xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 9 พรรค แค่เกาะกระแสหาเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมของชาติและโลกกำลังวิกฤตขึ้นทุกวัน แต่พรรคการเมืองของไทย กลับไม่เคยให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำกลุ่มทุนการเมืองทั้งหลายต่างช่วงชิงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อความเติบโตของธุรกิจ “ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ตัวแทนชาวบ้านฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมหลายคดี วิพากษ์นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง 9 พรรค ที่อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมืองในเวลานี้

หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา แวดวงการเมืองหรือคอการเมืองต่างคึกคักกันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหล่านักการเมือง ที่จะได้มีโอกาสเปลี่ยนพรรค เปลี่ยนอุดมการณ์ และแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตัวกันมากขึ้น โดยอ้างการเสียสละเพื่อพี่น้องประชาชนเป็นฉากบังหน้า

ในอดีตการเมืองไทยเรานั้นเวลาเข้าสู่ฤดูกาลหาเสียงแต่ละครั้ง แทบจะทุกพรรคการเมืองมุ่งเน้นที่ตัวบุคคลและหัวหน้าพรรคเป็นหลัก โดยไม่เคยสนใจเลยว่า เมื่อเข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแล้ว จะมีนโยบายอะไร ที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

มาในยุคหลัง ๆ นี้กระแสโลกาภิวัตน์ขับเคลื่อนรุนแรง ระบบคอมพิวเตอร์สื่อสารออนไลน์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กมาแรง การมุ่งเน้นการขายตัวบุคคลของนักการเมืองนับวันจะยิ่งเป็นเรื่องล้าสมัย โบราณ เต่าล้านปีขึ้นทุกวัน เพราะสถานการณ์การเมืองทั่วโลก ณ เวลานี้ เขาขายกันที่ “นโยบาย” และความเป็นไปได้ในเชิงนโยบายเป็นหลักแล้ว ประเภทที่ว่าใจสัตย์ซื่อ มือสะอาด มีคุณธรรม กลายเป็นเรื่องหลอกเด็ก ดูจะไม่ทันสมัยไปเสียแล้ว

ปัจจุบันพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นนโยบายในการหาเสียงกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม หรือนโยบายรัฐสวัสดิการ ก็แล้วแต่จะสรรหามาเสนอให้ประชาชนเลือก โดยที่บางครั้งไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าจะนำเงินหรืองบประมาณมาดำเนินการตามนโยบายเหล่านั้นมาจากไหนและอย่างไร นี่คือเงื่อนผูกที่เหล่านักการเมือง พรรคการเมือง ใช้เป็นกลซ่อนเล่ห์ไว้ ไม่ยอมบอกประชาชนหรือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงหาเสียง เพราะถ้าเปิดความจริงออกไปทั้งหมด ประชาชนจะไม่เลือกตั้งเข้ามาเสียก่อน
 

เนื่องจากเพลานี้กระแสสิ่งแวดล้อมทั่วโลกกำลังมาแรง ทั้งปัญหาโลกร้อน ปัญหาพิบัติภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน จำเป็นที่เราจะต้องหันมาดูว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่นำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อที่ประชาชนอย่างเราจะได้ใช้เป็นดุลยพินิจในการใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม หรือจะไป “No Vote” เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดมีนโยบายหรือตัวบุคคลที่ถูกใจเลยก็ยังได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีนักวิจัยหลายสถาบันร่วมกันเปิดเว็บ “ข้อมูลการเมืองไทย” เพื่อรวบรวมข้อมูล สถิติ นักการเมือง พรรคการเมืองอย่างรอบด้าน ล่าสุดนั้นได้ประเมินนโยบาย 5 พรรคการเมืองหลักกับปัญหาพื้นที่ ประกอบด้วยเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ การเมืองใหม่ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ในช่วง ม.ค.-มี.ค.2554 พบว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และภัยธรรมชาติที่ค่อนข้างชัดเจน มีคะแนนประเมินความชัดเจนของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และภัยธรรมชาติ 67% เท่ากัน พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา มีคะแนนประเมินความชัดเจนของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และภัยธรรมชาติ 17% เท่ากัน ภูมิใจไทยได้เกรดศูนย์

