xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าขบวนการเทปผี ซีดีเถื่อน แฉซุกปีกคนมีสี-ผู้มีอิทธิพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ต.โชคชัย ดีประเสริฐวิทย์ ผบก.น.5 นำกำลังพร้อมหมายมศาลเข้าจับกุมผู้ต้องหา ยึดของกลางซีดีเถื่อนกว่า 4 หมื่นแผ่น เมื่อวันที่ 18 ก.พ.52
ข่าวเชิงวิเคราะห์ ตอนที่ 1

ASTVผู้จัดการรายวัน - เจาะลึกต้นตอปัญหาเทปผี-ซีดีเถื่อนตีตลาดกระจายขายกันเกลื่อนเมือง เปิดเครือข่ายแหล่งผลิต-แหล่งซื้อขายในพื้นที่จับตาเข้มข้น ขณะที่ทางการสหรัฐฯ เล็ง “พันธุ์ทิพย์-มาบุญครอง” เป็นพิเศษ เผยโฉมบัญชีดำผู้ค้าส่งค้าปลีกตัวเป้งย่านบ้านหม้อ คลองถม สะพานเหล็กใต้ปีกแก๊งมีสีกลุ่มผู้มีอิทธิพล พร้อมกับการปรับกลยุทธ์การเอาตัวรอดจากอุ้งมือตำรวจ ของผู้ผลิต-ผู้ขาย หันใช้วิธีไรท์แผ่นแทนปั๊มหนีจับกุมได้ง่าย

แผงค้าเทปผี-ซีดีเถื่อน วางขายบนทางเท้า ตามตลาดนัดแทบทุกแห่ง ตามย่านการค้าชื่อดัง หรือกระทั่ง มีเซลล์แมนบริการถึงที่ เทปผี-ซีดีเถื่อน จึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่หาซื้อได้ง่าย พอๆ กับการซื้อผักผลไม้ตามตลาดสดทั่วไป สะท้อนให้เห็นระดับความรุนแรงของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

แม้ปัจจุบันบรรดาค่ายหนังค่ายเพลงจะกระหน่ำกันลดราคาสินค้าลิขสิทธิ์ของแท้ลงอย่างมหาศาลเพื่อแข่งขันกับเทปผี-ซีดีเถื่อน ยกตัวอย่างซีดีเพลงไทยอัลบั้มเต็ม 10 เพลง เมื่อก่อนขายกันประมาณ 180 บาท/แผ่น ปัจจุบันขายกันอยู่ที่ประมาณ 110-135 บาท/แผ่น แต่ด้วยคุณภาพไม่แตกต่างกันมาก ประกอบกับ ซีดีเถื่อน ดัมพ์ราคาขายได้ในระดับต่ำกว่า 50 บาท/แผ่น ทำให้สินค้าลิขสิทธิ์ไม่สามารถแข่งขันได้

นายสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการ กรรมการและผู้อำนวยการสายงานกฎหมายและปราบปราม บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ประเมินว่า สินค้าลิขสิทธิ์มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 10% เท่านั้น นั่นเท่ากับว่าเม็ดเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเพลง จำนวนกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี ตกอยู่กับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่ากว่า 90,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่เจ้าของลิขสิทธิ์ มีรายได้รวมกันทุกค่ายประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี เท่านั้น

ค่ายหนังค่ายเพลงทราบปัญหาดีว่า จุดแข็งสำคัญของซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ คือ ไม่จำกัดรูปแบบการขายหรือจำหน่ายจ่ายแจก สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกและง่ายดาย แต่สินค้าลิขสิทธิ์ช่องทางการขายค่อนข้างจำกัดกว่ามาก อยู่บนห้างสรรพสินค้าเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ช่วงหลังค่ายแกรมมี่จะใช้เซลล์แมนเดินขายเพลงถึงบ้านและสถานที่ทำงาน ในราคาต่ำกว่าแผง 10-20% แต่ก็ไม่ช่วยอะไรได้ไม่มาก

ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้รวบรวมสถิติการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ปี 2549 จับกุม 9,575 ราย ของกลาง 2,823,588 ชิ้น ปี 2550 จับกุม 7,118 ราย ของกลาง 3,746,036 ชิ้น และปี 2551 (ม.ค.-พ.ย.) จับกุม 5,328 ราย ของกลาง 3,197,865 ชิ้น สถิติที่ลดลงบ่งบอกนัยยะ 2 ประการ หนึ่งคือการละเมิดน้อยลง แต่อีกนัยหนึ่งคือ การละเมิดไม่ได้ลดน้อยลง แต่ผู้ละเมิดได้ปรับตัวจนทำให้การปราบปรามของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น

