xs
xsm
sm
md
lg

ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด (5) เหมราชฯยื่นอุทธรณ์ ดิ้นพ้นบ่วงคำสั่งระงับลงทุนมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ "ระเบิดเวลาที่มาบตาพุด" (5)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด ดิ้นยื่นอุทธรณ์ โต้ศาลปกครองกลางรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับ 76 โครงการโดยไม่คิดถึงผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ทุนต่างชาติหอบเงินหนี เผยคำสั่งศาลเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ ผู้ฟ้องคดียื่นค้านร้องศาลปกครองสูงสุดยกคำอุทธรณ์

หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม 76 โครงการ ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุดและใกล้เคียงในจังหวัดระยอง เป็นการชั่วคราว นอกจากฝ่ายรัฐบาลโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว ยังมีผู้ลงทุนภาคเอกชนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มทุนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นต่อศาลนั้น เช่น บริษัทหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด และเครือปูนซีเมนต์ไทย และกลุ่ม ปตท.

ประเด็นสำญที่เหมราชฯ ยื่นอุทธรณ์และคำคัดค้านการอุทธรณ์ของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก ผู้ฟ้องคดี ซึ่งยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 สรุปได้ดังนี้

*** เหมราชฯ อุทธรณ์ว่า ศาลปกครองกลางมิได้พิจารณาว่าการดำเนินโครงการของผู้อุทธรณ์มีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ โดยได้พิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ไม่ได้พิจารณาในประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างได้รับความเสียหายจากการที่หน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการ จำนวน 76 โครงการ

*** ดังนั้น การที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งกำหนดมาตราการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวโดยให้มีผลเป็นการระงับโครงการของผู้อุทธรณ์นั้น ศาลปกครองกลาง จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติโดยชัดแจ้งก่อนว่าโครงการของผู้อุทธรณ์ (เหมราชฯ) ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือเสียหายจนยากเกินเยียวยาหรือไม่

ข้อหนึ่ง ผู้ฟ้องคดี ชี้แจงว่า อุทธรณ์ของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุผล ขัดแย้งต่อกฎหมาย ไม่ควรค่าแก่การรับฟัง กล่าวคือ

(1) การพิจารณาคำร้องของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลาง ก็ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องทั้ง 43 ราย และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ราย รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียด้วย ให้คัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่าจากการแถลงด้วยวาจาหรือหนังสือ ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสองครบถ้วนทุกประการแล้ว ถือเป็นการเพิกเฉย ละเลยต่อหน้าที่

ในประเด็นนี้ จึงถือว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมีมูลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง การออกใบอนุญาต จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้รับคำสั่งดังกล่าวไปปฏบัติผลย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ผลที่ออกมาอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การเยียวยาในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการแพร่กระจายมลพิษสูง จนศาลปกครองระยองได้มีคำสั่งให้เป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552ให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุดและใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว แต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นเพิ่งจะเริ่มจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ แผนดังกล่าวยังไม่มีการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ได้มีการควบคุม ลด และขจัดมลพิษออกไปบ้างแล้ว แต่กลับพยายามอนุมัติ/อนุญาตให้มีโครงการหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ประเภทมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายสูงต่อการเกิดและแพร่กระจายของมลพิษเพิ่มมากขึ้นอีกจนอาจจะยากแก่การแก้ไขเยียวยา

ดังนั้น เมื่อไม่มีข้อมูลใดที่ศาลปกครองกลางจะรับฟังเป็นอย่างอื่นว่า พื้นที่พิพาทในคดีได้ถูกควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ไปแล้วหรือเพียงบางส่วนที่พอจะดำเนินการให้เป็นตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องจะไม่เกิดความเสียหายจนยากแก่การเยียวยาอีก จึงถือว่าหากปล่อยให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

(2) ประเด็นหากศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามคำสั่งทางปกครองของผู้คดีทั้ง 8 แล้ว จะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือไม่

ผู้ฟ้องคดี ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำร้อง คำร้องคัดค้าน คำชี้แจงทั้งฝ่ายผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีและผู้มีส่วนได้เสีย ปรากฏต่อศาลปกครองกลางชัดเจนว่ ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง มาปฏิบัติให้ครบถ้วนให้เห็นเป็นรูปธรรม

