xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรับฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์มิชอบโรงเหล็กรุกป่าพรุแม่รำพึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงรับฟังคำสั่งศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โรงเหล็ก
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ศาลปกครองรับคำฟ้องขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายโรงถลุงเหล็กรุกป่าพรุแม่รำพึง แหล่งวางไข่และแหล่งอาหารของลูกปลาทูที่สำคัญที่สุดในอ่าวไทย

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางได้รับฟ้องคดีที่สมาคมฯ พร้อมพวกรวม 50 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ 11 แห่ง ในฐานะหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิกเฉยหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการอนุรักษ์ รักษา คุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าพรุ ป่าชายเลน ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ชุมชนใช้ร่วมกันมายาวนาน

คดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม 50 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นตำบลแม่รำพึงและตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 โดยฟ้อง 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ

1. อบต.แม่รำพึง 2. อบต.กำเนิดนพคุณ 3. เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาบางสะพาน 4.นายอำเภอบางสะพาน 5.ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 6.อธิบดีกรมที่ดิน 7.อธิบดีกรมป่าไม้ 8.อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช 9.อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 11.รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมี บริษัท ประจวบพัฒนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (คู่กรณีฝ่ายที่สาม) ผู้ร้องสอด

ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 เวลา 09.40-11.30 น.ที่ศาลปกครองกลางกรุงเทพฯ ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 5 นัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลรับฟ้องคดีบุกรุกออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในป่าพรุชุ่มน้ำ 18 แปลง โดยนายจิรศักดิ์ จิรวดี ตุลาการเจ้าของสำนวน (ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง) นายสุเมธ เดียวอิศเรศ (ตุลาการศาลปกครองกลาง) ให้รับคำนี้ไว้พิจารณาและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้องสอดทำคำให้การแก้คำฟ้องลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551ในประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ในตำบลแม่รำพึง และตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีที่ดินที่เป็นป่าพรุหรือป่าชายเลนหรือป่าเสม็ดจำนวนกี่ไร่ ที่ดินดังกล่าวสามารถจะออกเอกสารสิทธิ์ได้ หรือไม่ มีหลักเกณฑ์การออกเอกสารสิทธิ์อย่างไร

ประเด็นที่สอง ขณะนี้มีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินป่าพรุหรือป่าชายเลนหรือป่าเสม็ดในตำบลแม่รำพึง และตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้แก่ผู้ใดบ้าง มีจำนวนทั้งหมดกี่ราย

ประเด็นที่สาม การออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในตำบลแม่รำพึง และตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือไม่อย่างไร

ศาลได้จัดส่งสำนวนคำฟ้องพร้อมเอกสารให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้องสอดแล้ว ตามหมายฉบับลงวันที่ 14 มกราคม 2552 จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ ดคนและผู้ร้องสอดทำคำให้การยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2552

การนัดฟังคำสั่งศาลจะรับคดีหรือไม่เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา มีกลุ่มชาวบ้านจากบางสะพาน กว่า 200 คนเดินทางเข้ามาร่วมรับฟังที่ศาลปกครองกลางด้วย

////////////////////////////////
สรุปคำฟ้องคดี

สำหรับคำฟ้องคดี จำนวน 21 หน้า สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ชื่อว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มีนายศรีสุวรรณ จรรยา เป็นนายกสมาคมฯ

ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 – 50 เป็นชาวบ้านที่อยู่ในท้องถิ่นตำบลแม่รำพึง และตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณีที่เป็นของชุมชนที่ยึดโยงอยู่กับท้องถิ่นใกล้เคียงกันหลากหลายชุนชน ซึ่งได้ร่วมกันอนุรักษ์ คุ้มครอง ภูมิปัญญาท้องถิ่นและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและใกล้เคียง ทั้งป่าพรุ ป่าชายเลนตั้งอยู่หมู่ที่ 1และ7 ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาตั้งแต่ครั้งบรรพชน จวบจนถึงปัจจุบัน

และมีหน้าที่พิทักษ์ ปกป้อง สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องที่ชุมชนของตน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 73 มาตรา 85 มาตรา 87

คดีนี้เป็นคดีที่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และเป็นคดีว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ป่าพรุ หรือป่าชายเลน หรือป่าเสม็ดในตำบลแม่รำพึง ตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน ซึ่งมีระบบนิเวศธรรมชาติที่สมบูรณ์เหมาะสม สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืน โดยการเพิกถอนสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่บุคคลหรือนิติบุคคลครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่ชุมชนใช้ร่วมกันมาอย่างยาวนาน และให้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 43

กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในทางวิชาการว่า พื้นที่ป่าพรุเป็นที่ดินของรัฐที่เป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2485 คือ ผืนป่าที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขังใกล้ชายฝั่งทะเล ดินเป็นหล่มเลนและมีซากอินทรียวัตถุทับถมทำให้ดินยุบลงตัวได้ง่าย พืชที่ขึ้นในป่าพรุจึงมีการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับสภาพทางกายภาพและทางชีวภาพ ก่อให้เกิดความหลากหลายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูง มีความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณสูงกว่าพื้นที่ใด ๆ ในสภาพใกล้เคียงกันกว่า 70 สายพันธุ์

พื้นที่ป่าพรุจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการสงวนหรืออนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งอาศัยและอนุบาลของสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก และการขยายพันธุ์ของพืชพรรณนานาชนิด ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัยในทางการแพทย์ การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออนุชน คนรุ่นหลังในอนาคตได้

