xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพฯวิบัติ รัฐบาล-กทม.-บชน.รวมหัวจัดสรรผลประโยชน์ทางเท้าละเมิดสิทธิประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างอุจาดทัศน์บนทางเท้า ที่มีทั้งตู้ยามเทศกิจ, ป้ายจราจร,แผงความคุมโทรศัพท์ และหาบเร่แผงลอย
ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสกายวอร์ก ผลงานชิ้นโบว์ดำของผู้บริหารกทม.วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล-กทม.-บชน.ที่รวมหัวกันจัดสรรผลประโยชน์ต่างตอบแทนบนทางเท้า เพื่อหาเสียง หาเงินเข้ากระเป๋า ปล่อยให้กรุงเทพฯวิบัติ ละเมิดสิทธิการใช้ทางเท้าของประชาชนกว่า 5.7 ล้านคน

นิยามของ "ทางเท้า" : มีความหมายว่า “ส่วนหนึ่งของถนนที่ทำไว้ให้คนเดิน” หรือ “ส่วนหนึ่งของถนนที่ทำไว้ให้คนเดินอยู่ข้างหนึ่งของทางหรือทั้งสองข้างของทาง และส่วนที่อยู่ชิดขอบทาง ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน” แต่ถ้าเป็นความหมายอย่างเป็นทางการตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายไว้ว่า “ทางข้างถนนที่มักยกสูงขึ้นสำหรับให้คนเดิน”

แต่สำหรับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช รมต.คลัง คงจะให้ความหมายอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า “ทางที่มีไว้สำหรับให้นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ใช้หาเสียงในโครงการประชาภิวัฒน์” ส่วน กทม. และ บชน. คงจะให้ความหมายไว้ว่า “ทางที่พวกฉันผู้มีอำนาจจะอนุญาตให้ใคร ๆ มาใช้ก็ได้” กระมัง

“ทางเท้า” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงกลายเป็น “พื้นที่จัดสรรผลประโยชน์ต่างตอบแทน” ที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่สามารถปกป้อง หรือรักษาประโยชน์ให้กับสาธารณชนหรือคนส่วนใหญ่ให้สามารถได้ใช้เดินได้อย่างสะดวกได้ แต่กลับนำพื้นที่เหล่านี้ไปประเคนให้คนกลุ่มน้อยได้ใช้ประโยชน์ เพื่อแสวงหาประโยชน์และผลกำไรซึ่งกันและกันซึ่งเป็นปัจเจกชน
อีกตัวอย่างทางเท้าที่มีทั้งตู้ยามจราจรติดแอร์,เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เหลือพื้นที่เดินให้ประชาชนแค่เล็กน้อย
“ทางเท้า” จึงเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึง วิสัย และพฤติการณ์ ที่แสดงเจตนาละเว้น เพิกเฉย ต่อการกระทำผิดกฎหมาย หรือคล้อยตาม หรือเห็นดี เห็นชอบในสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในระบบการปกครอง หรือบังคับใช้กฎหมาย ของหน่วยงานของรัฐในฐานะผู้กำกับดูแลของสยามประเทศแห่งนี้ เลยทีเดียว

นอกจากจะไม่กวดขัน สั่งห้าม ไม่ให้ผู้ใดมาใช้ประโยชน์ทางเท้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว... แต่กลับรวมหัวกัน โดยอ้างข้อกฎหมายที่ทึกทักเขียนขึ้นกันเอาเองโดยพลการ มาละเมิดสิทธิของประชาชน

ดังที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ คงจะจำกันได้ว่า กทม. ได้ทำเรื่องเสนอขออนุญาตไปยัง บชน. เพื่อขอเพิ่มจุดผ่อนผันให้กับหาบเร่แผงลอยเพิ่มเติมอีกทั้งสิ้น 275 จุด ตามนโยบายประชาวิวัฒน์ของนายอภิสิทธิ์ และนายกรณ์ จากเดิมที่เคยมีผู้ค้าอยู่แล้วกว่า 666 จุด จำนวนผู้ค้ากว่า 20,275 คน นอกจุดผ่อนผันมีอีกกว่า 670 จุด จำนวนผู้ค้ามีอีกกว่า 17,731 คน

