xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! “กลุ่มนิติราษฎร์บ้านนอก”รับไม้ต่อนิติราษฎร์ท่าพระจันทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร. บัวพันธ์ พรหมพักพิง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาแบบยั่งยืน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.
รายงาน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)เป็นสถาบันการศึกษาในภูมิภาคแห่งแรก ที่มีบุคลากร-องค์กรภายในรับลูกการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มนิติราษฎร์”สร้างกระแสขยายแนวร่วมมวลชนในพื้นที่ แก้ไข กม.มาตรา 112 จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “แก้ไข-เพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฟื้นฟูประชาธิปไตย”  โดยใช้อาคารขวัญมอเป็นสถานที่จัดงานเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา

เวทีเสวนาดังกล่าวกำหนดตัววิทยากรหลัก คือ รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายพรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ตัวแทนจาก คณะรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 (กลุ่มนิติราษฎร์) และมีนายศรายุทธ ศิลา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.)เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทันทีที่ข่าวแพร่กระจายออกไปถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งสังคมภายในมหาวิทยาลัยและสังคมภายนอกต่างไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของบุคคลเหล่านี้ ถือมีเจตนาสอดรับกับกลุ่มนิติราษฎร์ที่กำลังขับเคลื่อนแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 มีเป้าหมายต้องการล้มสถาบันหลักของชาติที่คนไทยทั้งชาติเทิดทูนเหนือเกล้า เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าหากแผ่นดินไทยไม่มีสถาบันกษัตริย์เป็นเสาค้ำมาแต่บรรพบุรุษ ป่านนี้แม้แต่เพลงชาติไทยอาจไม่มีร้อง

ที่น่าอดสูยิ่ง การป่าวประกาศจัดเสวนาครั้งนี้ คณะผู้จัดงานยังได้แจ้งให้ผู้ที่จะเข้าร่วมเวทีเตรียมสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชนเพื่อใช้เป็นหลักฐานลงชื่อสนับสนุนการแก้มาตรา 112 อีกด้วย ประกาศชนกับกระแสสังคมอย่างอหังการ!

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาเปิดเวที กลับไม่มี รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง ขึ้นเป็นวิทยากร เหลือแต่ นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความทำคคีหมิ่นพระบรมฯของดา ตอร์ปิโด วาด รวี กวีจากกลุ่มแสงสำนึกและนายพรชัย ยวนยี ตัวแทนจากสนนท.

ข่าววงในแจ้งว่าที่ รศ.ดร. บัวพันธ์ ต้องถอนตัวเพราะถูกสังคมรอบข้างรวมถึงผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยบางส่วนตำหนิและกดดัน เพราะหากเขาขึ้นเป็นวิทยากรเองนั่นเท่ากับตอกย้ำให้สังคมเข้าใจว่าสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้การสนับสนุนการล้มล้างสถาบันอย่างปฏิเสธไม่ได้
การ์ดเชิญชวนเข้าร่วมงานเวทีเสวนา
สำหรับ รศ.ดร. บัวพันธ์ พรหมพักพิง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาแบบยั่งยืน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.สอนประจำอยู่ภาควิชาการพัฒนาชุมชน หากย้อนดูบทบาทของ รศ.ดร. บัวพันธ์ ในรอบ 10 ที่ผ่านมาจะพบว่าเขามักแสดงทรรศนะเชิงอคติต่อสถาบันเบื้องสูงเป็นระยะๆ เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน ( กสส.) เป็นประจำ ซึ่งกลุ่ม กสส.นั้นเป็นที่รับรู้ภายในของหน่วยข่าวของรัฐว่าไม่เอาสถาบันที่คนไทยเทิดทูน

กระนั้นก็ตาม คนจำนวนมากคงยังไม่ทราบว่า รศ.ดร.บัวพันธ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2553 จากที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ณ หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ปีเดียวกัน

รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาตินั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อยกย่องอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการ มีงานวิจัยที่ดีเด่น มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ มีจริยธรรม และ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่าง ๆ

หลายคนทราบแล้วอาจแคลงใจว่า เขาได้รางวัลดังกล่าวมาได้อย่างไร ทั้งที่จุดยืน แนวคิดของเขาสวนทางกับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่ควรได้รับการยกย่องที่สำคัญว่า “....มีจริยธรรม และ อุทิศตนเพื่อส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่าง ๆ …”