พื้นที่ป่าพรุ ป่าเสม็ดในตำบลแม่รำพึง ตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน เป็นป่าพรุที่มีสภาพทางธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีคุณค่า และลักษณะอันเหมาะสม ชาวบ้านโดยรอบในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในท้องถิ่นหรือละแวกใกล้เคียง จึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ บำรุงรักษา และได้อาศัยใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่เช่นว่านี้ในการดำรงชีพมาอย่างต่อเนื่อง

แต่การที่ทางราชการได้ออกเอกสารสิทธิ์เป็น น.ส.3 รวม 18 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 310 ไร่ ในพื้นที่ป่าพรุป่าเสม็ดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้พื้นที่บางส่วนที่มีบุคคลพยายามเข้าไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ โดยแสดงสิทธิครอบครองโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ มิใช่แต่เพียงความเสียหายของพืชพรรณ สรรพสัตว์ทั้งหลายในพื้นที่ป่าพรุดังกล่าว

แต่ทว่าได้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ ที่เกื้อกูลต่อสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ดินและน้ำบริเวณป่าพรุดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงมีสภาพความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น จนไม่สามารถประกอบการกสิกรรมหรือแม้แต่นำมาดื่มกินได้ ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ สูญหายไปอย่างรวดเร็ว บ่อน้ำตื้นที่เคยมีเต็มบ่อ กลับเหือดแห้งหายไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลเสียหายและความเสี่ยงต่อผลกระทบของความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลงในพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้นเป็นปัจจัยส่วนที่สำคัญที่ทำให้อากาศร้อน เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น น้ำที่เคยมีในพื้นที่ป่าพรุก็แห้งเหือดเร็วมากยิ่งขึ้น มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟเผาไหม้ได้ง่ายอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปบุกรุก ดังนั้นการไม่รักษาพื้นที่ดังกล่าวไว้อาจเป็นภัยต่อธรรมชาติและมนุษยชาติทางด้านสิ่งแวดล้อม

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 ราย ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับจัดการที่ดินของรัฐ คุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ส่งเสริม จัดการพื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ รักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ แต่กลับเพิกเฉยหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า พื้นที่ที่พิพาทเหล่านี้ เป็นป่าไม้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2485 เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ชาวชุมชนได้ร่วมกันใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน

และเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน ซึ่งสมควรที่จะอนุรักษ์ ดูแลรักษาไว้ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งแต่ต้น แต่กลับละเลยปล่อยให้บุคคลหรือนิติบุคคลมาแจ้งสิทธิครอบครองโดยมิชอบ หรืออันเป็นเท็จ หรือถือกรรมสิทธิ์โดยมิชอบ ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวบางส่วนยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการเป็นสภาพป่าพรุ ในพื้นที่ป่าชายเลน ที่ส่งผลทางนิเวศวิทยาต่อการเป็นแหล่งอาหาร และการอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบโดยการประกาศเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั้ง 18 แปลง เนื้อที่ประมาณ 310ไร่นี้ให้กลับคืนสภาพมาเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยเร็ว พร้อมกับปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพให้กลัปมาเป็นปกติดังเดิม และใช้อำนาจตามกฎหมายประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายต่อไป

คำขอของผู้ฟ้องคดี

ข้อ ๑ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ที่เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก) เลขที่ ๖๖๔ เลขที่ดิน ๑๓๙, เลขที่ ๔๑๗ เลขที่ดิน ๑๒๓, เลขที่ ๓๑๒ เลขที่ดิน ๑๑๘ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่ดินเลขที่ ๑๙๘๐ เลขที่ดิน ๑๐๓, เลขที่ ๑๙๒๑ เลขที่ดิน ๑๐๑, เลขที่ ๑๙๒๐ เลขที่ดิน ๑๐๐, เลขที่ ๑๘๒๙ เลขที่ดิน ๙๙, เลขที่ ๑๗๓๔ เลขที่ดิน ๖๙,
เลขที่ ๑๙๘๑ เลขที่ดิน ๑๐๒, เลขที่ ๑๗๓๘ เลขที่ดิน ๗๓, เลขที่ ๑๗๓๙ เลขที่ดิน ๗๔, เลขที่ ๑๗๒๔ เลขที่ดิน ๔๖, เลขที่ ๑๑๗๒ เลขที่ดิน ๕๐, เลขที่ ๑๑๗๙ เลขที่ดิน ๕๔ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลกำเนิดนพคุณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้กลับมาเป็นที่ดินของรัฐ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนได้ต่อไป

ข้อ ๒ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกกฎกระทรวง ประกาศกำหนดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าคลองแม่รำพึง” ขยายเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินแล้วตาม ข้อ ๑ หรือให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และ ที่ ๖ รวมกันออกประกาศเป็นกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินแล้วตาม ข้อ ๑ เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ พร้อมกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองและกำหนดระยะเวลาที่จะใช้มาตรการคุ้มครองดังกล่าว ในพื้นที่ตามคำขอ หรือประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Site) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติต่อไป

ข้อ ๓ พื้นที่บางส่วนหากถูกทำลายเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๖ ร่วมกันฟื้นฟูสภาพให้กลับมามีสภาพเป็นป่าไม้หรือป่าพรุดังเดิม หรือใกล้เคียงกับสภาพเดิมที่สุด ในระยะเวลาภายใน ๓ ปี โดยการมีส่วนร่วมของผู้ฟ้องคดีและชาวชุมชนในพื้นที่ โดยให้มีสถาบันทางวิชาการที่เป็นกลางเป็นผู้รับรอง
กำลังโหลดความคิดเห็น