xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามฉาย ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ฤๅทิ่มแทงใจผู้นำกระหายอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กรณีกองเซ็นเซอร์สั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแก่นของเรื่องที่ฉายภาพผู้นำกระหายอำนาจ มักใหญ่ใฝ่สูงขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ชอบธรรมจนต้องสูญเสียอำนาจไปในที่สุดที่ชวนติดตาม แต่เนื้อหาเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์การเมือง ทั้งปีศาจเสื้อแดง การโค่นล้มราชบัลลังก์ ล้วนแต่เป็นประเด็นร้อนแรงที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ไม่นับรวมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลิดรอนสิทธิ ปิดหู ปิดตาประชาชน

ตามความตั้งใจเดิม หากไม่มีสิ่งใดผิดพลาด ภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ หรือ Shakespeare Must Die อาจกำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทางเลือกและมีเพียงผู้ชมในแวดวงศิลปะการละครจำนวนไม่มากนักที่สนใจใคร่รู้ว่าผู้กำกับภาพยนตร์จะตีความบทละครแม็คเบ็ธของกวีเอกอย่างเชคสเปียร์ออกมาในรูปแบบใด เนื่องด้วยทั้งผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างต่างก็ย้ำว่า ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ สร้างขึ้นจากบทละครแม็คเบ็ธของวิลเลียมส์ เชคสเปียร์ ที่ยืนยงมานานกว่า 400 ปี
มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย
ทว่า วันที่ 3 เมษายน 2555 มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็เขียนแถลงการณ์และบอกเล่าให้เพื่อนพ้องในแวดวงสังคมออนไลน์ได้รับรู้ว่า หลังการพิจารณาของกองเซ็นเซอร์ในช่วงบ่ายของวันที่ 3 เมษายนนั้น ภาพยนตร์ของเขาได้รับคำสั่ง ‘ห้ามฉาย’ โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (SHAKESPEARE MUST DIE) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฏกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๗ (๓) จึงมีมติไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา ๒๖ (๗) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑

คำแถลงการณ์ทั้งจากผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ดังกล่าวที่ออกมาเปิดเผยความในใจ ทั้งตัดพ้อถึงการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการนำเสนอผลงานภาพยนตร์ที่รัฐบาลภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ให้ทุน 3 ล้านบาทในการสร้างภาพยนตร์ ทว่า ในที่สุดกองเซ็นเซอร์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ก็กลับห้ามฉายเสียเอง ต่างแต่เพียงว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์สนับสนุนให้สร้าง รัฐบาลยิ่งลักษณ์สั่งห้ามฉาย

หลังกระแสข่าวห้ามฉาย เชคสเปียร์ต้องตาย แพร่กระจายออกไป การวิพากษ์วิจารณ์จึงกำลังก่อตัวกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มขยายวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภาพตัวอย่างปรากฏตามเว็บไซต์และสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ยิ่งเมื่อภาพจากตัวอย่างมีทั้งภูตผีในเสื้อคลุมสีแดง มีการล้มล้างราชบัลลังก์ มีเรื่องของผู้นำที่กระหายอำนาจ มักใหญ่ใฝ่สูง ทั้งหลายทั้งปวงนั้นจึงทำให้ผู้คนต่างลงความเห็นว่าอาจเพราะมีการเสียดสีและวิพากษ์บริบทการเมืองไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกสั่งห้ามฉาย และหากเป็นเช่นนั้นจริง เหตุการณ์นี้ก็ควรจะได้รับการถกเถียงในวงกว้างว่ามันสะท้อนภาพถึงสิ่งใดในสังคมประชาธิปไตยของไทยบ้าง นอกเหนือไปจากมติของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ที่พิจารณาเห็นว่า “ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (SHAKESPEARE MUST DIE) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ”
สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย
บางส่วนของความในใจ จากผู้กำกับ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’

