู่แล้ว แต่เน้นเฉพาะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมากเกินไป เพราะเศรษฐกิจฟื้นจากวิกฤตอยู่แล้ว จริงๆ ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนในระยะยาว การลงทุนในประเทศยังน้อย logistic เรายังแย่ ควรทำมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะมันฟื้นอยู่แล้ว แต่ถ้าไปเหยียบคันเร่งมากอาจร้อนแรง เราควรสร้างงานโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ถาม - การบริหารจัดการของรัฐบาลจะทำให้เกิดปัญหาการคลังหรือไม่ ?

     ดร.สมประวิณ - มันยังไม่มี แต่ว่าโดยทิศทางของหนี้สาธารณะบ้านเรา มันเป็นทิศทางขึ้นอยู่แล้ว ตอนนี้มันประมาณ 42% ของจีดีพี มันอาจจะขึ้นไปได้ แตะ 50 กว่าๆ ได้ในอนาคต ใน 10 ปีข้างหน้าเราคงเห็น ถามว่าเป็นเพราะอะไร ก็เพราะว่าโครงสร้างภาษีของบ้านเรา และโครงสร้างประชากรด้วย มีสังคมชราภาพ ฐานภาษีไม่ได้ขยาย แต่ฐานการใช้เงินของภาครัฐเยอะขึ้น งบประจำเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเฮลท์แคร์ เรื่องการศึกษา เรื่องภาระของรัฐมากขึ้น การใช้แบบนี้มันก็มีความเสี่ยง มันเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นแน่นอน
     ที่สำคัญ คือการใช้ของรัฐ ผมคิดว่า ถ้าท่านใช้เงินของรัฐมากระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น ใช้ได้นะ แต่เวลาใช้แล้วประเด็นสำคัญคือ ท่านใช้แล้วท่านต้องคิดว่าท่านต้องเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นในอนาคต และวิธีที่เราเห็นต่างประเทศเขาทำคือท่านก็ไปลงทุน infrastructure พอท่านลงทุน infrastructure ท่านก็มี activity หรือกิจกรรม มันเพิ่มขึ้น ท่านเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่ถ้าท่านมาใช้ในกรณีที่ใช้แล้วไม่สามารถทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต หรือเป็นการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น

ถาม - ตอนนี้เรามองไม่เห็นการหารายได้ในช่วงนี้ของรัฐที่เพิ่มขึ้น ?

     ดร.สมประวิณ - ตอนนี้ผมคิดว่าอาจจะยังไม่มี
     ดร.ชโยดม - สำหรับผมมองจากมุมมองของยุโรปนะครับ หนี้ภาครัฐ 42% ของจีดีพี ต่อให้เพิ่มขึ้นเป็น 50 หรือ 55% ตัวเลขนี้มันไม่ใช่เป็นตัวเลขที่สร้างปัญหา ปัญหาคือที่มันบวกเข้าไปอีก 10 กว่านี่ เอาเงินไปทำอะไร เอาเงินไปทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวหรือไม่ หรือเอาเงินไปเพื่อสร้างความนิยมในระยะสั้น อันนี้ล่ะที่จะเป็นปัญหา บ้านเรามีกฎหมายที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะ ก็ถือว่าบ้านเรายังมีอะไรรองรับไว้พอสมควร ยกเว้นไปแก้ไข

ถาม - นโยบายไหนของภาครัฐที่เป็นปัญหามากที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ ?

     ดร.ชโยดม - นโยบายไหนที่เป็นปัญหามากที่สุด ตอบยาก มันเกี่ยวข้องกันทุกๆ อัน ผมเป็นห่วงระยะยาวมากกว่า ระยะสั้นๆ นี่ผมไม่ค่อยเป็นห่วง

ถาม - สมมติว่าถ้านโยบายเดินอย่างนี้ไปตลอดเลย ระยะยาวจะเป็นอย่างไร ?

