ASTVผู้จัดการออนไลน์ - โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ถูกนายกรัฐมนตรีสั่งเบรกจนหัวคะมำ แต่ความพยายามของพรรคร่วมยังไม่สิ้น ที่น่าจับตาก็คือ การโยนเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ซึ่งว่ากันว่า เลขาธิการสภาพัฒน์ “อำพน กิติอำพน” หรือ “ดร.กบ” นั้น เป็นหนึ่งใน “เครือข่ายเพื่อนเนวิน” ที่ข้ามห้วยจากกระทรวงเกษตรฯ มารั้งตำแหน่งเลขาฯ สภาพัฒน์ ชนิดหักปากกาเซียน
นอกจากนั้น คีย์แมนคนสำคัญที่ผลักดันโครงการดังกล่าว คือ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ขสมก. นั้น อยู่ในขั้น “นายแน่มาก” เพราะมีผลงานพัวพันกับการทุจริตโครงการซื้อรถเมล์ยูโรทู 500 คัน มูลค่า 9 พันล้านบาทซึ่งทำให้รัฐฯเสียหายมากถึง 1.5 พันล้านบาทมาแล้ว แต่กลับลอยนวลอยู่รอดมาได้โดยไม่มีการเอาผิดทางแพ่งและทางวินัย
ขณะที่ทางอาญา ก็ไม่ปรากฏต่อสาธารณะว่ามีการดำเนินการใดๆ หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้นายปิยะพันธ์ เข้ามาทำหน้าที่ประธานบอร์ด ขสมก. ทำคลอดโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน มูลค่าล่าสุดประมาณ 6 หมื่นกว่าล้าน จากเดิมที่ตั้งไว้เป็นแสนล้าน
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ออกมาระบุว่า เรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจในตำแหน่งในหน้าที่ จึงเตรียมยื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ยอมลงโทษผู้กระทำผิดตามที่ สตง. ชี้มูล
นายชาญชัย ระบุว่า รูปแบบการทุจริตโครงการนี้มีลักษณะเหมือนกันมา 3 รุ่น ตั้งแต่การจัดซื้อรถเมล์ยูโร 1 จำนวน 700 คัน สมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามด้วยโครงการรถเมล์ยูโร 2 จำนวน 500 คัน สมัยที่นายจองชัย เที่ยงธรรม เป็นรมช.กระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ เอกสารของ สตง.ระบุว่า นายจองชัย ได้อนุมัติโครงการโดยพลการ เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ นายปิยะพันธ์ ก็ไม่ได้กำหนดราคากลาง แต่ทำไมจึงออกทีโออาร์และเปิดประมูลได้ ซึ่งผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง
สตง. แจ้งผลการตรวจสอบเรื่ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพทุจริตโครงการจัดเช่าและจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารชั้นเดียวปรับอากาศ (ยูโรทู) ขนาด 12 เมตร จำนวน 500 คัน เพื่อให้ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินคดีอาญาและทางแพ่งกับผู้ที่ทำให้รัฐเสียหาย 1,591,491,250 บาท
โดย สตง. ได้ตรวจสอบโครงการจัดเช่าและจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารชั้นเดียวปรับอากาศ (ยูโรทู) ขนาด 12 เมตร จำนวน 500 คน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กระทรวงคมนาคม แล้ว พบว่า คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ประกอบด้วย นายพงศกร เลาหวิเชียร ประธานกรรมการ, นายวันชัย ศารทูลทัต รองประธานกรรมการ คนที่ 1, พล.ต.ท.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ รองประธานกรรมการ คนที่ 2, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กรรมการ, นายเรืองนนท์ เรืองวุฒิ กรรมการ, นายสมบัติ ธรธรรม กรรมการ ร่วมประชุม พร้อมได้อภิปรายสนับสนุนผู้เสนอขออนุมัติ โดยไม่ได้มีการพิจารณาว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาและต่อรองราคา ซึ่งมีนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต เป็นประธาน ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ว่าด้วยการพัสดุหรือไม่
และจำนวนเงินที่ขออนุมัติสูงกว่าเงินตามโครงการตามที่เสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมและขออนุมัติกระทรวงการคลังหรือไม่ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. เป็นผู้อนุมัติโครงการ ในการประชุมครั้งที่ 7/2543 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 คณะกรรมการบริหารกิจการจึงไม่สามารถอนุมัติโครงการได้ เนื่องจากราคาที่อนุมัติเป็นจำนวนเงินที่สูงจากที่ขออนุมัติตามโครงการจำนวน 1,591,491,250 บาท ซึ่งต้องเสนอข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบและกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติใหม่เสียก่อน
สตง. เห็นว่าคณะกรรมการฯ ดังกล่าวข้างต้นไม่ได้มีการพิจารณาให้มีความละเอียดรอบคอบต้องรับผิดชอบร่วมกับคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาด้วย
สำหรับนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกรรมการ ได้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชอบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543 นายพงศกร เลาหวิเชียร ประธานกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. บันทึกถึงนายพีระพงศ์ อิศรภักดี ผู้อำนวยการ ขสมก. ความว่า ในการพิจารณาผลการประกวดราคาการเช่าและจ้างซ่อมบำรุงรักษารถปรับอากาศฯ ของคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ครั้งที่ 15/2543 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ยังไม่ได้พิจารณาผลกำไรขาดทุน หากมีการเช่ารถดังกล่าว ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญจึงให้องค์การจัดทำข้อมูลรายละเอียดให้ชัดเจนเสนอคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การฯ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป ในชั้นนี้ให้รอการลงนามในสัญญาไว้ก่อน
นอกจากนี้ นายพีระพงศ์ ยังทราบดีว่าเงื่อนไขของกระทรวงการคลังให้คำนึงถึงมูลค่าปัจจุบันของค่าเช่าทั้งสิ้นตลอดอายุสัญญาเช่า ซึ่งจะต้องไม่สูงกว่าราคารถโดยสารปรับอากาศหากซื้อด้วยเงินสด ซึ่งยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค.0209.2/29752 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2543 และมติคณะรัฐมนตรี
แต่นายพีระพงศ์ อิศรภักดี ไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยวันที่ 15 มกราคม 2544 ได้ลงนามสัญญาเช่าและสัญญาจ้างซ่อมและบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศในนามขององค์การฯ สูงกว่าวงเงินตามโครงการฯ ที่เสนอขออนุมัติทำให้รายจ่ายรวมสูงกว่าประมาณการผลการดำเนินงานของโครงการฯ ตามหนังสือที่กระทรวงคมนาคมขออนุมัติต่อกระทรวงการคลัง และรายการกำไรสุทธิต้องถูกปรับเปลี่ยนเป็นขาดทุน
ต่อมา เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2544 นายพีระพงศ์ ได้รายงานการทำสัญญาต่อคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/1544 โดยมิได้เสนอบันทึกสั่งการฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ของประธานกรรมการบริหารกิจการขสมก. ให้คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ทราบในการประชุม ดังนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของนายพีระพงศ์ อิศรภักดี ผู้อำนวยการ ขสมก. ถือว่าปฏิบัติมิชอบ กล่าวคือ จงใจฝ่าฝืนคำสั่งของนายพงศกร เลาหวิเชียร ประธานกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. และเงื่อนไขของกระทรวงการคลังที่ไม่ให้เช่าราคาสูงกว่าซื้อด้วยเงินสด โดยวันที่ 15 มกราคม 2544 ได้ลงนามสัญญาเช่าและจ้างซ่อมบำรุงรักษารถฯ ในนามของ ขสมก. จำนวน 6 สัญญา เป็นจำนวนเงินรวมเกินกว่าวงเงินโครงการตามที่ได้ขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง จำนวน 1,591,491,250 บาท พฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดเช่าและจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศ (ยูโรทู) กล่าวคือ ตามพยานเอกสารค่าเช่าที่บริษัท ธนบุรีมอเตอร์เซลส์ จำกัด ชี้แจงแล้วซึ่งปรากฏว่าราคาเสนอขายสูงไป จำนวน 900,000 บาท และจากพยานผู้ที่จัดซื้อเครื่องยนต์ คัสซี และประกอบตัวถัง และแอร์รถโดยสารปรับอากาศ (ยูโรทู) ราคาคันละไม่เกิน 2,500,000 บาท และค่าเหมาซ่อมต่อคันต่อวัน ที่จัดซ่อมสูงกว่าบริษัท ขนส่ง จำกัด จำนวน 1,200.50 บาท
ซึ่งตามความเป็นจริงการเช่ารถโดยสารปรับอากาศ (ยูโรทู) ที่เป็นรถใหม่รายการค่าจ้างเหมาในปีแรกๆ ไม่มี แต่การจัดทำสัญญาจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศดังกล่าว องค์การฯ ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาวันที่เริ่มต้นเช่า
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จัดทำสัญญาเช่าและจ้างเหมาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารปรับอากาศชั้นเดียว (ยูโรทู) ขนาด 12 เมตร จำนวน 500 คัน ตลอดอายุสัญญา 10 ปี เป็นเงิน 9,041,232,500 บาท สูงกว่าวงเงินอนุมัติโครงการฯ ทำให้ทางการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,591,491,250 บาท
พฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและให้เรียกเงินที่ทางราชการจ่ายสูงกว่าโครงการที่ขออนุมัติ จำนวน 1,591,491,250 บาท จากผู้รับผิดชอบประกอบด้วยคณะกรรมการเปิดซองและเจรจาต่อรองราคา ตามคำสั่งที่ 366/2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ 472/2543 443/2543
โดยนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต กับพวกรวม 6 คน คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. โดยนายพงศกร เลาหวิเชียร กับคณะกรรมการร่วม รวม 7 ท่าน ยกเว้นนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้อนุมัติโครงการ และนายพีระพงศ์ อิศรภักดี ผู้อำนวยการ ขสมก. ผู้ลงนามสัญญาจัดเช่าและจ้างเหมาซ่อมแซมบำรุงรักษาชดใช้คืนเงินกับทางราชการและพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับเรื่องที่ 1 และที่ 2 ที่ประเด็นการตรวจสอบมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตได้ส่งสำเนาหนังสือถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลับมาก ด่วนมาก ที่ ตผ (คตพ.) 0002/ ลงวันที่ มกราคม 2547 เรื่องดังกล่าวข้างต้นมาเพื่อทราบ