เมื่อแก่นสำคัญของบทละครแม็คเบ็ธ ผนวกเข้ากับการวิพากษ์ผ่าน ‘นัย’ จากฉากต่างๆ ตามบริบทการเมืองไทยที่ผู้กำกับหยิบจับมาใส่ไว้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าแม้ตัวอย่างภาพยนตร์เพียง 3 นาที ก็ทำให้ใครต่อใครที่ได้ดูต่างรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เสียดสีสังคมไทยและตบกะโหลกใครบางคนได้ ‘แรง’ แบบทะลุทะลวง และอาจเป็นเพราะเหตุนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกแบน หรือ ‘ห้ามฉาย’

เมื่อรัฐบาลที่มักเอ่ยอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคเท่าเทียม เอ่ยอ้างถึงหลักสิทธิมนุษยชน กลับสั่ง ‘แบน’ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์สังคม ไม่ต่างจากรัฐบาลในยุคเผด็จการที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาลผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศ เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่องนี้อาจกำลังแสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่ผู้มีอำนาจมีต่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อภาพยนตร์เรื่องนั้นตีแผ่ถึงความทะเยอทะยานและกระหายในอำนาจอย่างไม่สิ้นสุดหรือไม่

“…ในการสร้างหนังผีเชคสเปียร์ของเรา ฉันปฏิเสธที่จะเล่นตามบทและกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยคนเขียนบทของทักษิณ คุณอาจเลือกที่จะทำตามกติกาเหล่านั้นที่เขากำหนดขึ้นมาลอยๆ นั่นเป็นการตัดสินใจของคุณ มันไม่ใช่เรื่องของฉัน (ถ้าโชคดี คุณอาจได้ประโยชน์จากมันก็เป็นได้ มีข่าวร่ำลือหนาหูในหมู่นักทำหนังว่า ทักษิณกำลังชอปปิ้งหาผู้กำกับทำหนังชีวประวัติของเขา ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ย่อมไม่ใช่หนังทุนต่ำแน่นอน) หากว่าความคิดเช่นนี้ทำให้ฉัน “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และทำให้ยากลำบากในการนำ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ออกมาสู่สายตาโลก มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ”

ความตรงไปตรงมาในการแสดงความคิดเห็นของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย หรือ Shakespeare Must Die แสดงออกอย่างชัดแจ้งผ่านแถลงการณ์ของเธอที่สะท้อนถึงคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) ในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แถลงการณ์ของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นของเธอ ทั้งแสดงถึงสภาวะแห่งความหวาดกลัวของรัฐบาลที่หวงแหนอำนาจและต้องการปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ รู้เท่าทัน หรือแสดงความเห็นต่อ ‘การเมืองไทย’

“…เราต้องต่อสู้กับความกลัวจริงๆ เพราะการทำหนังของเราต้องเผชิญทั้ง “ไฟนรกและน้ำสูง” คือการยึดพื้นที่กลางเมืองโดยเสื้อแดง ตามด้วยเผาบ้านเผาเมืองในปี ๒๕๕๓ ซึ่งทำให้โรงถ่ายปิด ต้องพักการถ่ายทำถึงสองอาทิตย์ และสร้างความยากลำบากสุ่มเสี่ยงในการเดินทางมาทำงานของทุกๆ คน โดยเฉพาะคุณหญิงเมฆดับ (เลดี้แม็คดัฟ) ซึ่งโดนก่อกวนเชิงลวนลามโดยการ์ดเสื้อแดงทั้งเช้าและค่ำ จนต้องย้ายไปนอนบ้านเพื่อน และครั้งหนึ่ง (๒๘ เม.ย.) ทำให้เราติดอยู่ที่รังสิต เมื่อถนนวิภาวดีรังสิตถูกตัดขาด บ่ายวันที่ทหารโดนซุ่มยิงตายในเหตุการณ์รุนแรงที่อนุสรณ์สถาน-ตลาดไท แล้วพอรอดจากไฟนรกก็ต้องผจญภัยกับน้ำสูง (โพสต์โปรดักชันขั้นสุดท้ายขัดข้องเพราะน้ำท่วม)