     ดร.ชโยดม - ถ้าสำเร็จทุกอัน คำถามคือ เงินมาจากไหนล่ะ
     ดร.สมประวิณ - ผมให้คอมเมนต์เป็นโครงการไม่ได้ เข้าใจว่าทางการเมืองมันต้องมีระยะสั้นมารองรับชาวบ้านด้วย แต่ความเป็นจริงรัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างประเทศที่เติบโตในระยะยาวกับระยะสั้น แต่ปัจจุบัน มันเน้นระยะสั้นอย่างเดียวจนเกินไป
     ดร.ชโยดม- ขอเสริมคือไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม มันก็ต้องมีนโยบายสร้างความนิยมชมชอบในระยะสั้นทั้งสิ้น

ถาม - ถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้สัก 20 ปี เราจะเป็นแบบเขาไหม แบบกรีซ ?

     ดร.ชโยดม - ผมยังเชื่อว่าสังคมของเรายังมีภาคเกษตรกรรมรองรับค่อนข้างเยอะ กรีซก็มีนะ แต่กรีซเป็นระบบที่เอื้อต่อประชานิยมเยอะมาก ผมว่าเยอะกว่าเรา
     แต่ผมยังเชื่อว่าสังคมวัฒนธรรมไทยนี่ มันยังวิ่งกลับไปหาการเกษตร แล้วท้ายที่สุดพอถึงจุดจุดหนึ่งผมมีความเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศจะนึกถึงพระราชดำรัสที่บอกว่า พอเพียง ถึงจุดจุดหนึ่งคำนี้จะต้องกลับมา ถึงจุดจุดหนึ่งคนจะต้องนึกถึงพระเจ้าอยู่หัว ในสิ่งที่ท่านได้กล่าวไว้ ผมว่าตรงนี้สำคัญ

ถาม - นโยบายดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลอยากเห็น ?

     ดร.สมประวิณ -เรื่องดอกเบี้ย จริง ๆ แล้วปัจจุบันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ค่อนข้างที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพอสมควร เพราะดอกเบี้ยมันก็ 3% ถ้าเราคิดจริงๆ ดอกเบี้ยที่แท้จริงมันติดลบ เอาง่ายๆ ถ้าผมไปฝากเงิน ฝากอัตราดอกเบี้ยที่ดีสุด ตอนนี้ก็ 3% เงินเฟ้อมันเกินไปแล้ว ดังนั้น การที่มีดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นลบ ในระยะสั้นมันโอเค เพราะว่ามันกระตุ้นให้คนมาซื้อของ ซื้ออะไร ก็ซื้อพวกสินค้าทั้งหลาย บ้านรถ อย่างยอดซื้อรถโตมากๆ เลยทุกวันนี้ รถไม่มีขาย
     แต่ปัญหามันเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะแปลว่าสินทรัพย์ของคนในระยะยาวจะลดลงไปด้วย ผมออมเงินวันนี้ มันไม่มีแรงจูงใจให้ผมออม ผมก็มาใช้ ถามว่าสิ่งเหล่านี้นี่มันยั่งยืนไหมในระยะยาว มันไม่ใช่ ความยั่งยืนก็คือว่า ท่านต้องใช้พอสมควรและมีเงินเก็บในระยะยาว

ถาม - ท้ายที่สุดคนไม่มีเงินออมไว้ใช้ในตอนแก่ ?

     ดร.สมประวิณ - ใช่ มันก็เป็นการเพิ่มการบริโภคในระยะสั้นมากเกินไป มันก็เลยเป็นประเด็นว่า ถามว่าถ้าไปกดอัตราดอกเบี้ย แต่จริงๆ แบงก์ชาติเขาออกรายงานมา เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าอยากจะขึ้นดอกเบี้ย เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับ

ถาม - ประธานแบงก์ชาติชี้นำทิศทางดอกเบี้ย ?

     ดร.สมประวิณ - ผมไม่คิดว่าเขาจะทำนะครับ ถึงแม้ขึ้นดอกเบี้ย ถ้าขึ้นผมว่าอย่างมากก็แบบไม่เยอะ แต่ว่าพยายามส่งสัญญาณ 0.25-0.50 ปีหน้าก็อีกสักบาทหนึ่ง อะไรอย่างนี้ แต่ว่าอันนั้นผมไม่ห่วง สิ่งที่ผมห่วงคือจริงๆ รัฐมีกลไกอยู่อีกอันหนึ่งซึ่งคนชอบลืม คือแบงก์รัฐจริงๆ ท่านจะปล่อยเท่าไร มันมาจากนโยบายต่อท่อตรงเลย

ถาม - ทำไมรัฐบาลไม่ค่อยใช้ธนาคารของรัฐ ?