คิดแต่จะหาเสียง หรือสนองตัณหาทางการเมือง หรือผลประโยชน์ส่วนตนให้คนกลุ่มเล็ก แต่กลับไปละเมิดสิทธิการใช้ทางเท้าของชาวบ้านคนส่วนใหญ่กว่า 5.7 ล้านคน (ตามทะเบียนราษฎร์) โดยไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายหลักที่มีอยู่ให้ครบถ้วนเสียก่อน
พื้นที่ตั้งร้านค้าย่อยบนเป็นหลัก พื้นที่สำหรับเดินแค่เศษเสี้ยว
นั่นคือ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังเสียงประชาชน พ.ศ.2548” โดยการเปิดเวทีทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ว่าเขาต้องการหรือเห็นด้วยหรือไม่หรือที่จะอนุญาตให้ กทม. และ บชน. ปล่อยให้มีหาบเร่-แผงลอย เพิ่มขึ้น หรือให้คงมีอยู่หรือไม่ อย่างไร หรือจะปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิเขาได้ต่อไปหรือไม่

กทม. และบชน. ก็เป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายของประเทศไทย มิใช่หรือ กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่รัฐอิสระที่คิดอยากจะใช้อำนาจทางปกครองอย่างไรก็ทำได้

นอกจากนั้น บางจุดมีทางเท้าเสียแสนกว้าง แต่ดันมี “ตู้ยามตำรวจจราจร” มาตั้งขวางเสียเต็มทางเท้า มีช่องทางให้คนเดินไม่ถึงเมตร ทั้งๆ ที่ความจำเป็นที่จะต้องมีตู้ยามตำรวจจราจรปัจจุบัน แทบไม่มีความจำเป็นอยู่แล้ว เพราะระบบไฟจาจรสามารถควบคุมได้ด้วยระบบอัตโนมัติ จากศูนย์ควบคุมจากส่วนกลาง หรือถ้าจะใช้มือควบคุมในยามวิกฤตก็แค่ตั้งแผงตู้ไฟเล็ก ๆ เอาก็ได้เหมือนในต่างจังหวัด มิใช่ปล่อยให้เป็นที่หลับ ที่นอน ที่หลบมุมของตำรวจจราจร ที่สำคัญมีคนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ไม่รู้จะไปร้องเรียนเอากับใคร และคนทั่วไปคงอยากจะถามว่า “ใครอนุญาตให้หน่วยงานนี้มาสร้างสิ่งปลูกสร้างเกะกะทางเท้าเยี่ยงนี้”

ไม่แค่นั้น กทม.และ บชน. ยังปล่อยให้มีการขุดถนน ขุดทางเท้า กองดินหินทรายปูน ขวางทางเดินเท้าของชาวบ้านอีกแบบไม่สนใจ และก่อสร้างรถไฟลอยฟ้าได้อย่างสบาบใจ ไม่มีมาตรการบังคับที่เข้มงวดในการที่จะไม่ทำให้เศษดินหินทรายฟุ้งกระจายออกมาเต็มท้องถนน บางแห่งปล่อยให้ผู้รับเหมาทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เปิดหน้างานแบบรอนแรมค้างปี ไม่มีสัญลักษณ์หรือไฟสัญญาณ ไม่มีการเร่งรัดงานให้จบตามกำหนดระยะเวลา โดยยอมรับในข้ออ้างต่าง ๆ นานาของผู้รับเหมาทั้งสิ้น
รื้อปรับปรุงก่อสร้าง กองวัสดุเกลื่อน
ผิดกับในต่างประเทศ เขากำหนดกันชัดเจนว่าการก่อสร้างใด ๆ ต้องปิดคลุมสิ่งก่อสร้างอย่างมิดชิด ห้ามเล็ดลอดออกมาภายนอก หรือให้ตนเห็นได้ ดินที่ขุดขึ้นมาต้องมีวัสดุมารองรับและห่อไว้มิดชิดไม่ให้ฟุ้งหรือแพร่กระจาย และการเปิดหน้างานต้องทำเฉพาะในระยะทางที่สามารถทำเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าทำไม่ทันมีโทษปรับสูงมาก ผิดกับกรุงเทพมหานครราวฟ้ากับนรก