“ทุกความหวาดหวั่นของเราหลั่งไหลลงในการสร้างผลงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังได้เห็นได้ฟัง ได้ดูดซับจากโลกรอบๆ ตัวเราและหนังของเรา ทุกอย่างที่เรากลัว ซึมซ่านออกมากับทุกหยาดเหงื่อ ทุกรูขุมขนของเรา ก็ไม่เป็นไร ยิ่งดีเสียอีก ในเมื่อเรากำลังทำหนังสยองขวัญกันอยู่

“…บอกให้เราเข้าใจหน่อยเถิดว่า ทำไมสิ่งนี้จึงไม่เพียงพอ? ศิลปะจำเป็นต้อง‘เป็นกลาง’และ ‘ยุติธรรม’ด้วยหรือ? (ท่ามกลางความมึนเมาของการจงใจปั่นข่าวและบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยหมอผีพีอาร์ และความรักตัวกลัวตายของนักสื่อสารมวลชน ขอถามว่าข่าวที่นำเสนอตามสื่อต่างๆ นั้น ‘เป็นกลาง’ และ ‘ยุติธรรม’ สักแค่ไหน? แทนที่จะมาเรียกร้องหาสิ่งนี้จากหนังผีทุนต่ำของเรา ทำไมคุณไม่ตั้งคำถามกับการที่หนังสือนิวส์วีกยกย่องยิ่งลักษณ์เป็นวีรสตรี--เคียงบ่าเคียงไหล่กับ อองซาน ซูจี และฮิลลารี คลินตัน—ประมาณว่าแม่พระผู้ส่งเสริมความสมานฉันท์ และจัดการน้ำท่วมได้อย่างเก่งกาจ)

‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ คือจุดรวมฝันร้ายของเรา นี่คือมโนภาพแห่งความสยองขวัญของเรา มันเป็นหนังผีมิใช่หรือ? หนังผีสมควรเป็นเรื่องของสิ่งที่พาให้เราใจหายและหวาดผวา มันไม่ใช่รายงานข่าวหรือแม้กระทั่งสารคดี มันไม่มีหน้าที่เลกเชอร์ข้อมูลอะไรให้คุณเชื่อ มันมีไว้ให้คุณได้สัมผัสด้วยอารมณ์ความรู้สึกก็เท่านั้นเอง เราดูดซึมยาพิษจากยุคสมัยมาถักทอเป็นภาพต้องมนต์สะกดเพื่อความสนุกเพลิดเพลินของคนดู

หนังผี-หนังสยองขวัญ จะทำหน้าที่ของมัน--คือไล่ผีและปลดปล่อยปมขมวดทางจิตให้เรา--ได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมันไม่หลีกเลี่ยงสารพิษในผืนดินถิ่นกำเนิดของมัน แต่พร้อมที่จะหยั่งรากลึกลงไปในก้นบึ้งของพิษร้ายนั้นอย่างเต็มอกเต็มใจและเต็มที่

“…ส่วนการ “รื้อฟื้นแผลเก่า” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ของช่างภาพสำนักข่าวเอพี นีลยูเลฟวิช รูปไทยมุงรอบชายในเสื้อซาฟารี ที่ใช้เก้าอี้เหล็กตีศพนักศึกษาที่ถูกแขวนคอกับต้นไม้กลางสนามหลวง เรื่องนี้ ฉันคงต้องโยนคำถามกลับมาให้ตอบกับตัวคุณเองว่า มันจำเป็นหรือไม่ที่จะเท้าความถึง 6 ตุลา มหาวิปโยค? เหตุการณ์นั้นมีชนวนอ้างอิงเป็นการแสดงละครประท้วงเช่นกัน โปรดสังเกตด้วยว่าโฟกัสในฉากนี้จับจ้องอยู่ที่ใบหน้าบรรดากองเชียร์ ไม่ใช่กับศพและชายที่ฟาดเก้าอี้ สิ่งที่ฝังใจเรามากกว่า คือคนที่เรียกกันว่าคนธรรมดา รวมทั้งเด็กๆ ที่มายืนหัวเราะและสนับสนุนยุยง