ดูตัวเลขดังกล่าว แล้วย้อนไปดูข้อเท็จจริงที่ปรากฏในนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองดังกล่าวไม่แน่ใจสถาบันดังกล่าวใช้หลักการวิจัยใดมาเป็นตัวกำหนดว่าแต่ละพรรคการเมืองข้างต้นมีนโยบายสิ่งแวดล้อมเด่นด้อยแตกต่างกัน เพราะข้อเท็จจริงที่พบดูจะขัดหรือแย้งต่อข้อสรุปของงานวิจัยดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง พอที่จะวิพากษ์ให้เห็นชัดเจน ดังนี้

พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทย มีนโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งเน้นระบบการขนส่งมวลชนระบบราง แต่กลับไปส่งเสริมให้มีการลดภาษีรถยนต์นับแสนบาทต่อคัน เพราะมันปฏิภาคกันอย่างรุนแรง ยานยนต์ที่มีมากอยู่แล้วก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง จนหาถนนวิ่งไม่พอ และแน่นอนบริษัทยานยนต์ก็จะอิ่มหมีพลีมันกันไปทั่วหน้า

ส่วนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้านปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยการถมทะเลจากปากอ่าวออกไป 10 กิโลเมตร พร้อมสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำทะเลในแนวยาว เพื่อป้องกันรักษาระดับน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาท่วมแผ่นดินได้ โดยจะถมทะเลเพื่อสร้างเมืองขึ้นมาหลังแนวเขื่อนเพื่อทำให้เกิดเป็นเมืองใหม่ มีสวนสาธารณะ มีทะเลที่สะอาด ที่จะพร้อมด้วยระบบผังเมืองและสาธารณูปโภคทุกชนิด

จากนั้น จะนำธุรกิจที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทยย้ายเข้าไปสู่เมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์ธุรกิจทางไอที คล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ ศูนย์กลางการรักษาพยาบาล ศูนย์กลางการเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคนี้ ทำให้ประชากรมีงานทำไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา จะต้องมีการคมนาคมที่สะดวก เช่น รถไฟฟ้า และ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับกรุงเทพได้สะดวกและภายในระยะเวลาอันสั้น โดยหากได้ศึกษาประเทศที่จะมีการเจริญเติบโตที่สูงแล้วจะพบว่า จะต้องมีการสร้างเมืองลักษณะนี้รองรับ เช่น เมือง Putrajaya และ Cyberjaya ในประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

นโยบายดังกล่าว เป็นฝันกลางวันที่ไร้ตรรกะที่สุดเท่าที่เคยเห็นนักการเมืองไทยคิดขึ้นมาได้ โครงการดังกล่าวจะสามารถทำได้ทันทีถ้าเมืองไทยมีระบบการปกครองเป็นสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ หรือระบบเผด็จการณ์นิยม ที่อำนาจสั่งการต้องมาจากผู้นำเท่านั้น จึงจะทำได้ ในขณะที่เมืองไทยเป็นระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย การจะดำเนินการทางนโยบายใดๆ ใช่ว่าคิดอะไรได้แล้วจะสามารถทำได้เลยทันที ในเมื่อประเทศเราเป็นนิติรัฐ การดำเนินการทางนโยบายใดๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายที่ดิน ฯลฯ

นอกจากเงินงบประมาณที่นักการเมืองจะใช้เป็นข้ออ้างนำมาถลุงนับล้านล้านบาทแล้ว ถามว่าจะเอาทรายเอาดินจากที่ไหนนับล้านล้านคิวบิกเมตรมาถมทะเล เส้นทางขนย้ายมาอย่างไร พื้นที่ใต้พื้นทะเลมีแต่โคลนเลนตะกอนปากแม่น้ำ ถมเท่าไรจึงจะเต็ม ความหลากหลายทางชีวภาพของบรรดาสัตว์น้ำกร่อยจะเสียหายไปเท่าไรและอย่างไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอาชีพการทำการประมงชายฝั่ง การเลี้ยงหอย แถบสมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม จะพินาศวอดวายไปเท่าไร อีกทั้งจะเป็นการปิดกั้นทางเดินของน้ำหลากในหลากหลายเส้นทางที่ต้องระบายสู่ท้องทะเล ก็จะกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคขึ้นมาทันที

