xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” หนุนฟ้องศาลคุ้มครองฉุกเฉินขึ้นราคาก๊าซNGV-LPGไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “รสนา” หนุนเครือข่ายผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองคุ้มครองฉุกเฉินกรณีการปรับขึ้นค่าก๊าซ NGV และ LPG ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ส่วนกมธ.วุฒิสภา เตรียมยื่น ป.ป.ช.สอบสวนต้นทุนที่แท้จริง กังขาการคำนวณราคาก๊าซของสถาบันปิโตรเลียมและสูตรปรับราคาเอื้อประโยชน์ให้ภาคปิโตรเคมี สร้างกำไรให้เครือปตท.สูงเกินไปหรือไม่

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธาน กมธ. ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต การเสริมสร้างธรรมภิบาล วุฒิสภา กล่าวในงานสัมมนา “จับตายุทธการกินรวบประเทศไทย ตอน ขึ้นราคา NGV และ LPG ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการฯ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ในวันนี้ (11 ม.ค.) โดยเสนอว่า เครือข่ายผู้บริโภค ควรดำเนินการฟ้องศาลปกครองคุ้มครองฉุกเฉิน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงต้นทุนราคาก๊าซว่า ขึ้นราคาด้วยเหตุผลใด เพราะหากไม่ฟ้อง และปล่อยให้ขึ้นราคาในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ผู้บริโภคจะเดือดร้อน ในส่วน กมธ.จะพิจารณายื่นต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนว่า การปรับขึ้นราคาอยู่บนต้นทุนที่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูข้อมูลพบว่า ต้นทุนราคาในตลาดโลกถูกกว่าที่ ปตท. กล่าวอ้าง

น.ส.รสนา ได้ใช้ข้อมูลราคาตลาดจร หรือตลาดสปอต ก๊าซปากหลุม เฮนรี่ ฮับ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2554 ซึ่งเป็นราคาก๊าซปากหลุม ระบุว่า ราคาเอ็นจีวี อยู่ที่ 3.37 บาทต่อกก. ขณะที่ ปตท. ระบุราคาปากหลุมบวกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในไทยอยู่ที่ 8.39 บาทต่อกก. ซึ่งแตกต่างกัน

“ไม่ทราบว่า ค่าผ่านท่อ ค่าดำเนินการในสหรัฐฯ อยู่ที่เท่าไหร่ จึงอยากให้ ปตท. ชี้แจงต้นทุนที่แท้จริง” น.ส.รสนา กล่าว

ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการใช้ก๊าซ LPG ว่า พบกรณีไม่เป็นธรรมของก๊าซ LPG เป็นอย่างมาก ซึ่งรถยนต์ที่ใช้ LPG ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการให้ก๊าซไม่พอใช้ แต่ตรวจสอบแล้วตัวการคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือปตท. พอกลุ่มนี้ใช้ไม่เคยแจ้ง แต่เวลาแถลงข่าวว่าต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปรากฎว่าไม่ใช่นำเข้า LPG แต่นำเข้าเป็นก๊าซองค์ประกอบ ซึ่งรถยนต์ใช้ไม่ได้ แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเท่านั้นที่สามารถใช้ได้ แล้วเวลาสั่งจ่ายเงินชดเชย มติล่าสุดสั่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายแค่ 1 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆโดนกัน 5-10 กว่าบาท นี่คือหลายมาตรฐาน

นายอิฐบูรณ์กล่าวต่อว่า ถ้าเราจ่ายแพงแล้วเกิดกระจายรายได้ไม่ว่า แต่นี่ไปอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เปรียบเหมือนเราเสียดินแดนโดยถูกกำลังผูกขาดทางเศรษฐกิจครอบงำ

ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้น คำนวณแบบทั้งปี ถึงสิ้นปี 55 เงินที่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนของ NGV เพื่อให้ได้ก๊าซ 40 กก. จะเพิ่มอีก 140 บาท จากเดิมแท็กซี่จ่าย 340 บาท ต้องจ่าย 480 บาท ฉะนั้นบัตรเครดิตอะไรต่างๆ อย่าลืมรัฐบาลแค่สำรองจ่ายให้ก่อน แล้วไปจ่ายหนี้เองทีหลัง หากไม่จ่ายอาจถูกฟ้องยึดรถได้

ส่วน LPG จากเดิมที่ 45 ลิตร 500 บาท จะเพิ่มมา 220 บาท ต่อไป 45 ลิตรจะต้องจ่าย 720 บาท ง่ายๆ ทั้งปีขึ้นทั้งหมด 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อค่าตรงนี้เพิ่ม กลไกต่างๆ ทั้งระบบก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งภาระก็จะถูกผลักไปให้ผู้ที่ไม่มีปากมีเสียง

ด้านนายวงศ์ชัย ศรีไทย รองนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม โดยมีมติปรับขึ้นตั้งแต่ก.ค. 2554 ไตรมาสละ 3 บาท เป็นเวลา 1 ปี หรือรวม 12 บาทต่อกก. โดยที่ผ่านมาปรับขึ้นแล้วในเดือนก.ค.และต.ค. 2554 รวม 6 บาทต่อกก. และจะปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนเม.ย. 2555 อีก 3 บาทต่อกก. ขณะที่ภาคขนส่งจะเริ่มปรับม.ค. นี้ รวมแล้วปรับในปีนี้สำหรับภาคขนส่ง 9 บาทต่อกก.

นายวงศ์ชัย กล่าวต่อว่า เห็นได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และอุตฯ เซรามิค อุตฯ แก้วได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะใช้แอลพีจีเป็นต้นทุนร้อยละ 30-40 นับเป็นต้นทุนเพิ่มร้อยละ 28 ซึ่งหลังจากขึ้นราคาโรงงานเซรามิคได้ปิดตัวแล้ว 3 โรง และจากต้นทุนของไทยที่สูงกว่าจีน ทำให้ลูกค้าไปเลือกซื้อจากประเทศอื่นมากกว่า โดยโรงงานเซรามิคในลำปางเป็นรูปแบบคลัสเตอร์ โรงงานใหญ่จะรับออร์เดอร์มาจ่ายต่อ ขณะนี้ออร์เดอร์ลดน้อยลง และเมื่อต้นทุนสูงขึ้น คาดว่า โรงงานขนาดเล็กจะทยอยปิด คนงาน 5-6 พันคนจะทยอยตกงาน

นอกจากนี้ การที่กระทรวงพลังงานกำหนดการขึ้นราคา ให้ขึ้นเฉพาะผู้ที่ใช้แอลพีจีเป็นภาชนะขนาดใหญ่ หรือ (BULP) ขณะที่โรงงานที่ใช้ถังก๊าซแอลพีจีเป็นถังก๊าซครัวเรือน ราคาไม่ได้ขยับขึ้น ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม

นายวิทูรย์ แนวพาณิชย์ ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขต กทม. กล่าวว่า ในช่วงที่ คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติปรับขึ้นราคาก๊าซเมื่อ 4 ต.ค. 2554 และหลังจากนั้น ครม. มีมติเห็นชอบ ทางกลุ่มแท็กซี่ไม่ทราบเลยว่า รัฐบาลมีมติดังกล่าว เพราะช่วงนั้นกลุ่มแท็กซี่เร่งจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม มาทราบอีกครั้งช่วงที่ ปตท. เชิญหารือบัตรเครดิตพลังงาน ก็รู้สึกตกใจว่า ทำไมรัฐบาลถึงทำร้ายกลุ่มแท็กซี่ด้วยการปรับราคา โดยปัจจุบันต้นทุนทุกอย่างสูงมาก ทั้งค่าเช่า ค่าครองชีพ หากค่าก๊าซสูงขึ้น ทุกอย่างก็จะขึ้นหมด ทางกลุ่มไม่ต้องการเห็นการปรับค่าโดยสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น