"ภาพข่าวภาพนี้ ติดตาตำใจและจิตวิญญาณวัยรุ่นทึ่มๆ ของฉันตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นในปี ๒๕๑๙ จนกลายมาเป็นความหมกมุ่นส่วนตัวมาตลอดชีวิต ภาพนี้หลอกหลอนเราด้วยความหวาดหวั่น—แบบเด็กกลัวผี--ว่าจะถูกเข่นฆ่าโดยอันธพาลคลั่งเจ้าและลูกเสือชาวบ้าน และด้วยความรู้ซึ้งคาใจว่า คนธรรมดาอาจกลายเป็นฆาตกร และเมืองไทยกลายเป็นรวันดา๑๙๙๔ ได้ภายในพริบตาเดียว หากว่าถูกยุยั่วปั่นหัวเป็นหางโดยนักโฆษณาชวนชั่วอย่างถูกจุด

"มาถึงวันนี้ แทนที่จะเป็นอันธพาลคลั่งเจ้าที่เราต้องกลัว เรามีกลุ่มคนบ้าคลั่งกลุ่มอื่นที่ไร้เหตุผลและนิยมความรุนแรงอย่างแท้จริง อันเป็นผลงานมหกรรมปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ

"ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าเขาเป็นซ้ายหรือว่าเป็นขวาไม่ใช่ประเด็น แต่คนลักษณะนี้ทำให้ชีวิตของเราและของบ้านเมืองไร้เหตุผลและเสียสติ ทำให้ความสงบเหือดหายและเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเยอรมันกับนาซี เราควรให้ลูกหลานทุกคนได้เห็นภาพนี้ เราควรจดจำมันไว้เสมอ ไม่ใช่เพื่อโหมไฟอาฆาตพยาบาทต่อกัน แต่เพื่อเตือนใจทุกคน รวมทั้ง‘คนดี’ อย่างที่เราคิดว่าเราเป็นด้วย ที่อาจกลายเป็นปีศาจได้ ถ้าถูกยั่วยุเกินทน…”

ละครเวทีเรื่อง แม็คเบ็ธ จัดแสดงโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อปีที่ผ่านมา
‘แม็คเบ็ธ’ กับอำนาจและความทะเยอทะยานไร้ขอบเขต

นอกจากแถลงการณ์ของผู้กำกับหญิงที่แสดงออกถึงความอัดอั้นและกดดันต่อสภาพการเมืองไทยในยุคเผด็จการเผาบ้านเผาเมืองและผลพวงของความขัดแย้งที่ตามมา ซึ่งเธอนำมาถ่ายทอดผ่านผลงานภาพยนตร์แล้ว ทัศนะของ ปวิตร มหาสารินันทน์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการและนักวิจารณ์ละครผู้ผูกพันกับบทละครแม็คเบ็ธที่เขาต้องนำมาสอนนักศึกษาในภาควิชาอยู่เสมอ ก็ได้สะท้อนมุมมองที่มีต่อ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ซึ่งสร้างจากบทละครแม็คเบ็ธได้อย่างน่าสนใจ ทั้งไม่ลืมบอกกล่าวถึงแก่นสำคัญของบทละครเรื่องแม็คเบ็ธที่แฝงไว้ด้วยอมตสัจธรรมที่ยืนยงเหนือกาลเวลา

“ถ้าพูดถึงแก่นสำคัญของบทละครเรื่องนี้ แก่นของเรื่องก็คือการขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ชอบธรรม และการที่จะต้องสูญเสียอำนาจนั้นไปในที่สุดอันเนื่องมาจากความทะเยอะทะยานโดยไม่มีขอบเขต

“ซึ่งเมื่อฟังแค่นี้ปุ๊บ! เนื่องจากเราผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมาเยอะๆ เราก็คงจะนึกถึงใครหลายๆ คน เพราะฉะนั้น ผมกำลังจะพูดว่า ถึงแม้ละครจะเขียนมา 400 กว่าปีแล้ว แต่เรื่องความทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ความอยากได้อำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงจนเกินตัวจนไม่ได้คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง เกิดขึ้นกับครอบครัว หรือเกิดขึ้นกับสังคม ประเทศชาติ มันก็เป็นสิ่งที่เป็นอมตะและเป็นสากล เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย ทุกประเทศในโลก เลยกลายเป็นประเด็นตรงนี้มั้ง