     ดร.สมประวิณ -รัฐสามารถทำนโยบายการเงินได้ไหม คำตอบคือทำได้ โดยผ่านแบงก์ของรัฐ ปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ย 0% คือไม่ต้องไปอิงกับดอกเบี้ยของแบงก์ชาติที่ตั้งไว้เลย รัฐบาลบอกให้ออมสินปล่อย 0% ธ.ก.ส.พักชำระหนี้ แล้วปล่อยเพิ่มอย่างนี้ เพราะฉะนั้นกลไกตรงนี้ผมคิดว่าจะเป็นกลไกที่ควรจับตามองมากกว่า รัฐจะไปใช้ช่องทางนั้นมากกว่าที่จะมาคุมดอกเบี้ย

ถาม - จะเป็นธรรมกับแบงก์ทั่วไปหรือไม่ ?

     ดร.ชโยดม - มันอยู่ในระบบการแข่งขันเดียวกันเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าผู้ชี้นำคนหนึ่งถูกชี้นำด้วยกลไกทางการตลาด อีกส่วนหนึ่งอาจจะถูกชี้นำด้วยกลไกทางการเมือง แต่สิ่งที่กลับไปประเด็นเดิมคือท่านประธาน กลัวท่านจะออฟไซด์เท่านั้นเอง ว่าอาจจะมีการส่งสัญญาณบางสัญญาณในการให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีการประชุม และท้ายที่สุดสัญญาณดังกล่าวจะทำให้ตลาดสับสนไปหมด สมมติท่านพูดอย่าง ประชุมแล้วมีข้อสรุปอีกอย่าง เขาบอกประธานนี่แทรกแซงไม่ได้ 100% ความเชื่อมั่นอยู่ตรงไหน

ถาม - ทั้งหมดนี่เกิดจากการที่ภาคการเมืองแข่งขันกันเอาเป็นเอาตายเพื่อจะเอาชนะกันเลยทำให้ทุกมิติมีปัญหา ?

     ดร.ชโยดม - เป็นทุกประเทศนะครับ อเมริกาก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่อยู่ที่การศึกษาของประชาชนมากกว่า ทุกประเทศเป็นหมดในการโฆษณา แต่อยู่ที่ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริงมากแค่ไหน ประชาชนมีอิสรภาพในการตัดสินใจมากแค่ไหน แล้วประชาชนมองภาพระยะยาวแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดอยู่ที่ประชาชนรับฟังอะไรเข้าไป อย่างเป็นธรรมหรือไม่ ฟังข้างเดียว โดยที่อีกฝั่งหนึ่งไม่มีโอกาสเข้าถึง อย่างนั้นหรือเปล่า

ถาม - ถ้าคนไทยคิดได้ก็น่าจะเป็นเรื่องดี ?

     ดร.ชโยดม - คนไทยคิดได้นะ แต่ละคนจะแคมเปญเป็นยังไง ช่างมันเถอะ จะพาไปเที่ยวทั่วโลกทุกคน แต่ขอให้คิดได้ว่ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ขอให้คิดได้ว่าอนาคตของเรานั้นมันเป็นเรื่องของลูกหลานด้วย ไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว ไม่ใช่อีก 3วัน 5 วัน เรามีกินหรือเปล่า อยากจะให้คนไทยคิดยาวๆ
     แต่ก็เข้าใจ เพราะบังเอิญผมก็ไปสัมผัสต่างจังหวัดบ่อย เวลาไปทุกครั้งก็มีความรู้สึกว่า โอ้โห คนต่างจังหวัดนี่ปากกัดตีนถีบ เขาต้องสู้จริงๆ นะ เพราะฉะนั้นเงิน 500 เงิน 1,000 เงิน 2,000 มันมีค่าสำหรับเขามากๆ เลยนะ โดยเฉพาะคนอีสานเป็นคนซื่อสัตย์นะ โทษเขาไม่ได้นะครับ ผมไม่เคยโทษคนไทยด้วยกันเลย เงื่อนไข ข้อจำกัดในชีวิตเขามีเยอะมาก เพราะฉะนั้นทุกคนมีความแตกต่าง เราจะบริหารความแตกต่างตรงนี้ได้อย่างไร
     คนที่เป็นภาครัฐ ถ้าบริหารความแตกต่างตรงนี้ด้วยวัตถุประสงค์เป้าหมายของประเทศ นั่นแหละที่จะนำประเทศไทยเจริญ แต่ถ้าบริหารความแตกต่างด้วยผลประโยชน์ของตัวเอง ประเทศมันจะอยู่ไม่ได้ ท้ายที่สุดกลับมาคำเดิม ผมมีความเชื่อมั่นกับคำว่าความพอเพียง เพราะความพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้แปลว่าต้องไม่จ่ายนะครับ ความพอเพียงท่านบอกว่า เราจ่ายไม่เกินตัวของเรา เพราะฉะนั้นคำคำเดียวนี่มันบริหารความแตกต่างของแต่ละคนไปโดยอัตโนมัติ นี่คือความลึกซึ้ง