นอกจากนั้น ยังปรากฏมาตลอดว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และรัฐบาลเพิ่งนำร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ …...) พ.ศ. …... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง ก็เป็นการยอมรับเป็นการทั่วไปแล้วว่า คำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือว่า ไม่มีคำสั่งทางปกครองดังกล่าวออกมาบังคับใช้ อันจะเป็นผลให้เกิดอุปสรรคแก่การบริหารของรัฐ แต่อย่างใดไม่

ดังนั้น เมื่อทางการไต่สวนของศาลปกครองกลาง ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน การที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้มีการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษา

(3) เหมราชฯ ได้อุทธรณ์ว่าศาลปกครองกลาง ได้พิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน โดยมิได้พิจารณาประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการ 76 โครงการ ซึ่งต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อนว่าโครงการของผู้อุทธรณ์ (เหมราชฯ) ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีจนยากเยียวยา

ผู้ฟ้องคดี ชี้แจงว่า ข้ออ้างของผู้อุทธรณ์ดังกล่าว ไม่เป็นตามเงื่อนไขตามกฎหมายเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา เพราะการที่จะให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้อุทธรณ์กล่าว จะต้องเป็นการก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาเนื้อหาแห่งคดี แต่คำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวเป็นคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา มิใช่เป็นคำพิพากษา ดังนั้นคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น

**** ข้อสอง เหมราชฯ อุทธรณ์ว่า การที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวนั้น ศาลฯ จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม ผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกด้วย คดีนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อุทธรณ์ไม่เพียงแต่เสียหายในเชิงประกอบการธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ผู้ฟ้องคดี ชี้แจงว่า ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยไว้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักนิติธรรมแล้ว เพราะปกติการลงทุนขนาดใหญ่ ต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการว่าคุ้มทุนหรือไม่ รวมทั้งศึกษาถึงปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการ ดังนั้นปัจจัยเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ย่อมต้องมีการศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย

ผู้อุทธรณ์ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีการลงทุนจำนวนมากถึง 6,815 ล้านบาท ย่อมศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน เหตุและปัจจัยใดที่จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการลงทุนของผู้อุทธรณ์ อีกทั้งย่อมทราบดีว่า รัฐธรรมนูญฯ 2550 เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ บทบัญญัติกำหนดไว้อย่างไรต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติเช่นใด

ผู้อุทธรณ์ในฐานะผู้ประกอบกิจการ เมื่อตัดสินใจลงทุนก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากดำเนินการตามบัญญัติดังกล่าวแล้ว เป็นหน้าที่ที่ต้องแถลงต่อศาลปกครองกลางว่าได้การดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ครบถ้วน พร้อมนำหลักฐานมาแสดงในขณะที่ศาลปกครองกลางไต่ส่วนคำร้องขอคุ้มครองของผู้ฟ้องคดี แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ผู้อุทธรณ์ทำตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ แสดงว่าผู้อุทธรณ์รู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าตนเองไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วนก่อน แล้วจะมาอ้างว่าตนเองสุจริตย่อมไม่ได้

เมื่อผู้อุทธรณ์รู้ว่าตนเองไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ปฏิบัติ เมื่อเกิดความเสียหายแล้ว ผลของการดำเนินการของตนเอง ผู้อุทธรณ์ก็ยอมรับผลของปฏิบัติของตนเอง

และหากก่อนที่จะดำเนินการตามแผน ผู้อุทธรณ์รู้ว่า ไม่มีระเบียบข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติ หรืออาศัยช่องว่างที่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่ออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยังยอมเข้ามาลงทุนตามเงื่อนไขที่ไม่พร้อมหรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย ย่อมส่อถึงเจตนาของผู้อุทธรณ์ว่า ไม่มีความต้องการที่ปฏิบัติกฎหมาย ที่ประเทศไทยหรือประเทศอื่นใดในโลกที่เจริญแล้ว มีระเบียบข้อบังคับเหล่านี้ให้ผู้ประกอบการเพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศของตน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้อุทธรณ์ได้ศึกษาว่าประเทศไทย ยังไม่มีระเบียบข้อบังคับ เพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม หรือมีแต่ไม่ครบถ้วน มาเป็นเหตุปัจจัยในการตัดสินลงทุนในประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยและชนชาวไทยทั่วไป ย่อมไม่ขอต้อนรับนักลงทุนที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวมาลงทุนในประเทศไทย เฉกเช่นประเทศอื่นใดในโลกเช่นเดียวกัน