เราต้องไม่ลืมว่า ทางเท้าเป็นพื้นที่ที่สงวนเอาไว้ให้สำหรับคนเดิน เป็นทางสัญจรไปมา ทางเท้าส่วนใหญ่มีความกว้างไม่มากนักแต่โดยเฉลี่ยแล้วมีแค่ประมาณ 2 เมตรเท่านั้นเอง (บางพื้นที่อาจจะแคบกว่านี้ บางพื้นที่อาจจะกว้างกว่านี้) แต่ส่วนใหญ่แล้วจะกว้างพอให้คนเดินสวนไปมาได้อย่างสบาย

แต่เท่าที่พบจะเห็นว่า บนทางเท้าบางแห่งมีสิ่งระเกะระกะตั้งอยู่มากมายเหลือคณานับครับ ไล่มาตั้งแต่ตู้ยามตำรวจจราจร ป้อมยามเทศกิจ ตู้โทรศัพท์ของรัฐวิสาหกิจและเอกชน เสาไฟฟ้า ตู้ไปรษณีย์ ป้ายโฆษณาสินค้า ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ป้ายบอกทาง ป้ายบอกอาคารสถานที่ของรัฐและเอกชน ฯลฯ

พื้นที่เหล่านี้เป็นทางสาธารณะที่กฎหมายเขากำหนดให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแลหลัก ตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 เขากำหนดให้ผู้ว่าราชการ กทม.มีหน้าที่ดำเนินนโยบาย และบริหารราชการ กทม. ให้เป็นไปตามกฎหมายและรักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของ กทม. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น กทม. จึงมีอำนาจหน้าที่เพียงต้องดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 อีกทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ด้วย อาทิ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การสาธารณสุข และการดูแลรักษาที่สาธารณะ
พื้นที่สำหรับบริษัทธุรกิจ
แต่การที่ปล่อยให้มีหน่วยงานของรัฐ เช่น บชน. มาสร้างตู้ยามตำรวจจราจรเต็มทางเท้าจนชาวบ้านเดินแทบไม่ได้นั้น หมายความว่าอย่างไร

การปล่อยให้มีรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน มาตั้งตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ขวางทางเท้าเต็มบ้านเต็มเมือง ปล่อยให้ทำได้อย่างไร

การไปแสวงหากำไรและผลประโยชน์โดยให้เอกชนมาติดตั้งป้ายโฆษณา ขวางการมองเห็นของผู้โดยสารที่รอรถเมล์ รถแท็กซี่ อยู่แทบทุกป้ายรถเมล์นั้น คิดได้อย่างไร เอาอวัยวะส่วนไหนมาคิด

และที่มีปัญหามากที่สุด ณ เวลานี้ คือ การปล่อยให้มี “หาบเร่แผงลอย” เต็มทางเท้า บางที่เลยเถิดมาบนถนนด้วย นอกจากนั้นบางแห่งก็ยังปล่อยให้มีร้านค้าตั้งแผงยื่นล้ำเข้ามาบนทางเท้าได้อีกด้วย ร้านค้าหรือตึกแถวบางแห่งเอากระถางต้นไม้ กวยยาง หรือแผงกั้น มาตั้งวางในลักษณะ “หวง” ทางเท้าสาธารณะหน้าบ้านตัวเองเลยไปจนถึงถนนหน้าบ้านตนเองก็มี

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้พื้นที่ทางเท้าในบางแห่งแคบลงจนในบางครั้งถึงขนาดเดินไม่ได้กันเลยทีเดียวครับ คนเดินเท้าจำเป็นต้องไปเดินบนท้องถนน เสี่ยงถูกรถเฉี่ยวรถชนกันทุกวัน ถ้าจะถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้นได้... ก็ต้องตอบว่า