ปรับกลยุทธ์ไรท์แทนปั๊ม
สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซีดี ดีวีดี เพลงและภาพยนตร์ มีการนำเข้ามาจากประเทศตามแนวตะเข็บชายแดนส่วนหนึ่ง และผลิตในประเทศส่วนหนึ่ง ซึ่งการผลิตในประเทศส่วนใหญ่จะใช้วิธี “ไรท์” แทนการ ”ปั๊ม” จากโรงงาน เพราะใช้เงินลงทุนต่ำ หลบซ่อนแหล่งผลิตได้ง่ายและยากต่อการจับกุม

ข้อมูลจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิตซีดีที่แจ้งต่อทางการจำนวน 38 โรง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ 11 โรง นนทบุรี 10 โรง ฉะเชิงเทรา 4 โรง นครปฐม 3 โรง สมุทรสาคร 2 โรง ระยอง 2 โรง ชลบุรี 2 โรง ปราจีนบุรี 2 โรง อยุธยา 1 โรง และ ปทุมธานี 1 โรง ส่วนผู้ครอบครองเครื่องจักรและอยู่ในระหว่างขอใบอนุญาตดำเนินการผลิตจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีจำนวน 11 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ 6 ราย นครนายก 1 ราย นครปฐม 1 ราย นนทบุรี 1 ราย ปทุมธานี 1 ราย และสมุทรปราการ 1 ราย

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวกับ “ASTV ผู้จัดการายวัน” ว่า การละเมิดลิขสิทธิ์มีสัดส่วนแผ่นไรท์ 60% และแผ่นปั๊ม 40% โดยสัดส่วนแผ่นไรท์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโรงงานที่ผลิตแผ่นซีดี (ปั๊ม) ไม่กล้าเสี่ยงผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถ้าทำผิดกฎหมายโทษสูงสุดถึงขั้นริบเครื่องจักร

“ช่วงหลังโรงงานเขาไม่ปั๊ม เพราะมันเสี่ยงถูกริบ เครื่องจักรเครื่องหนึ่งก็ตก 20-30 ล้าน ก็เลยหันมาใช้วิธีเลี่ยงกฎหมาย ใช้วิธีรับจ้างผลิตแผ่นเปล่า สกรีนปกซีดี เพื่อส่งต่อไปให้รายย่อยไรท์ลงแผ่นอีกทอดหนึ่ง” เขากล่าว

เปิดบัญชีดำผู้ผลิต
สำหรับบัญชีรายชื่อเครือข่ายของผู้ที่อยู่ในวงการสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์รายใหญ่ ที่อยู่ในข่ายจับตาเป็นพิเศษ โดยทางการได้จัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้ค้า และกลุ่มผู้มีอิทธิพล

เริ่มจากกลุ่มผู้ผลิต แหล่งผลิตใหญ่สุดอยู่ใน จ.นนทบุรี ผลิตแล้วจัดส่งให้กับผู้ค้าปลีก-ค้าส่งทั่วประเทศ โดยผู้ผลิตขาใหญ่คนสำคัญมีอักษรย่อว่า “นาย ก” และ “นาย ฮ” ทั้งสองเมื่อผลิตเสร็จส่วนมากส่งต่อไปยังแหล่งค้าปลีกค้าส่ง ย่านบ้านหม้อ คลองถม และ สะพานเหล็ก โดยมี “เฮียโก” ตลาดบ้านหม้อ เป็นแหล่งพักสินค้าที่สำคัญ

ทั้งนี้ ผู้ผลิตขาใหญ่ใน จ.นนทบุรี คนสำคัญอีกคนคือ “เฮียพีระ” มีเครือข่ายที่สามารถจัดส่งสินค้าออกขายทั่วประเทศ คนๆ นี้ นับว่ากว้างขวางมาก ส่วนย่านคลองถมมีทั้งกลุ่มผู้ค้าส่ง ค้าปลีก และผลิตเองขายเอง บัญชีรายชื่อกลุ่มที่ผลิตเองขายเอง ประกอบด้วย เจ๊ไก่ คลองถม, เจ๊กิ๊ก คลองถม, เจ๊พจ อาคารศรีวรจักร เป็นต้น