"
ซึ่งจริงๆ แล้ว เมื่อตอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำละครเรื่องนี้ ด้วยความที่เราจัดบรรยากาศของเรื่องเป็นเรื่องตามตำนาน หรือประวัติศาสตร์สกอตแลนด์ในศตวรรษที่ 17 จึงมีคนดูน้อยคนคิดเทียบเคียงการเมืองไทย มันก็เลยกลายเป็นละครฝรั่ง ทั้งที่แก่นของเรื่องนี่ ถ้าคิดนึดหนึ่งมันก็...เอาละ ( หัวเราะ) ซึ่งเท่าที่ผมดูตัวอย่างภาพยนตร์ ‘เชคสเปียร์ มัสต์ดาย’ ผมมีความรู้สึกว่าหลายๆ ช่วง หลายๆ ตอนมันดูเป็นไทย แล้วก็มีหลายสิ่งที่คล้ายกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นในการเมืองบ้านเรา มันก็เลยอาจจะทำให้มีคนรู้สึกว่า มันจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นมา”
ปวิตร มหาสารินันทน์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจาก www.skoolbuz.com)
เมื่อรัฐสั่งแบนหนังวิพากษ์การเมือง บทเริ่มปิดหู ปิดตาประชาชน

“เรื่องการเซ็นเซอร์มันสะท้อนให้เห็นอะไร? ผมว่ามันสะท้อนได้ว่าแม้เราจะมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์แล้ว สุดท้ายศิลปินเองก็ไม่ได้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเสนอความคิด และคนอีกไม่น้อยก็ยังมองว่าจุดมุ่งหมายหลักของภาพยนตร์คือการสร้างความบันเทิง ต่างจากในหลายประเทศที่รัฐบาลเขาให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังอย่างจริงจัง แต่เรื่องนี้รัฐก็ให้การสนับสนุนใช่ไหมครับ ให้งบไทยเข้มแข็ง 3 ล้าน แต่สุดท้ายแล้วไม่ให้เขาฉาย แล้วจะให้เขาสร้างเพื่ออะไร? เพื่อให้เขานำไปฉายในเทศกาลหนังประเทศอื่นๆ อย่างนั้นเหรอ? แล้วเขาก็ฉายไม่ได้ แต่ถึงแม้เขาฉายไม่ได้ แต่ผมว่าด้วยเทคโนโลยีการก๊อบปี้ดีวีดี สุดท้ายก็ได้ชมกันเองครับ เพราะเราก็มีวิธีการของเรา แต่ผมก็ยังอยากดูหนังในโรงหนัง เพราะมันได้อรรถรสแตกต่างกัน

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนได้ว่าศิลปินไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แต่เขาก็ยังอุทธรณ์กันอยู่ใช่ไหมครับ คงต้องรอฟังผลสรุปอีกที ผู้มีอำนาจในการพิจารณาเขาคงยังมองว่าภาพยนตร์มีหน้าที่ในการสร้างความบันเทิง ส่วนเหตุผลที่เขาบอกว่ามันจะสร้างความแตกแยก ผมว่าคำนี้น่าสนใจ ผมมองว่าในสังคมประชาธิปไตย มันต้องมีความแตกต่างทางความคิดอย่างชัดเจน ซึ่งบางทีนักการเมืองบ้านเราหรือว่าข้าราชการชั้นสูงมักใช้คำนี้สลับกันไปมา คือคำว่าแตกต่างกับคำว่าแตกแยก คือสังคมประชาธิปไตยต้องมีการแตกต่างทางความคิด และเราต้องเคารพความคิดที่แตกต่างของกันและกัน ผมไม่ได้มองว่าอเมริกาที่เขามีรีพับลิกัน มีเดโมแครต หรืออังกฤษที่เขามีพรรคเลเบอร์ พรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้น ผมไม่ได้มองว่านั่นเป็นความแตกแยก แต่มันคือความแตกต่าง