จากการเพ้อฝันว่าจะแก้น้ำท่วมกลับจะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด กลายเป็นท้องทะเลน้ำจืดขึ้นมาทันที เพราะน้ำไหลระบายไม่ทัน พื้นที่ภาคกลางก็จะกลายเป็นอ่างกระทะรองรับน้ำที่ระบายออกไม่ทันทันที เพราะพื้นที่ที่ถูกถมทะเลปิดกั้นขวางทางน้ำนั่นเอง แค่คิดก็ขนลุกกันแล้วสำหรับนโยบายนี้

พรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายเร่งจัดหาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจาก พืชพลังงาน ลม แสงอาทิตย์ ชีวภาพและขยะ จัดโฉนดชุมชนให้เกษตรกรมีที่ทำกินอีก 250,000 คน บนที่ดินของรัฐ นอกจากนั้นจะบริหารอย่างสมดุล ยั่งยืน และเน้นการมีส่วนร่วม นอกจากนี้สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก จะนำมากำหนดให้เป็นทิศทางนโยบายของประเทศ ส่วนเรื่องภัยพิบัติและการเตือนภัยนั้นจะเน้นการทำงานแบบเป็นระบบ ใช้เทคโนโลยีในการเตือนภัย และในการป้องกันก็จะมีการกำหนดพื้นที่รับน้ำเชื่อมโยงให้เป็นระบบ

ส่วนเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะเน้นเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การปลูกป่าชายเลน หรือการนำไม้ไผ่มาทำเป็นเขื่อน ซึ่งดีกว่าการใช้เขื่อนคอนกรีต ขณะที่อุตสาหกรรมนั้นก็เน้นอุตสาหกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมการคัดแยกขยะ และจะสนับสนุนการลดใช้พลังงานให้เปลี่ยนจากพลังงานน้ำมันมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ขณะที่ระดับผู้บริโภคก็จะส่งเสริมให้ใช้หลอดแบบประหยัดไฟ สนับสนุนอาคารประหยัดพลังงานหรือ Green Building และจะเพิ่มพลังงานทางเลือกอีกด้วย นอกจากนี้จะใช้ระบบภาษี เข้ามาช่วยในการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่ใช้ทรัพยากรมาก หรือก่อมลพิษก็ต้องเสียภาษีมาก

เมื่อพิจารณาแล้ว ถือเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองที่จับฉ่ายที่สุด ประเภทอันโน้น อันนี้ก็อยากทำไปหมด ไม่มีประเด็นอะไรโดดเด่นเลย เพราะแม้ไม่ใช่พรรคการเมืองนี้ขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำเขาก็ต้องทำกันอยู่แล้ว เพราะมันอยู่ในแผน ในระเบียบ ในข้อกฎหมายที่มีแนวทางการทำงานของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ชื่นชมว่าเป็นนโยบายที่โดดเด่น ทำไมไม่ฟันธงไปเลยว่าจะจัดหาพลังงานทดแทนให้ได้ 40 % ภายใน 4 ปี หรือจะไม่อนุญาตให้มีอุตสาหกรรมมลพิษเกิดขึ้นในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ การนำที่ดินสาธารณะประโยชน์ของรัฐไปแจกให้กับชาวบ้าน หรืออาจจะมีหัวคะแนนสอดแทรกเข้ามาด้วยนั้น มีกฎหมายรองรับไว้เพียงใด มีแต่ระเบียบสำนักนายกฯ รองรับ จะไปเหนือกว่ากฎหมายที่ดิน กฎหมายอุทยานแห่งชาติฯ ที่เป็นกฎหมายหลักได้อย่างไร ระวังจะติดคุกกันทั้ง ครม. เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกันทั้งหมด

พรรคภูมิใจไทย

พรรคภูมิใจไทย มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ที่ปรากฏในข้อบังคับพรรค คือ นโยบายที่จะคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งพรรคนี้เห็นว่าประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมหรือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พรรคนี้เห็นว่าการลงทุนด้านเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไป โดยให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตั้งแต่น้ำเสีย ขยะและอากาศเป็นพิษ โดยจะมีการส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการจำกัดปริมาณมลพิษในชุมชนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม (นโยบายโฉนดคาร์บอนเครดิต) รวมทั้งให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