ผู้อุทธรณ์อ้างอีกว่า โดยผลของคำสั่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เกิดผลกระทบเสียหายต่อผู้อุทธรณ์ คือ

(1)ผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้อุทธรณ์อย่างนัยสำคัญ เนื่องจากมีนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ ให้ความสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตสินค้าส่งออกภายในภูมิภาคเอเชียมายังประเทศไทย โดยมีความประสงค์จะสร้างโรงงานผลิตภายในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ส่วนขยายของผู้อุทธรณ์ ..

ผลโดยตรงของคำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว ทำให้ผู้อุทธรณ์ได้รับความเสียหายต่อกิจการอย่างมาก ตลอดจนนักลงทุนต่างประเทศดังกล่าวเริ่มพิจารณาถึงความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ตามคำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าวหากจะพิจารณาลงทุนในประเทศไทยดังนั้น ผู้อุทธรณ์จึงไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่งหากโครงการของผู้อุทธรณ์ต้องถูกระงับ......

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 ขอชี้แจงว่า คำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งให้มีการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว เป็นคำสั่งให้ความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่จะลงทุนในโครงการของผู้อุทธรณ์ เพราะก่อนที่นิคมอุตสาหกรรมของผู้อุทธรณ์จะเปิดโครงการให้ผู้ประกอบลงทุนทั้งในและนอกประเทศมาลงทุน เป็นหน้าที่ที่ผู้อุทธรณ์จะต้องให้ข้อมูลว่า การเข้าลงทุนในนิคมของผู้อุทธรณ์แล้ว จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เป็นคุณเป็นโทษ มีประเด็นที่ควรระวังข้อปฏิบัติอย่างไร มีระเบียบข้อบังคับอย่างไรตลอดระยะเวลาที่ผู้ลงทุนจะเข้ามาลงทุนจะต้องกระทำ

เงื่อนไขดังกล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการลงทุนจะต้องได้รับข้อมูลครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจเพราะต้องลงทุนจำนวนมาก หากผู้ประกอบลงทุนในโครงการของผู้อุทธรณ์โดยรับข้อเท็จจริงว่าจะลงทุนในโครงการของผู้อุทธรณ์ เพราะไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำโครงการโดยไม่ต้องทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพ ไม่ต้องสนใจรับฟังความคิดเห็นของชุมชนท้องถิ่น ไม่ต้องให้องค์การอิสระอื่นให้ความเห็นประกอบเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เหมือนอารยประเทศทั่วไปได้ปฏิบัติแล้ว ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศก็ไม่ควรต้อนรับการลงทุนดังกล่าว

หากมีการลงทุนไปแล้วแม้จะได้ความเจริญทางเศรษฐกิจ ช่วยปั่นตัวเลขอัตราการเติบโต หรือ จีดีพี ของประเทศให้สูงลิ่ว แต่ผลรับต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนชุมชนในจังหวัดระยอง และใกล้เคียง รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศที่มากเกินกว่ารายได้ที่รัฐได้รับ ย่อมเกิดความเสียหายร้ายแรงกว่า เป็นผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยภายในประเทศมากเสียยิ่งกว่า

ประการสำคัญ ปัจจุบันมีประเทศอื่นมากมายที่มีการรณรงค์ต่อต้าน สินค้าที่ผลิตออกมาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศแถบอียู อเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของประเทศไทย มีการตั้งกำแพงภาษีกีดกันเกี่ยวกับสินค้าละเมิดสิ่งแวดล้อมหากลงทุนโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาจถูกต่อต้านเพราะผลิตสินค้าที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และหากศาลปกครอง มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเด็ดขาดให้รื้อถอนโครงการ หยุดโครงการ เพิกถอนใบอนุญาต ผลเสียย่อมตกอยู่กับผู้ประกอบการมากกว่าใคร