“ก็เพราะพวกผู้บริหาร กทม. และพวกนายตำรวจใหญ่ ใน บชน. ไง” ปล่อยปละละเลย
แผนงานโครงการสกายวอล์กของกทม.
เมื่อนานเข้า กทม. ถูกตำหนิ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในการบริหารจัดการหาบเร่-แผงลอยเหล่านั้น ก็เลยหาทางออกโดยซุกปัญหาดังกล่าวไว้ใต้พรม แล้วไปก่อปัญหาอันใหม่ หวังสร้างผลงานชิ้นโบว์แดง แต่กลับผลาญงบประมาณของคน กทม. ที่แพงโคตร ๆ นั่นคือ “โครงการซุปเปอร์สกายวอล์ก” โดยทำทีทำท่าด้วยโวหารที่แสนเท่ห์ว่า “เป็นการคืนทางเท้าให้กับคน กทม.” แต่หารู้ไม่ว่า “นี่คือผลงานชิ้นโบว์ดำของคณะผู้บริหาร กทม. ยุคนี้ต่างหาก ที่จะทำให้ลูกหลายคน กทม. ก่นด่าและสาปแช่งผู้เป็นต้นคิดว่า เอาสมองส่วนไหนคิด”

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศ เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในระดับนานาชาติว่ามีแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่น่าท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า

แต่ความมีคุณค่าเหล่านั้นกับถูกทำลายลงได้โดยง่าย ก็เพราะพวกนักการเมืองท้องถิ่น รวมหัวกันกับข้าราชการบางจำพวก โดยยกเอา “ทางเท้า” ซึ่งเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาจัดสรรแบ่งปันให้ปัจเจกชนใช้ในการทำมาค้าขายหากำไรมาเป็นส่วนตนในรูป “หาบเร่แผงลอย” และให้บริษัทเอกชนติดตั้ง “ป้ายโฆษณา” แสวงหากำไรและผลประโยชน์กันซึ่งหน้า จนรกบ้านรกเมืองอยู่ในขณะนี้

ถ้าเราปล่อยให้ กทม.ทำซุปเปอร์สกายวอล์กได้ตามแผน ได้อย่างลำพองใจ อีกหน่อยทางเดินเท้าลอยฟ้า ก็จะกลายเป็นพื้นที่ขายของของพวกร้านค้าย่อย นายทุนใหญ่เล็กที่ประมูลเช่าพื้นที่ได้ หรือแม้แต่หาบเร่แผงลอยก็จะตามขึ้นไปค้าขาย ได้อีกเหมือนเดิม เพราะ กทม. ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไร้น้ำยา...ไร้ความสามารถในการจัดการผู้ค้าเหล่านี้
วินมอเตอร์ไซด์จับจองไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลส่งเสริมและบิ๊กสีกากีให้การคุ้มครองดูแล
หากจะพลิกดูข้อกฎหมายไล่มาตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ยันถึงกฎหมายการสาธารณสุข 2535 กฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 กฎหมายควบคุมอาคาร 2522 ฯลฯ ไม่เห็นจะมีกฎหมายข้อใดให้อำนาจหน่วยงานเหล่านี้ “สามารถละเมิดสิทธิทางเท้าสาธารณะของประชาชนส่วนใหญ่ได้เลย” มีแต่กฎหมายจะจะบังคับให้หน่วยงานเหล่านั้น จะต้องคอยสอดส่อง ดูแล กวดขัน มิให้ผู้ใดมาใช้สิทธิสาธารณะอันเป็นการละเมิดทรัพย์สินสาธารณะอันหมายถึง “ทางเท้าของประชาชน” ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว

นอกจากนั้น บริเวณชั้น Platforms ของรถไฟฟ้าบีทีเอส ของ กทม. ก็ปล่อยให้มีเอกชนมาใช้ประโยชน์ในการเช่าพื้นที่ค้าขาย เสาตอม่อของรถไฟฟ้า ก็ปล่อยให้มีการเช่าพื้นที่โฆษณาสินค้าและบริการอย่างโจ่งแจ้ง เป็นการนำเอาพื้นที่สาธารณะไปให้เอกชนใช้ประโยชน์โดยพละการ และอาจสร้างอุบัติเหตุให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนได้ เพราะมัวมองแต่ป้ายโฆษณาที่เคลื่อนไหวไปมา ฯลฯ ทั้งที่วัตถุประสงค์หลักของรถไฟฟ้า คือ การให้บริการขนส่งมวลชนเท่านั้น...