แต่ที่เทียบเคียงดูนโยบายที่ผ่านมาที่เป็นผลงานของพรรคแล้วพอจะจัดว่าเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นคือ นโยบายถนนปลอดฝุ่น และโครงการกรีดปุ๊บ เงินไหลปั๊บสร้างตู้เอทีเอ็มในไร่นา หรือโครงการปลูกยางพารา 8 แสนไร่นั่นเอง

แม้นโยบายถนนปลอดฝุ่นเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะคนชนบทก็เป็นคนไทยเหมือนคนในเมือง ในกรุงเทพฯ การที่จะได้ใช้ถนนคอนกรีตแทนถนนควายเดินนั้น เป็นสิ่งที่เป็นสิทธิที่คนชนบทควรที่จะได้รับอย่างเท่าเทียม แต่แท้จริงของนโยบายจะมองแค่สิ่งฉาบฉวยของนโยบายไม่ได้ ต้องดูว่าโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณตรงตามจุดเป้าหมายหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่เมกกะโปรเจคท์ ที่ถลุงงบประมาณกันให้อิ่มหมีพลีมันกันถ้วนหน้า เพราะบางถนนซึ่งเป็นถนนคอนกรีตดีอยู่แล้วก็ไปไถทิ้งเสียแล้วลาดยางหรือคอนกรีตใหม่ หรือบางถนนลาดยางไปแล้วไม่เกินเดือนกลายเป็นถนนพื้นที่ผิวพระจันทร์ เป็นหลุมเป็นบ่อเต็มไปหมด เป็นต้น

ส่วนโครงการปลูกยางพารา 8 แสนไร่ พบความจริงประการหนึ่งว่า มีการปั่นราคาต้นกล้ายางกันมากจากราคาที่รัฐจะจัดหาให้ต้นละ 18 บาท ปัจจุบันมีการซื้อขายกันในท้องตลาดราคามากกว่าต้นละ 50 บาท ทำให้พ่อค้านายทุนกล้ายางที่สนับสนุนพรรคการเมืองอิ่มหมีพีมันกันไปถ้วนหน้า

ในที่สุดเกิดกระแสบ้าปลูกยางขึ้นทั่วประเทศ ทำให้มีการบุกรุกทำลายป่าของชาติกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยที่ไม่มีมาตรการใดมาแก้ไขหรือจำกัดปัญหาในอนาคตเนื่องจากการปลูกยางเป็นพืชเชิงเดี่ยว ไม่มีรากแก้ว หากเกิดพายุ ฝนตกหนักทั่วประเทศ ต้นยางเหล่านี้มิอาจอุ้มรับน้ำฝนได้ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าภูเขาจะถล่ม ดินทลาย เกิดอุทกภัยกันทั้งประเทศ ความฉิบหายวายวอดจะเกิดขึ้นหรือไม่จากนโยบายดังกล่าว

พรรคชาติไทยพัฒนา

พรรคชาติไทยพัฒนา ถือว่าเป็นพรรคที่เป็นแนวอนุรักษ์นิยมบุคคลเป็นหลัก ขายชื่อเสียงของตัวบุคคลผู้สมัครของพรรคเป็นที่ตั้ง ตั้งแต่นักกีฬามวยโลก นักร้องดัง ดารา พิธีกร จะฉลาดหรือเขลาไม่สนใจ ดังนั้นแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นมาในข้อบังคับของพรรค จึงเป็นเพียงสูตรสำเร็จที่กำหนดไว้เพื่อไม่ให้ตกกระแสเท่านั้น แต่ความโดดเด่นทางด้านนี้ไม่มีเลย เนื่องจากในอดีตของรัฐบาลที่ผ่านมาคนของพรรคได้เป็นรัฐมนตรีหลักทางด้านเกษตร ที่มักมีโครงการที่ขัดแย้งกับภาคประชาสังคมมาโดยตลอด ทั้งการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมง และแนวคิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ฝายกั้นแม่น้ำ ลำธารต่าง ๆ เป็นต้น โครงการต่างๆ จึงดูจะขัดหรือแย้งกับนโยบายหลักของพรรคเป็นอย่างมาก
 