“ซึ่งบ้านเรา ปัจจุบันนี้มันก็กำลังจะเป็นอย่างนั้น ในตอนนี้เราก็เห็นว่ามันมี 2 ขั้วชัดเจน ซึ่งก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ถ้ามีหนังแบบนี้ออกมาแล้วขั้วหนึ่งจะชอบมากแล้วอีกขั้วหนึ่งจะเกลียดมาก ก็ไม่เห็นเป็นไรเพราะนี่คือประชาธิปไตย แล้วผมคิดว่างานศิลปะของเมืองไทยควรจะมีงานแบบนี้ออกมาเยอะขึ้น ไม่ใช่งานแบบที่เมื่อทุกคนเข้าไปดูแล้วชื่นชมแล้วคิดไปในทางเดียวกันหมด แต่น่าจะเป็นงานที่ทำให้เกิดความคิดเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงและทำให้เกิดการถกเถียงกัน แต่ไม่ใช่การทะเลาะวิวาทกันนะครับ คือเราต้องรู้จักการถกเถียงโดยไม่ทะเลาะวิวาท เพราะนั่นคือประชาธิปไตย”

สำหรับกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้โดนแบน เพราะมีการนำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเสนอผ่านการแสดงในภาพยนตร์นั้น เป็นประเด็นล่อแหลมเกินไป ปวิตรกลับมีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวว่า

“จริงๆ แล้ว เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ทางการเมืองมันก็ล่อแหลมทั้งนั้นแหละครับ คือผมยังมีความรู้สึกว่า สื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ ละครเวที และละครโทรทัศน์บ้านเรา ยังไม่มีโอกาสถ่ายทอดเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเมืองบ้านเราในช่วง 4-5 ปีหลังนั้นร้อนแรงมาก แต่สื่อเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอด ไม่มีโอกาสได้ย้อนกลับไปคิด หรือวิเคราะห์ วิพากษ์ ตีความเหตุการณ์ที่ผ่านมาเท่าไหร่ ซึ่งคนต่างชาติเขาแปลกใจมากว่าทำไมเราสะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นออกมาอย่างชัดเจน

“เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเรื่องการเมืองอยู่ในหนัง โดยส่วนตัวแล้วผมชอบดู จริงอยู่ ใช่ครับ มันละเอียดอ่อนและมันต้องกระทบจิตใจ กระทบความคิดของคน แต่ผมว่านั่นคือหน้าที่ของศิลปะครับ ศิลปะไม่ได้มีหน้าที่ทำให้เกิดความสุขความสบาย แต่ศิลปะต้องทำให้เกิดกิจกรรมทางปัญญาด้วย

“ผมมีความรู้สึกว่าถ้าแบนหนังเรื่องนี้ ในอนาคตคนก็จะไม่อยากหยิบยกเรื่องการเมืองขึ้นมาพูดถึงในหนังอีกต่อไป ทั้งที่จริงๆ แล้วการเมืองมันก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราไม่ต่างจากความรัก หรือกินข้าว ที่ทุกเรื่องต้องมีฉากกินข้าว หรือเรื่องวัยรุ่น เรื่องเกย์ หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เราถ่ายทอดไว้ในภาพยนตร์ มันก็ล้วนเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน แต่ทำไมประเด็นเรื่องการเมืองขาดหายไป มันก็อาจแสดงให้เห็นได้ว่าบ้านเมืองเราไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่อย่างที่เราอ้างกัน

“สุดท้ายแล้ว มันหลีกเลี่ยงการปะทะไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ เราต้องเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เฉพาะแค่ศิลปินนะครับ ใครก็ตามที่เขามีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับเราโดยที่เราไม่ต้องไปกระชากคอเสื้อเขาหรือทะเลาะเบาะแว้งกับเขา เราก็รับฟังความคิดเห็นของเขา เมื่อถึงเวลาเราก็แสดงความคิดเห็นของเรากลับ ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกัน มันจะน่าเบื่อมากถ้าทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกัน เพราะนั่นก็ไม่ใช่สังคมในระบอบประชาธิปไตย ท้ายที่สุด ผมยอมรับว่าพอได้ยินข่าวเกี่ยวกับการแบนหนังเรื่องนี้แล้ว ทำให้ผมอยากดูมากครับ”

กำลังโหลดความคิดเห็น