แล้วทำไมหน่วยงานเหล่านี้...จึงยังกล้าและสามารถทำได้ ก็เพราะคนกรุงเทพฯ หรือคนไทยทุกคน ไม่ชอบที่จะรักษาและปกป้องสิทธิของตนเองและสิทธิสาธารณะ โดยการช่วยกันตรวจสอบ เรียกร้อง ให้หน่วยงานเหล่านี้ยุติการกระทำ โดยการใช้อำนาจทางปกครองเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดให้ ในการละเมิดสิทธิของพวกเรา หรือ กทม.ไม่ยอมเปิดเผยสัญญาใด ๆ ที่มีต่อเอกชนให้เราทั้งหลายได้ล่วงรู้กัน..สิทธิของพวกเราจึงถูกละเมิดเอาโดยง่าย ๆ

นอกจากการปล่อยให้ทางเท้าถูกเป็นที่ตั้งของสิ่งต่าง ๆ จนกลายเป็นอุจาดทัศน์เกะกะรกรุงรังแล้ว บัดนี้ รัฐบาล กทม. และ บชน. ยังก้าวล่วงการละเมิดสิทธิของคน กทม.ไปอีกขั้น โดยการทำให้สิ่งผิดกำลังจะกลายเป็นสิ่งถูก

นั่นคือ การอนุญาตให้ “รถจักรยานยนต์รับจ้าง” สามารถใช้ถนนและทางเท้าเป็นที่ตั้งวิน ตั้งคิวรับคน ขวางทางคนเดินเท้า ขวางทางจราจร บริเวณหัวมุมถนนได้ “อย่างถูกกฎของพวกตน” ได้อีก (เราไม่เรียกว่ากฎหมาย... เพราะกฎเหล่านั้นละเมิดสิทธิประชาชนหรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และมิได้มาจากการยินยอมของคนส่วนใหญ่)

แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร...(ถ้ากรุงเทพฯยังต้องมีหาบเร่แผงลอย และมอไซด์รับจ้าง)

แต่ถ้ารัฐบาลหรือ กทม. จะแก้ปัญหาให้กับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย สามารถมีอาชีพ มีสถานที่ค้าขายได้ก็ควรจะทำอย่างเป็นระบบ อย่างมืออาชีพตามนานาอารยะประเทศเขาทำกัน เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ ฯลฯ โดยจัดหาสถานที่ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นมาให้ผู้ประกอบการทำมาค้าขาย

เช่น การออกระเบียบเป็นข้อกฎหมายว่า หากมีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ หรือศูนย์การค้า หรือหมู่บ้านจัดสรร ต้องมีการกันหรือกำหนดให้มีพื้นที่บางส่วนของสถานที่ที่เป็นจุดค้าขายไว้ให้หาบเร่-แผงลอย หรือผู้มีรายได้น้อยได้ใช้ค้าขายได้ หรืออาจจะเช่าหรือซื้ออาคาร สถานที่ ในย่านชุมชน ที่มีผู้คนสัญจรไปมามากพอควร มาจัดสรรให้ผู้ค้าเหล่านี้ได้เช่าใช้ค้าขายในราคาถูก (เจ้าของอาคารหรือสถานที่สามารถนำมาหักลดภาษีได้) หรือจัดพื้นที่ของหน่วยงานราชการที่ยังพอมีพื้นที่ว่างมาให้

หรือไม่ก็ปิดถนนบางสายในเวลากลางคืนเพื่อทำเป็นถนนคนเดินในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ให้ผู้ประกอบการได้ไปค้าขาย เก็บค่าเช่านำเงินเข้ารัฐก็ย่อมได้ มิใช่ปล่อยให้แพร่ขยายกันจนเต็มบ้านเต็มเมืองจนหาทางเดินเท้าไม่เจออยู่ในขณะนี้ หรือให้เป็นช่องทางทำมาหากินของข้าราชการชั่วบางราย...สมบัติสาธารณะ ไม่ใช่มีไว้ให้บุคคลเหล่านี้ใช้เป็นข้ออ้าง หรือใช้เป็นช่องทางทำมาหากิน หรือมีไว้ให้นักการเมืองใช้หาเสียง