ดังนั้น การที่ศาลปกครองกลาง ออกคำสั่งห้ามไว้เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อให้โครงการของผู้อุทธรณ์ไปดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงเป็นคำสั่งให้ความเป็นธรรม เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์มากกว่า

**** การที่ผู้อุทธรณ์ กล่าวอ้างว่า เป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้จากคำสั่งของศาลปกครองกลางนั้น

ผู้ฟ้องคดี ชี้แจงว่า ไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 มีเจตนารมย์ เนื้อหา ข้อความประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกับมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญฯ 2540 เพียงแต่เพิ่มข้อความบางประเด็นเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีอยู่ก่อนหน้านี้นานแล้วนับแต่รัฐธรรมนูญฯ 2540 การอ้างว่าไม่ทราบข้อความเงื่อนไขดังกล่าวย่อมฟังไม่ขึ้น

ดังนั้น การที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง รัฐธรรมนูญฯ 2550 มีเจตนารมย์เพื่อให้การกำหนดประเภทและขนาดโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้โครงการดังกล่าวดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนด ตามหลักป้องกันล่วงหน้า ไม่มีเจตนาให้ออกใบอนุญาตโครงการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนก่อน แล้วใช้หลักการควบคุมหรือหลักการเยียวยาความเสียหายภายหลัง

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 เห็นว่า คำสั่งของปกครองกลางจึงให้ความเป็นธรรมต่อผู้อุทธรณ์และผู้ประกอบการที่จะดำเนินการลงทุนในโครงการของผู้อุทธรณ์อย่างครบถ้วนแล้ว

(2)ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผู้อุทธรณ์อ้างว่า นักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อความมั่นคงในระบบกฎหมายของประเทศไทยโดยพิจารณาว่าความเสี่ยงซึ่งเกิดจากคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวเป็นความเสี่ยงซึ่งไม่อาจควบคุมได้....

***ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 ขอชี้แจงว่า อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้อุทธรณ์หรือผู้ประกอบการลงทุนรายใหญ่ สามารถควบคุมคำสั่งของศาลได้อย่างนั้นหรือ ผู้อุทธรณ์ใช้อำนาจอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าตนเองควบคุมอำนาจของศาลปกครองกลางได้ หากเป็นอย่างที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างจริง ประเทศไทยหรือประเทศใดในโลกคงยอมไม่ได้เช่นกันที่จะให้ผู้ประกอบการที่จะลงทุนในประเทศของตนเองสามารถที่จะทำอย่างไรก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงความเด็ดขาด ความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจตุลาการในประเทศของตน ที่จะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดเกี่ยวกับข้อพิพาท ที่ผู้ประกอบลงทุนได้กระทำลงไป

ดังนั้น หากเจตนาของผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นอย่างนี้ การออกคำสั่งให้ระงับโครงการของผู้อุทธรณ์หรือผู้ประกอบการที่จะลงทุนในโครงการของผู้อุทธรณ์ จึงมีเหตุผลอันสมควรแล้ว

(3)ผู้อุทธรณ์อ้างว่า คำสั่งของศาลปกครองกลางให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม 76 โครงการซึ่งรวมโครงการของผู้อุทธรณ์ด้วยนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้อุทธรณ์ในภาพรวม เป็นเหตุให้สถาบันการเงินเริ่มทำการสอบถามถึงความสามารถของผู้อุทธรณ์ในการปฏิบัติตามสัญญาในสัญญาให้สินเชื่อ...

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 ขอชี้แจงว่า ตามหลักการตามกฎแห่งกรรม ผู้กระทำกรรมหรือกิจการใดอันเป็นเหตุ ผู้กระทำกรรมหรือกิจการนั้นย่อมได้รับผลนั้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ดังที่ผู้ฟ้องคดีชี้แจงไว้ข้างต้นแล้วว่า ผู้อุทธรณ์ย่อมทราบล่วงหน้าแล้วว่ามีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มารตรา 67 วรรคสอง ที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน แต่ผู้ฟ้องคดีทำเพียงรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แล้วยังดำเนินโครงการต่อไปอีกทั้งที่ทราบว่าผลที่สุดแล้วโครงการของผู้อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