โดยเฉพาะนโยบายข้อแรกตามข้อบังคับพรรคที่ระบุว่ามีนโยบายคุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ แร่ธาตุ ทะเลและชายฝั่ง บนพื้นฐานของความสมดุลของธรรมชาติ เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาแบบยั่งยืน รวมทั้งนโยบายที่จะจะควบคุมมลพิษจากทุกแหล่งไม่ให้สร้างความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม จัดการของเสียอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ กำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหามลพิษ ปรับปรุงกฎหมายและแนวทางปฏิบัติในการจัดการมลพิษให้เคร่งครัดชัดเจนและทันสมัย

พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นพรรคจับฉ่ายอีกพรรคหนึ่งของแวดวงการเมืองไทย ที่ชอบเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นว่าเล่น เปลี่ยนไปตามกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาผสมพันธุ์ร่วมกันนั่นเอง จึงไม่มีจุดยืนทางนโยบายที่ชัดเจนพรรคจึงเป็นศูนย์รวมของพวกนักการเมืองรุ่นเก่าลายคราม แต่พยายามสร้างสีสันด้วยการเอาไม้ประดับรุ่นใหม่ที่กระสันอยากเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วม เช่น อดีตนักกีฬาระดับโลก และระดับประเทศ นักร้องที่มีชื่อเสียง

ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคนี้จึงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แต่จะมุ่งเน้นไปที่นโยบายด้านกีฬาเป็นหลักเพราะนายทุนพรรคโปรดปรานด้านกีฬาเป็นหลักนั่นเอง หากแต่จะพอมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างแต่ก็ไปแฝงไว้ในนโยบายด้านอื่น เช่น นโยบายเปิดประตูการค้าสู่อันดามันด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศ เช่น ท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งคนสตูลทั้งจังหวัดออกมาคัดค้านกันเต็มท้องถนนแล้ว ฯลฯ

นโยบายสร้าง motorway 5 สาย 5 ภูมิภาค ระยะทางไม่น้อยกว่า 800 กม. โดยไม่ยอมบอกว่าสายที่มุ่งไปอีสานนั้นต้องพาดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อมรดกโลกแล้วจะทำอย่างไร นโยบายขยายพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกแห่งใหม่คู่ขนานกับ Eastern Seaboard ทั้ง ๆ ที่ปัญหามาบตาพุด บ้านฉาง แหลมฉบัง ยังไม่มีปัญญาสามารถแก้ปัญหาได้ แต่กลับจะเพิ่มปัญหาให้กับชาวบ้านเข้าไปอีก

ส่วนนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าพลังงานฐานเกษตร แม้จะดูดีแต่ในอดีตที่ผ่านมารัฐมนตรีพลังงานที่มาจากพรรคนี้ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาพลังงานภาคการเกษตรใด ๆ เลย มีแต่จะหาทางควักเอาเงินจากกระเป๋าของผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ไปโป๊ะให้กับพ่อค้านักธุรกิจขนส่งและเอกชนที่ใช้น้ำมันดีเซล

แว่วเสียงมาว่าพรรคนี้จะไม่สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะจริงหรือไม่ยังไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในนโยบายของพรรค แต่ในสมัยที่รัฐมนตรีจากพรรคนี้ดูแลกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ยกร่างแผนพลังงานของชาติ หรือ PDP-2010 ที่บรรจุการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้กว่า 10 โรงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ 5 โรง จะมีคำตอบให้กับสังคมได้อย่างไร หรือหน้าไหว้หลังหลอก ตามธรรมชาติของนักการเมืองไทย

พรรครักษ์สันติ

พรรครักษ์สันติ พรรคนี้แค่เริ่มต้นก็นำมาซึ่งความขัดแย้งในการแย่งตัวบุคคลมาตั้งพรรคแล้วกับพรรคประชาสันติ หากพรรคจะยึดแค่ตัวบุคคลเป็นที่ตั้งก็คาดหวังจะมองเห็นอนาคตก็คงไม่เจอ ก็คงไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองในอดีตที่เกิดขึ้น และล้มหายตายจากไปพร้อมกับการลาออกของหัวหน้าพรรค หรือประธานที่ปรึกษาพรรค หรือประธานพรรคตามที่จะดัดจริตตั้งชื่อเอากันเพื่อเลี่ยงกฎหมาย พรรคนี้เริ่มประกาศตัวว่าจะเป็นพรรคการเมืองสีเขียวหรือพรรคกรีน แต่เมื่อพิจารณาถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแล้วก็แทบจะไม่มีอะไรโดดเด่นเลย นอกจากการมุ่งเน้นนโยบายจัดระเบียบสังคม ตามที่เคยสร้างชื่อให้
 