ที่สำคัญต้องกวดขันไม่ให้มีผู้ค้ารายใดฝ่าฝืนออกมาขายนอกพื้นที่ที่กำหนดได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะอุดหนุนกลุ่มผู้ฝ่าฝืน

ส่วนจักรยานยนต์รับจ้าง ต้องไม่อนุญาตให้มาจอดรอหรือบริการบนทางเท้าและบริเวณปากซอย หัวมุมถนนโดยเด็ดขาด

ที่สำคัญต้องคำนวณปริมาณลูกค้าและจำนวนจักรยานยนต์รับจ้างให้สมดุลกัน เพื่อไม่ให้แย่งลูกค้าหรือมีมากเกินความจำเป็น เพราะเกี่ยวพันกับสถานที่จอดรอรับลูกค้า พื้นที่จอดรอรับลูกค้าต้องอยู่ห่างจากปากซอยอย่างน้อย 20-30 เมตรขึ้นไป โดยการปาดทางเท้าให้เป็นที่จอดแบบทะแยงได้ (ห้ามจอดทำมูมฉากกับถนน) ก็จะทำให้ไม่รุกล้ำหรือละเมิดทางเดินเท้าเกินไปนัก อาจจะมีการสร้างหลังคายื่นออกมาคุ้มแดดคุ้มฝนให้บ้าง แต่ไม่ต้องแพงถึงขนาดจุดละ 150,000 บาทเหมือนที่ กทม.พยายามทำ แค่จุดละไม่เกิน 3 หมื่นบาทก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ที่สำคัญผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างทุกคนต้องมีบัตรอนุญาตแสดงรายละเอียดบุคคลห้อยคอหรือหนีบไว้ที่หน้าอกเสื้อวินทุกคน
ทางเท้าที่ดีมีได้ในกทม.
ส่วนทางเท้าที่อุจาดทัศน์ไม่สะอาด ไม่เป็นมาตรฐาน เป็นหลุมเป็นบ่อ พื้นไม่เรียบ มีสิ่งเกะกะรกรุงรัง ก็ต้องเร่งปรับปรุง ขยับสิ่งที่เรียกว่า Street Furniture ออกไปให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ห้ามมีป้ายโฆษณาใด ๆ มาติดตั้ง ห้ามมีตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์โดยเด็ดขาด (ให้ไปเช่าผนังตึก กำแพงตั้งแขวนบริการเอาเอง) (เพราะเป็นธุรกิจแสวงหากำไรของรัฐวิสาหกิจมหาชนหรือเอกชน มาแบ่งปันกันในกลุ่มผู้ถือหุ้น) เพื่อเปิดช่องว่างให้คนหรือทางจักรยานใช้ได้ มีไม้ดอกไม้ประดับมาปลูกหรือตกแต่งให้สวยงาม ให้คนพิการ มนุษย์รถเข็ญสามารถใช้ได้อย่างสะดวกสบาย

แค่นี้ก็จะถือว่าสามารถคุ้มครองสิทธิของประชาชนบนทางเท้าสาธารณะที่เป็นของส่วนรวมที่ประชาชนใช้ร่วมกันได้อย่างจริงแท้แน่นอน ไม่ใช่คิดแต่จะทำโครงการผลาญภาษีประชาชนไปวัน ๆ ตามก้นนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลายคิดกัน

ถึงเวลาแล้วที่คน กทม. จะได้ตื่นขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง โดยช่วยกันทำหน้าที่ตรวจสอบ การทำงานของ กทม. และ บชน. ว่าได้ทำหน้าที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แล้วหรือไม่ ถ้ายัง อย่ามัวอยู่เฉยเลย มาร่วมมือกับสมาคมฯ ในการจัดการบุคคลและหน่วยงานเหล่านี้ด้วยมาตรการทางกฎหมายกัน อย่าปล่อยให้กรุงเทพฯวิบัติ เพราะพวกนักการเมืองและข้าราชการสมองนิ่มกันเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น