ย้อนกลับไปบนเวทีเสวนาบ่ายวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความดา ตอร์ปิโด กล่าวตอนหนึ่ง กรณีปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ว่า หัวใจสำคัญคือผู้พิพากษาที่มีทัศนคติว่าพวกตนตัดสินคดีภายใต้พระปรมาภิไธย ของในหลวง อาจคิดไปว่าตนเป็นคู่กรณีของจำเลยซะเอง อาจตัดสินคดีเลยไปไกลจากตัวบท เช่น จำเลยกรณีของนายบัณฑิต อานียา เขียนหนังสือชักจูงให้คนไม่รัก ทั้งที่ไม่มีกำหนดไว้ในมาตรานี้เลย หากเป็นจำเลยเสื้อแดงก็มักถูกตัดสินหนัก แต่หากเป็นเสื้อเหลืองแบบ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกดำเนินคดีนี้ ป่านนี้เรื่องก็ยังไม่ไปถึงไหน หรือคดีนายโชติศักดิ์ ที่ไม่ยืนในโรงหนังมีการส่งฟ้อง แต่คนที่ทำร้ายนายโชติศักดิ์ในโรงหนังกลับไม่ถูกดำเนินคดี เพราะกระบวนการยุติธรรมไทยเห็นว่าเป็นการปกป้องสถาบัน
ป้ายรณรงค์ให้มาตรา 112 ที่มีอยู่ทั่วมข.
ขณะที่ วาด รวี กวีกลุ่มแสงสำนึก ระบุว่า สถาบันตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาหลายกรณี และถูกทำให้ถลำลึกสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่คนในแวดวงราชสำนักก็กระทำการในทางที่ไม่สมควร เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เดินสายพูดให้ทหารทำรัฐประหาร 19 กันยา จากนั้นพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีคนหนึ่งก็มาเป็นนายกฯหลังรัฐประหาร แล้วก็ขึ้นเงินเดือนให้องคมนตรี

ต่อมาพลเอกเปรม ก็มาพูดเชียร์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าคนไทยโชคดีที่ได้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ทั้งที่รัฐธรรมนูญตราไว้ว่าให้องคมนตรีเป็นกลางทางการเมือง สถาบันฯจึงถูกทำให้ลงมาพัวพันกับการเมือง และถูกอ้างว่ามีการล้มเจ้า ขณะที่มาตรา112ถูกบังคับใช้ภายใต้บรรยากาศ 2 มาตรฐาน และขัดกับอุดมการณ์ที่เรียกว่า"ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แต่สนองตอบอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ซึ่งข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้นเสนอแก้ไขให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสนองพระราชดำรัสในหลวงเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใครสนองพระราชดำรัสมาก่อนเลย

นี่เป็นเพียงบางส่วนของแนวคิดที่สะท้อนบนเวทีเสวนาดังกล่าว ไม่ต้องอธิบายต่อว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ ลึกๆแล้วมีทรรศนะอย่างไรกับสถาบันหลักของชาติ

ไม่เพียงเฉพาะในรอบรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่นเท่านั้นที่ มีกลุ่มบุคคลพยายามจุดประกายสร้างกระแสขยายแนวร่วมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลง กฎหมาย มาตรา 112 ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) กลุ่มนักศึกษาที่อ้างว่าสังกัดวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มมส. ได้ยื่นขอใช้สถานที่เพื่อจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์”เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

แต่คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ของวิทยาลัยฯเพื่อการจัดงานดังกล่าว สร้างความไม่พอใจต่อคณะทำงานดังกล่าวไม่น้อย พร้อมทั้งยื่นหนังสือขอคำชี้แจงเหตุที่ไม่อนุญาตให้จัดงาน

หากพิเคราะห์สถานการณ์แล้ว เชื่อว่าความเคลื่อนไหวเพื่อปลุกกระแสสร้างแนวร่วมในการผลักดันเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 คงไม่ยุติง่ายๆ แม้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยจะลุกออกมาต่อต้านการขับเคลื่อนของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้

เพราะกลุ่มบุคคลที่มีทัศนะคติเชิงลบต่อสถาบันเบื้องสูงในภูมิภาคได้ออกมารับไม้ต่อจากกลุ่มนิติราษฎร์อย่างเป็นขบวนการแล้ว ไม่เฉพาะแต่ในรั้ว มข. และ มมส. เท่านั้น

สังคมต้องจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่ม “นิติราษฎร์บ้านนอก”กันต่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น