ส่วนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นคัตเอาท์ทั้วเมือง อาทิ นโยบายรักไทยรักษ์โลก ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม Eco-tourism รักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ Green energy : พลังงานสีเขียว สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกชนิดต่างๆ เช่น พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ bio-mass หรือพลังงานชนิดต่างๆ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดภาษีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มภาษีสินค้าทำลายสิ่งแวดล้อม ต้านภัยธรรมชาติ รักษาต้นน้ำลำธาร ป้องกันการบุกรุกป่า นำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

พรรคกิจสังคม

พรรคกิจสังคม แม้จะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นพรรคเก่าพรรคแก่พรรคหนึ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อุตสาห์ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2517 เจ้าของนโยบายประชานิยมที่แท้จริง ตั้งแต่ยุคแรกคือ นโยบายเงินผัน นั่นเอง แต่ทว่าพรรคนี้ก็มิได้คงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง มีการยุบพรรค และจัดตั้งพรรคใหม่หลายหน จนล่าสุดก็ก่อตั้งขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อปี 2551 ในขณะที่ประธานที่ปรึกษาพรรคซึ่งเป็นนายทุนพรรคตัวจริงได้เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

มาดูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคนี้ซึ่งคิดว่าน่าจะมีอะไรที่โดดเด่น เพราะเป็นเจ้ากระทรวงสิ่งแวดล้อมมานาน แต่พบว่านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแทบจะไม่มีอะไรโดดเด่นเลย ไม่ต่างอะไรกับนโยบายของพรรคการเมืองอื่น แต่อาจจะมุ่งเน้นมากหน่อยในด้านการสร้างความสุขให้กับมติของสิ่งแวดล้อมดี มีความสุขรักษาสิ่งแวดล้อมไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน ลดภาวะโลกร้อน โดยนำขยะและสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปลงเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มรายได้เกษตรกร ลดปริมาณขยะ และส่งเสริมรายได้จากการทำ carbon trade รณรงค์สร้างมาตรการจูงใจเพื่อการประหยัดพลังงานในประเทศ และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและการใช้พลังงานทดแทนจากพืชที่มีความสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ พัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีความปลอดภัย เช่น แสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกป่ารักษาต้นน้ำ เพื่อสร้างความสมดุลในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสัตว์น้ำที่หายาก รวมทั้งขยายพันธุ์สัตว์ให้ดำรงอยู่ เพื่อสร้างและฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งต้นน้ำ ตลอดจนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก และฝายต้นน้ำ ลดมลภาวะเสียง กลิ่น และอากาศ วางมาตรการกำจัดขยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

นโยบายเด่นที่อาจจะสร้างชื่อหรือทำลายชื่อพรรคนี้ให้จมดินก็คงไม่พ้นนโยบาย “ประปาระบบท่อ” อภิมหาบิ๊กโปรเจกท์ ที่พรรคนี้พยายามขายไอเดียมาโดยตลอด ลงทุนล่ารายชื่อชาวบ้านมาสนับสนุนจนล้นหลาม แต่เอาเข้าจริงกับมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งระบบท่อแตก น้ำไม่มี การบำรุงรักษาระบบที่แสนแพงไม่รู้จะให้ใครมารับผิดชอบ

พรรคมาตุภูมิ

พรรคมาตุภูมิ ซึ่งแปรสภาพมาจากพรรคราษฎรของกลุ่มปากน้ำ พยายามที่จะสร้างภาพของพรรคว่าจะเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อสร้างสมานฉันท์ลดความขัดแย้ง และความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง ๆ ที่หัวหน้าพรรคคือปฐมบทของความขัดแย้งของสังคมไทยในวันนี้ ถ้าปรากฏการณ์ 19 กันยายน 2549 ไม่เกิดขึ้น สังคมไทย ณ วันนี้อาจจะไม่มีการเมืองเรื่องสีเสื้อเกิดขึ้นก็เป็นได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดการณ์ของนักวิพากษ์การเมืองเท่านั้น เพราะใครจะรู้ว่าหากไม่มี 19 กันยา สังคมไทยอาจจะมีคอรัปชั่นมากกว่านี้เต็มบ้านเต็มเมือง หรือประเทศชาติถูกเล่ห์ขายให้กับบริษัทต่างชาติ จนไม่มีที่ดินจะยืนอยู่กันแล้วก็ได้