“สหรัฐ” เล็งพันธุ์ทิพย์-มาบุญครอง
สำหรับกลุ่มผู้ค้านั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดกลุ่มพื้นที่ค้าส่งค้าปลีกตามระดับความรุนแรงของปัญหา ออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ (พื้นที่สีแดง) เป็นพื้นที่ที่มีการละเมิดมากที่สุดอยู่ใน 8 จังหวัด 25 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ย่านการค้าคลองถม สะพานเหล็ก บ้านหม้อ ย่านการค้าพัฒน์พงศ์ ถนนสีลม ศูนย์การค้ามาบุญครอง ริมถนนสุขุมวิทระหว่างซอย 3-19 ศูนย์การค้าพันธ์ทิพย์พลาซ่า 2.เชียงใหม่ ได้แก่ ย่านการค้าไนท์พลาซ่า ห้างคอมพิวเตอร์พลาซ่า ไอคอน ตลาดริมคำ 3. ภูเก็ต ได้แก่หาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน

4.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ อ.เกาะสมุย 5.ชลบุรี ได้แก่ หาดพัทยา ตลาดนัดจตุจักรชลบุรี อ.ศรีราชา และ ห้างคอมพิวเตอร์พลาซ่า 6. สงขลา ได้แก่ ตลาดสันติสุข ตลาดกิมหยง ตลาดยงดี และตลาดนัด บ.ข.ส. ทั้งหมดที่อยู่ใน อ.หาดใหญ่ 7.กระบี่ ได้แก่ อ่าวนาง และ 8.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ อำเภอหัวหิน

กลุ่มที่ 2 พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง (พื้นที่สีเหลือง) อยู่ใน 6 จังหวัด 19 พื้นที่ ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ย่านการค้าน้อมจิตต์ ลาดพร้าว ย่านการค้าพาต้าปิ่นเกล้า ย่านการค้าฟอร์จูน ย่านการค้าตลาดใหม่ดอนเมือง ย่านการค้าตะวันนา ย่านการค้าประตูน้ำ เจ๊เล้งพลาซ่า ย่านการค้าถนนข้าวสาร ย่านการค้าสะพานพุทธ 2. ปทุมธานี ได้แก่ ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต

3. นนทบุรี ได้แก่ บริเวณบิ๊กซีบางใหญ่ บางศรีเมือง 4. นครราชสีมา ได้แก่ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ศูนย์การค้าไอทีมอลล์ ย่านการค้าเซฟวัน ศูนย์การค้าบิ๊กซี ย่านการค้าไนท์บาร์ซ่า 5.ขอนแก่น ได้แก่ห้างโอเอซิส และ 6.ราชบุรี ได้แก่ ตลาดนัดกำนันหลัก

กลุ่มที่ 3 กลุ่มพื้นที่อื่นๆ ประกอบด้วย ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ตลาดนัดหลังการบินไทย เซ็นทรัลรามอินทรา แฟชั่นไอแลนด์ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน บิ๊กซีวงศ์สว่าง ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง เซ็นเตอร์วัน เซียร์รังสิต ตลาดโบ้เบ๊ โบ้เบ๊ทาวเวอร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว บิ๊กซีลาดพร้าว เมเจอร์รัชโยธิน เดอะมอลล์บางกะปิ เดอะมอลล์รามคำแหง ย่านการค้าหน้าราม ตลาดสำเพ็ง ซอยละลายทรัพย์ บางลำภู ทานตะวันบาร์ซ่า ท่าน้ำนนท์ สยามสแควร์ ตลาดปีนัง ตลาดบางกรวย ท่าน้ำศิริราช ตลาดนัดหน้า อสมท. อิมพีเรียลสำโรง ตลาดโรงเกลือ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าจุดที่ทางการสหรัฐเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ศูนย์การค้าพันธ์ทิพย์พลาซ่า พัฒน์พงศ์ และ มาบุญครอง

ขึ้นบัญชีดำผู้ค้า
สำหรับผู้ค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ที่ถูกขึ้นบัญชีดำของทางการขณะนี้ ประกอบด้วย 1.ขาใหญ่บริเวณย่านการค้าตลาดบ้านหม้อ และตลาดคลองถม ได้แก่ 1. “เฮียโกศล” “เฮียโป๊ย” และ “เฮียอั้ง”

2.ขาใหญ่บริเวณย่านการค้าตลาดบ้านหม้อ "จ่าธน" "พจน์ บ้านหม้อ" "เฮียแกละ" “เมียจ่าบูลย์” และ “ปู๊ด บ้านหม้อ”

