xs
xsm
sm
md
lg

4 ปีครึ่งไฟใต้ : ความล้มเหลวนโยบายคุมพื้นที่สีแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุด ระบุตัวเลขสถิติยืนยันว่ายุทธวิธีกวาดจับของทางการไม่มีผลมากนักต่อการลดความเสียหายเชิงคุณภาพจากผลการก่อเหตุรุนแรง ข้อมูลชี้ต้องจับตาเหตุพุ่งในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในรอบเดือนที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุด พร้อมทิ้งท้ายว่าการแก้ไฟใต้คงไม่สามารถใช้แนวทางใดเพียงแนวทางเดียว อีกทั้งยังไม่สามารถหวังพึ่ง “ทางลัด” ใดๆ ด้วยเช่นกัน

4 ปี 6 เดือน ของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 8.178 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 3,071 ราย บาดเจ็บ 4,986 ราย กล่าวโดยรวม ในรอบ 54 เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันสูงถึง 8,057 ราย

ความถี่ของความรุนแรงดูเหมือนจะลดระดับลงอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผลพวงจากยุทธการ ‘พิทักษ์แดนใต้’ มาตรการที่เน้นงานการทหาร ด้วยการว่า “ปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุม” ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากยุทธการนี้คือ เหตุการณ์ความไม่สงบที่เคยเกิดขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณ 200 ครั้ง ในช่วงต้นปี 2550 ลดลงเหลือ 114 ครั้งในเดือนกันยายน และ 93 ครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

ในแง่ของนโยบายสาธารณะ ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของนโยบายทางการทหาร

แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความรุนแรงในภาพรวมหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและต้องทำการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบต่อไป

แนวโน้มเหตุการณ์ความรุนแรง ... ลดลง ?

ผลจากการกดดันด้วยมาตรการทางการทหารที่ดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 เป็นการ “เปลี่ยนระดับความรุนแรง” ในลักษณะคล้ายลดลงของขั้นบันได ระดับของความรุนแรงลดต่ำลงจนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2551
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดยะลา นราธิวาสและปัตตานี และ 4 อำเภอของสงขลา ในรอบ 54 เดือน (มกราคม 2547-มิถุนายน 2551)
สิ่งที่ควรสังเกตด้วยก็คือ ลักษณะแบบแผนการก่อเหตุที่เป็นคลื่นสูงต่ำในแต่ละช่วงเวลาของปี ดูคล้ายกับวงจรหรือคลื่นของการก่อความรุนแรง (Cycles of Violence) ในห้วงเวลา 12 เดือน จะเห็นได้ว่าในเวลา 4 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ยอดรวมของการก่อความรุนแรงสูงที่สุด ถึง 931 ครั้ง รองลงมาคือเดือนเมษายน มีเหตุการณ์ 860 ครั้ง ตามมาเป็นลำดับสามคือเดือนมีนาคม 825 ครั้ง ลำดับที่สี่คือเดือนสิงหาคม 791 ครั้ง

กล่าวโดยรวมจะเห็นได้ว่ายอดสูงของเหตุการณ์ความไม่สงบมักจะเกิดมากในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีความรุนแรงสูงที่สุดในเดือนมิถุนายน ส่วนในครึ่งหลังของปี เดือนที่น่าจับตามองคือเดือนสิงหาคมและเดือนพฤศจิกายนซึ่งมักจะเกิดเหตุถี่สูงขึ้น
แผนภูมิแสดงจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบจำแนกเป็นรายเดือนในรอบ 54 เดือน (มกราคม 2547 - 30 มิถุนายน 2551)
เหตุการณ์ลดลง ความสูญเสียคงที่

ประเด็นต่อมาที่จะต้องพิจารณาก็คือ ความมุ่งหมายของการดำเนินนโยบายของรัฐก็เพื่อลดหรือยุติความรุนแรงอย่างยั่งยืน สถาปนาสันติภาพและความสงบสุขในพื้นที่ แต่การระดมพลังทางการทหารและการปิดล้อมตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัยขนานใหญ่เป็นการปฎิบัติการกดดันทางนโยบายอย่างแรง (crackdown policy) จะทำให้ความรุนแรงลดลงจริงหรือไม่ และทำให้ชีวิตของประชาชนมีความสงบสุขจริงหรือไม่? คำตอบอยู่ที่ผลกระทบของมาตรการดังกล่าวต่อการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ (casualties) อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยแบบจำลองทางสถิติแสดงให้เห็นว่าลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2547 ก็คือ “ระดับความถี่ของเหตุการณ์ความรุนแรงรายเดือน ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับจำนวนผู้ตายและบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน” กล่าวในอีกแง่หนึ่งความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดตามมาเป็นกระบวนการที่ไร้ระเบียบแบบแผน (random process) ในทางสถิติเราจึงไม่อาจจะเอาจำนวนครั้งของการก่อเหตุความไม่สงบมาทำนายจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของเหตุการณ์ดังกล่าวได้

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีทั้งการยิงรายวัน การวางระเบิดและการวางเพลิง และการก่อเหตุที่ไม่เกี่ยวกับเหยื่อที่เป็นตัวบุคคล เช่นการโปรยตะปูเรือใบ การพ่นสีตามป้ายจราจรหรือการทำลายเสาไฟฟ้า นอกจากนี้การใช้ระเบิดก็ยังมีขนาดน้ำหนักไม่มากและเป้าหมายก็ไม่ใช่ที่ชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น การตายและบาดเจ็บที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากปฏิบัติการยิงรายวันซึ่งเป้าหมายอยู่ที่พลเรือนและประชาชน