ถาม - เป็นสงครามระหว่างความพอเพียงกับทุนนิยม ?

     ดร.ชโยดม - ถูกๆ ก็อยากชนะสงครามในระยะสั้นแล้วแพ้ระยะยาว หรืออยากจะชนะสงครามทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ถาม - คนที่เขายึดทุนนิยมเขาก็มองความพอเพียงเป็นอีกมิติหนึ่ง ?

     ดร.ชโยดม - เขามองพอเพียงว่าไม่ใช่ไง แต่จริงๆ พอเพียงคือ ไม่ใช้จนเกินตัว ไม่ได้แปลว่ารวยต้องไม่ใช้นะ รวยอยากจะขับเบนซ์ เชิญครับ เพราะไม่เกินตัว เขามีเงินหมื่นล้าน เขาจะซื้อรถ 50 ล้านก็เรื่องของเขา

ถาม - เรายึดตัวเลขเกินไป เป็นตัววัดว่า ดี โต เก่ง กลายเป็นคนไทยบูชาคนรวย ?

     ดร.ชโยดม - พูดยากนะครับ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ผมว่าค่านิยมมันเปลี่ยนไป จริงๆ แล้วเราควรจะเป็นสังคมที่บูชาความดีมากกว่า แต่ผมยังเชื่อว่าเราควรจะสร้างค่านิยมนี้ ผมไม่เชื่อว่าสร้างไม่ได้ อย่างญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระเบียบมาก ผมไม่เชื่อว่าตั้งแต่เกิด ผมพูดกับหลายคน หลายคนไม่เข้าใจ ผมไม่เชื่อว่าคนญี่ปุ่นเป็นอย่างนี้ตั้งแต่แรก แต่วัฒนธรรมของเขาถูกสร้างขึ้นมา ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารนิยาย จะมาแนวเดียวกันเลย ให้คนมีระเบียบ ให้คนรักสังคม คือมันถูกสร้างขึ้นมา ให้คนเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเหมือนกัน ผมว่าบ้านเราต้องสร้างได้ เราต้องจุดประเด็นว่าเราต้องการคนแบบไหน เราต้องสร้างคนแบบไหน

ถาม - บ้านเราไม่มียุทธศาสตร์สร้างคน ?

     ดร.ชโยดม - ยุทธศาสตร์สร้างคนไม่ใช่แค่ว่าต้องจบปริญญาทุกคน ไม่ใช่ เอาง่ายๆ อย่างญี่ปุ่นไม่ต้องจบปริญญาทุกคนหรอกครับ แต่ประเทศเขาเจริญได้เพราะอะไร เพราะคนมีระเบียบ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องจบปริญญาทุกคนนะ แต่มีคนมีระเบียบวินัยนะ กฎหมายไม่จำเป็นต้องแข็งด้วย เพราะว่าอะไร จะเข้าห้องน้ำทุกคนยืนต่อคิวหมด เพราะว่าวัฒนธรรมมันแข็งแกร่งมาก
ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
เหตุการณ์ประท้วงในกรีซ
เหตุการณ์ประท้วงในกรีซ
เหตุการณ์ประท้วงในกรีซ
กำลังโหลดความคิดเห็น