xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจความพร้อม “เออีซี” ไม่ได้มีแต่ “ผลได้” ดังคำโฆษณา (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้าวไทยที่สร้างชื่อเสียงก้องโลก อาจไม่สามารถแข่งขันได้เมื่อเปิด AEC เพราะผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การประโคมข่าวเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่มองเห็นแต่ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ อาจเป็นการมองแต่ “ผลได้” ที่จะตกแก่กลุ่มทุนเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคประชาชนชี้ถึงความไม่พร้อมและผลกระทบใหญ่หลวงต่อภาคเกษตร แม้แต่ข้าวที่โอ่ว่าเจ๋งสุดก็ยังแข่งได้ยาก เทียบวิสัยทัศน์อินโดฯ ห้ามต่างชาติลงทุนสาขาความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ไทยล้าหลังยังขอสงวนการผลิตไพ่

การโหมประโคมข่าวการมุ่งหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งจะทำให้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตหนึ่งเดียว มีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน บริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีมากขึ้น ขนาดตลาดอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน เป็นที่คาดหวังว่าจะกลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุน ซึ่งหน่วยงานรัฐต่างพากันออกมายืนยันความพร้อมของประเทศไทยที่จะกระโจนเข้าสู่ AEC พร้อมกับผลได้มากมายมหาศาล ขณะที่หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคแรงงาน หรือภาคประชาสังคมต่างคาดการณ์แนวโน้มผลได้และผลเสียในหลายทิศทาง

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงความพร้อมและผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทยในงานประชุมล่าสุด “FTA : ตรวจสอบความพร้อมประเทศไทยในยุคสมัยสู่ประชาคมอาเซียน” เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2555 ว่า ในการเจรจาข้อตกลง AEC ประเทศไทยไม่กำหนดสินค้าอ่อนไหวสูง และกำหนดสินค้าอ่อนไหวไม่กี่รายการ เพราะการกำหนดนโยบายเปิดเสรีสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น กรณีข้าวโพด และถั่วเหลือง โน้มเอียงไปเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทอาหารสัตว์มากกว่าเกษตรกรรายย่อย
 
ที่สำคัญคือ เป็นความบกพร่องในการวิเคราะห์ เช่น ประเมินว่าประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในสินค้าข้าว ทั้งที่มีเสียงเรียกร้องจากภาคเกษตรให้ข้าวและมันสำปะหลังอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวก็ตาม

กรณีการเปิดเสรีข้าวที่เชื่อว่าประเทศไทยได้เปรียบนั้น หากเปรียบเทียบผลผลิตข้าวและต้นทุนโดยเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ พบว่า ไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่เป็นอันดับ 6 เพียง 448 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เวียดนามให้ผลผลิตสูงสุด 862.4 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 779.2 กิโลกกรัมต่อไร่ ฟิลิปปินส์ 616 กิโลกรัมต่อไร่ มาเลเซีย 592 กิโลกรัมต่อไร่ ลาว 588 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ
 
ส่วนกัมพูชา และพม่า ที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าไทย ก็ไม่ได้ต่ำกว่ามากมาย โดยกัมพูชามีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 443 กิโลกรัมต่อไร่ พม่า 427.2 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนต้นทุนการผลิตต่อไร่ กลับพบว่าไทยมีต้นทุนสูงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว

สำหรับมันสำปะหลัง ผลผลิตของไทยต่ำเพียง 2 ตันต่อไร่ เมื่อเทียบกับกัมพูชาที่สามารถผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ได้สูงถึง 5 ตัน ขณะที่ต้นทุนของไทยกลับสูงกว่ากัมพูชากว่าครึ่งหนึ่ง