3.ขาใหญ่บริเวณย่านการค้าตลาดสะพานเหล็ก ได้แก่ "เปิ้ล สะพานเหล็ก"

4.ขาใหญ่บริเวณย่านการค้าตลาดคลองถม ได้แก่ “สิงโต คลองถม” "เฮียมังกร" "เจ๊นีย์" “เจ๊กิ๊ก คลองถม” “หมี คลองถม” “เจ๊โบว์” “เจ๊บิ๊ก” “เจ๊ไก่ คลองถม” และ “เฮียฉิก คลองถม” เป็นต้น

กลุ่มเครือข่ายของของเถื่อนของใต้ดินย่อมหนีไม่พ้นคนมีสีหรือผู้มีอิทธิพลคุ้มครอง ก่อนหน้านี้ รายชื่อ 41 ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเทปผีซีดีเถื่อนหลุดออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง สำหรับบัญชีรายชื่อต่อไปนี้เป็นอีกชุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นเครือข่ายของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างดีในฐานะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือผู้สนับสนุน

บัญชีรายชื่อกลุ่มผู้มีอิทธิพล ได้แก่ 1. เสธ. ด เป็นผู้มีเครือข่ายกว้างขวาง และเป็นผู้จัดตลาดนัดคนสำคัญในลพบุรี ผู้มีอิทธิพลในตลาดกำนันหลัก จ.ราชบุรี 3.กลุ่มทหารคุ้มครอง อาคารฟอร์จูน ถ.รัชดา 4.กลุ่มตำรวจสายสืบ สน.พญาไท ให้ภรรยา ขายในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า 5.กลุ่มตำรวจสายสืบ สน.ปทุมวันและภรรยา ขายในห้างมาบุญครอง ชั้น 4 และ 6.นายโก้และกลุ่มทหาร ใน ลำปางและ เชียงใหม่ (ส่งทั่วเขตภาคเหนือ)

อย่างไรก็ดี สถานที่ทำการขายสินค้าละเมิดยังคงปรากฏอยู่โดยทั่วไป แต่แหล่งค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ยังคงเป็นย่านคลองถม บ้านหม้อ และสะพานเหล็ก ซึ่งในระยะหลังถูกจับตาจากทางการมากขึ้น ผู้ค้าหลายรายต้องปรับตัวโดยแปรสภาพเป็นคนกลาง (Broker) คอยรับเฉพาะออร์เดอร์ แต่การรับส่งสินค้าจะใช้แถบชานเมืองแทน ทำให้การจับกุมเป็นไปด้วยความยากลำบาก

พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาคือข้อกฎหมาย การจับกุมสินค้าจำพวกนี้จะต้องมีผู้ถูกละเมิดไปชี้ตัวถึงจะจับกุมได้ เมื่อผู้ค้ารายย่อยกระจายอยู่ทั่วไปแม้แต่ตามตลาดนัด จึงผู้ถูกละเมิดเองจึงไม่มีกำลังคนเพียงพอในการไปชี้ตัว ทางเจ้าหน้าที่จึงเน้นจับกุมเฉพาะรายใหญ่ ๆ

ปัญหาประการต่อมาคือ การหลบเลี่ยงที่สามารถทำได้ง่าย คือการโชว์ปก โดยผู้ค้าใช้แผ่นซีดีของจริงโชว์ขายหน้าร้านแต่มีของปลอมไว้หลังร้าน การจับกุมจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือถ้าจับกุมได้ช่วงหลัง ๆ ของกลางก็ไม่มาก เพราะผู้ค้าปรับตัวแบ่งกันขายเป็นรายย่อยๆ จับกุมครั้งหนึ่งก็เสียค่าปรับไม่เท่าไหร่ ที่สำคัญในช่วงหลังมีการใช้เยาวชนมาขาย เมื่อจับกุมก็ฟ้องร้องเข้าสู่ศาลเยาวชน ระดับความรุนแรงของโทษก็เบากว่ามาก

อ่านต่อ (ตอนจบ) “พิษซีดีผีฉุดวงการเพลงสู่ยุคมืด หั่นต้นทุนปั้นนักร้องหนูลองยา”
พ.ต.อ.ณภัทร จุลละบุษปะ รอง ผบก.ตปพ.นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตำรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 กว่า 100 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน กก.สส.น.5 กว่า 30 นาย เข้าตรวจค้นจับกุมระดมกวาดล้างผู้ค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายในห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ.52
กำลังโหลดความคิดเห็น