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคนี้ เป็นเพียงการลอกการบ้าน เขียนไว้ให้ดูดี แต่ยังไร้ซึ่งแผนงานที่เป็นรูปธรรมว่าจะมีแนวทางทำได้เช่นไร อาทิ นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและเหมาะสม มุ่งให้การศึกษาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญ และคุณค่าของระบบนิเวศน์ รวมทั้งทรัพยากรของชาติแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง เร่งรัดและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดมลภาวะที่มีผลกระทบต่อสุขอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ส่งเสริมให้มีการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ควบคู่ไปกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการปฏิบัติตามและการใช้ข้อกำหนดตามพันธกรณีหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ สนับสนุนให้มีมาตรการในการควบคุมการลงทุน และการนำเข้าสารเคมี สารพิษและวัตถุอันตราย โดยยึดถือมาตรฐานสากลของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อป้องกันมิให้ประเทศไทยเป็นสถานที่รองรับการลงทุนที่ล้าสมัยและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชน และป้องกันมิให้เป็นสถานที่ทดลองหรือรองรับการจำหน่ายสารพิษและวัตถุอันตรายที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

พรรครักประเทศไทย

พรรครักประเทศไทย มีนโยบายพรรคที่โดดเด่น คือ การประกาศตัวจะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ต่อต้านการคอร์รัปชั่น แต่สำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว พรรคนี้แม้จะกำหนดไว้ แต่ก็เพียงเพื่อให้ดูว่ามี และไม่ตกกระแสเท่านั้น

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคนี้ คือ นโยบายสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ส่งเสริมการอนุรักษ์ ควบคุม ดูแลแหล่งน้ำ มิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักอนุรักษ์ พรรคจะสนับสนุนปลูกฝังให้เด็ก เยาวชนและประชาชนตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนป้องกันและปราบปรามการบุกรุกและตัดไม้ทำลายป่า

แต่ที่ดูว่านโยบายที่ดีแต่เมื่อไปดูนโยบายอุตสาหกรรมกลับจะเป็นปฏิภาคกันเสียนี่กระไร นั่นคือ นโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรมส่งออกในชนบท โดยที่ไม่บอกกล่าว่าแล้วนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมที่มีนับ 100 แห่งทั้งของรัฐและเอกชนปัจจุบันนี้จะจัดการปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ และปัญหาสุขภาพอนามัยของคนงาน ชาวบ้านอย่างไร

9 พรรคการเมืองดังกล่าวข้างต้นที่เชื่อว่าพอที่จะมี ส.ส.เกิดขึ้นได้บ้างมากบ้างน้อยบ้างหลังวันที่ 3 ก.ค.นี้ แต่ถ้าจะให้ฟันธงไปเลยว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของไทย ไม่เคยให้ความสำคัญกับการปกป้อง ดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติเลย
 
การเขียน บัญญัติ หรือกำหนดเป็นนโยบายของพรรคก็เป็นเพียงเพื่อให้ดูดี เกาะติดไปตามกระแส เพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าได้ว่าไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หรือไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเลย ในขณะที่สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของชาติ และของโลกกำลังวิกฤตขึ้นทุกวัน การช่วงชิงแก่งแย่งการใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มทุนของพรรคการเมืองทั้งหลายที่บริจาคให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ระดมหาทุนเข้าพรรคในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น ความหวังที่สังคมไทยจะพึ่งพานักการเมือง เพื่อให้มาดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของชาติ คงจะเลือนรางไปทุกที ดังนั้น คงไม่พ้นที่ชาวไทยทุกคนจะร่วมมือกันปกป้องทรัพยากรของชาติเราด้วยพลังของมือพวกเราด้วยกันเอง ส่วนพวกนักการเมืองหรือกินเมือง ไล่พวกมันให้ตกเวทีการเมืองไปเสียเถอะ








กำลังโหลดความคิดเห็น