แม้ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่มีอำนาจออกใบอนุญาต จะมีคำสั่งทางปกครองอนุญาตให้ตามขอ แต่เมื่อคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีผลบังคับใช้ ต้องถูกเพิกถอนเพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้องก่อนแล้วพิจารณาออกคำสั่งภายหลังได้ ซึ่งผลดังกล่าว ผู้อุทธรณ์ย่อมจะคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะได้รับ ดังนั้นเมื่อผู้อุทธรณ์เป็นผู้ก่อเหตุ ก็รับผลกระทบด้วยตนเองเช่นกัน

ข้อ สาม ผู้อุทธรณ์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยข้อกฎหมายเพื่อทำคำสั่งในกรณีนี้โดยได้ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยถึงประเด็นแห่งคดีนั้น ย่อมส่งผลเท่ากับผู้ฟ้องคดีได้ชนะคดีในประเด็นดังกล่าวก่อนที่ศาลจะพิพากษาคดี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นดังกล่าวยังต้องมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อต่อสู้ในชั้นการพิจารณาคดีซึ่งต้องรอคำวินิจฉัยของศาลในท้ายที่สุดต่อไป การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยวินิจฉัยเลยไปถึงประเด็นแห่งคดีดังกล่าว จึงไม่ชอบและขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 ขอชี้แจงว่า คำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ชอบด้วยหลักกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวแล้ว

ทั้งนี้ คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวยังไม่ได้วินิจฉัยเข้าในประเด็นแห่งคดี เพราะศาลระบุในคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งชัดเจนว่า การออกคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 นั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้วินิจฉัยให้ชัดเจนว่า การออกคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาคดีแล้ว ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว อาจจะวินิจฉัยว่า การออกคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 นั้นชอบด้วยกฎหมายไม่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งก็ได้ หรือ อาจจะวินิจฉัยว่า การออกคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งให้เพิกถอนตามคำฟ้องก็ได้ ดังนั้นคำสั่งของศาลปกครองกลางยังไม่ได้ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างแต่ประการใด

แต่หากคำสั่งของศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยตามที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า ศาลปกครองกลางจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติโดยชัดแจ้งก่อนว่า โครงการของผู้อุทธรณ์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีจนถึงขนาดที่หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปจะเกิดความเสียหายจนยากเกินเยียวยาหรือไม่ หากศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า โครงการของผู้อุทธรณ์ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีจนถึงขนาดที่หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปจะเกิดความเสียหายจนยากเกินเยียวยา จากนั้นจึงคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของผู้ฟ้องคดี เช่นนี้จึงน่าจะถือว่าได้ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี

ดังนั้น อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์จึงน่าจะขัดกันเองว่า ต้องการให้ศาลปกครองกลางก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีหรืออย่างไร หรือหากคำสั่งของศาลปกครองกลางก้าวล่วงไปวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วมีประโยชน์ต่อผู้อุทธรณ์แล้วถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่หากไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์ก็ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นการกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์จึงไม่มีเหตุผลที่หักล้างคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง

ข้อ สี่ การที่ผู้อุทธรณ์อ้างว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน กรณีอาจพิจารณาได้ว่ากำหนดระยะเวลาตามบทเฉพาะกาล ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา นั้น

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 ขอชี้แจงว่า ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บทเฉพาะกาล มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในที่กำหนด

(1)....สิทธิชุมชน ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามาตรา 176

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นความเข้าใจหรือตีความรัฐธรรมนูญที่คลาดเลื่อนของผู้อุทธรณ์เอง ซึ่งจากการพิจารณาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 303 แล้ว มีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งโดยไม่ต้องตีความว่า หมายความเฉพาะคณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงคณะรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ที่เข้ามาบริหาราชการแผ่นดินเป็นคณะแรกภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก

เมื่อนับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช เข้าบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้จัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องสิทธิชุมชน ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 176 ดังนั้นการไม่ดำเนินการของรัฐบาลดังกล่าวจึงเป็นการอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ด้วยคำชี้แจง ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 คน ข้างต้น ขอศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาและมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์เสีย และมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำร้องของผู้ฟ้องคดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น