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังกล่าวถึงผลกระทบของรายการข้อสงวนชั่วคราวที่จะต้องเปิดการลงทุนในปี 2553 ใน 3 รายการ คือ 1) การทำประมง เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2) การทำป่าไม้จากป่าปลูก และ 3) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช ทำให้มีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชะลอการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 และต่อเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 รัฐบาลได้เสนอสภาฯ เพื่อเห็นชอบให้เปิดเสรีการเลี้ยงกุ้งมังกรสายพันธุ์ไทย การเลี้ยงปลาทูน่าในกระชังน้ำลึก และเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีให้ชะลอการลงทุนใน 3 สาขาแล้วก็ตาม แต่บรรดาบรรษัทค้าเมล็ดพันธุ์ไม่ได้หยุดยั้งในการรุกเร้าให้ประเทศไทยเปิดเสรีการลงทุนทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช “ขณะนี้มีการตั้งคณะนักวิจัย ซึ่งมีอดีตผู้บริหารบรรษัทเมล็ดพันธุ์เพื่อศึกษาว่าจะมีการเปิดเสรีเพิ่มเติมในสามสาขาดังกล่าวหรือไม่”

หากประเทศไทยเปิดเสรีการเพาะและขยายพันธุ์พืชจะมีผลกระทบเช่นใด วิฑูรย์ประเมินว่า บริษัทข้ามชาติจะเข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ที่เป็นฐานรากของระบบเกษตรกรรมและอาหาร บรรษัทข้ามชาติยังจะสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยรวมทั้งพันธุ์พืชที่ได้รับการปรับปรุงจากการวิจัยของรัฐโดยง่าย ทั้งยังจะกระทบการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาพันธุ์พืชของผู้ประกอบการขนาดเล็กและเกษตรกรรายย่อย เป็นที่น่าแปลกใจที่หน่วยงานรัฐส่งเสริมให้ไบเออร์ผลิตพันธุ์ข้าวลูกผสม ขณะที่รัฐวิสาหกิจชุมชนกำลังพัฒนาเรื่องพันธุ์พืชนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิชีววิถีเมื่อปี 2553 พบว่า ปัจจุบัน ซี.พี.เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเมล็ดพันธุ์พืชสูงสุด 35% รองลงมาคือ มอนซานโต้ 20% แปซิฟิก 10% อีสท์เวสท์ 9% และไพโอเนียร์ 7%

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังชี้ว่า การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้อินโดนีเซียห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุนในสาขาความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ไทยยังคงล้าหลังโดยห้ามต่างชาติเข้าลงทุนกิจการผลิตไพ่ เป็นต้น

ส่วนผลกระทบต่อการเปิดเสรีจากการปลูกป่าและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต่างชาติจะเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ทำกินและทรัพยากรป่าไม้และทะเล ซึ่งปัจจุบันมีปัญหามากอยู่แล้ว ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก และการส่งเสริมการปลูกป่าและเพาะเลี้ยงในระบบเชิงเดี่ยวสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น แทนที่จะสนับสนุนระบบป่าชุมชนและวนเกษตรหรือการประมงชายฝั่งที่อนุรักษ์ป่าชายเลนและหญ้าทะเล นอกจากนั้น ต่างชาติยังจะเข้ามาใช้สิทธิคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่า

วิฑูรย์ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เจรจาประเมินว่าประเทศไทยได้เปรียบจากการเปิดเสรีการลงทุนเช่นเดียวกับสิงคโปร์ จึงไม่พยายามสงวนการลงทุนในสาขาเกี่ยวกับการเพาะขยายพันธุ์พืช การปลูกป่า และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงนักลงทุนนอกอาเซียนที่ได้ลงทุนในอาเซียนจะได้รับสิทธิดังกล่าว รวมถึงไม่ได้คำนึงถึงปัญหาและข้อจำกัดของเกษตรกรรายย่อยเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ และเห็นว่ามีการผลักดันของบริษัทขนาดใหญ่ และบรรษัทข้ามชาติเพื่อให้มีการเปิดเสรีการลงทุนอย่างกว้างขวาง

ข้อเสนอแนะระยะสั้นคือ ไม่ควรเปิดเสรีใน 3 สาขาดังกล่าว และควรประเมินผลการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาในสาขาเกษตรว่าเกิดผลกระทบเช่นใดบ้างต่อภาคเกษตรกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่ และความมั่นคงทางอาหาร ที่สำคัญคือ การเปิดเสรีลงทุนต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และการศึกษาวิจัยควรดำเนินการโดยสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้วย
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี
กำลังโหลดความคิดเห็น