การที่จำนวนการโจมตีก่อเหตุ ไม่มีความสัมพันธ์กับการตายและบาดเจ็บ อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าแม้ในช่วงแรกดูเหมือนว่าเหตุการณ์มีความรุนแรง แต่โดยภาพรวม ก็ใช่ว่าปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากนัก อาจจะเป็นไปได้ว่าการก่อเหตุมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งข่าวสารทางการเมือง หรือสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจรัฐและสร้างความรู้สึกปฏิปักษ์ต่อรัฐมากกว่า

นอกจากนี้แล้วสภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจจะมีหลายกลุ่มที่มีเป้าหมายปฏิบัติการที่ไม่เหมือนกัน บางกลุ่มต้องการให้เกิดการตายและบาดเจ็บมาก และบางกลุ่มก็อาจจะไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียมาก

สถิติที่น่าสนใจก็คือว่า ตั้งแต่ปี 2547-2551 (เดือนมิถุนายน) เหยื่อของความรุนแรง ทั้งตายและบาดเจ็บจำนวนมากที่สุด ร้อยละ 63 เป็นราษฎรหรือพลเรือนผู้ประกอบอาชีพปกติ รองลงมาคือทหาร ร้อยละ 12 และตำรวจ ร้อยละ 10 นอกจากนี้แล้วจะเป็น ราษฎรอาสาสมัคร ชรบ. ข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน
จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ (Casualties) รายเดือน ระหว่างเดือนมกราคม 2547-มิถุนายน 2551
การที่เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นราษฎรหรือสามัญชน สะท้อนให้เห็นยุทธวิธีของการก่อเหตุที่เป็นสงครามแบบใหม่ ซึ่งมุ่งสร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชังในหมู่ประชาชน

แต่ประเด็นก็คือ เราจะประเมินผลของปฏิบัติการของฝ่ายรัฐอย่างไร ?

ผลของการระดมสรรพกำลังทางทหารและตำรวจ ปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุมพื้นที่ความรุนแรงทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็น่าจะทำให้จำนวนเหยื่อความสูญเสียลดลงด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราการตายและบาดเจ็บ (casualties) ทั้งก่อนและหลังเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มปฏิบัติการของฝ่ายทหาร (intervention) แบบจำลองทางสถิติสะท้อนให้เห็นว่า “การปฏิบัติการแทรกแซงทางนโยบายไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการตายและบาดเจ็บอย่างมีนัยสำคัญ”

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง จำนวนการตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบรายเดือนตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2551 ยังคงมีระดับสูงต่ำ ขึ้นๆลงๆ ในอัตราคงที่ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางลดลงแต่อย่างใด แม้จะมีปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุมอย่างหนักภายใต้อำนาจตามพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก แสดงให้เห็นว่านโยบายการปิดล้อมตรวจค้นฯยังไม่สามารถลดระดับความสูญเสียและผลกระทบต่อชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ
อัตราการเสียชีวิตรายเดือนจากความไม่สงบ ระหว่างเดือนมกราคม 2547-มิถุนายน 2551
อาจจะตีความได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง เป็นความรุนแรงในเชิงคุณภาพ เป้าหมายชัดขึ้น การก่อเหตุแต่ละครั้งจึงทำให้มีการตายและบาดเจ็บมากขึ้น อย่างดีที่สุดที่มาตรการทางทหารจะทำได้ก็คือจำกัดขอบเขตของการสูญเสียไม่ให้มากเกินไป หรือไม่ก็ป้องกันมิให้แนวโน้มความรุนแรงสูญเสียขยายตัวไปมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนควบคุมไม่ได้

การวิเคราะห์ดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า ปมปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องยากและซับซ้อน ต้องยอมรับว่าความพยายามของรัฐเพื่อลดความรุนแรงโดยทุ่มกำลังกดการก่อเหตุความไม่สงบ ได้ผลจริงๆในแง่ของการลดจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง แต่ปัญหาก็คือ นโยบายดังกล่าวยังไม่สามารถลดหรือเปลี่ยนแปลงจำนวนการสูญเสียในด้านชีวิตของผู้คน ความรุนแรงซึ่งในระยะหลังมีแนวโน้มว่ามีความลึกเชิงคุณภาพ

ดังนั้น บทเรียนก็คือการจัดการความขัดแย้งแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้วิธีการง่ายๆ ยังไม่มีสูตรสำเร็จรูปในการดำเนินการ แม้ในทางการทหารจะมีความพยายามอย่างมาก แต่ผลพวงที่ได้มาก็ยังไม่ได้อย่างเต็มที่ ความรุนแรงลดลงเชิงปริมาณแต่ไม่ใช่เชิงคุณภาพ คำตอบน่าจะอยู่ที่การดำเนินการแก้ปัญหาในหลายแนวรบ หลายยุทธศาสตร์ยุทธวิธี

การแก้ปัญหาความไม่สงบโดยองค์รวมจะใช้วิธีง่ายๆและลักไก่กันไม่ได้ เพราะมีผู้เกี่ยวข้องมากและเกิดผลกระทบกับหลายฝ่าย สิ่งที่จะต้องสนใจก็คือการคำนึงถึงปัญหาพื้นฐาน (fundamentals) หรือพิจารณาปัญหาทั้งหมดในเชิงโครงสร้าง

เพราะฉะนั้นมาตรการการทหารจะได้ผล ต้องมีการต่อยอดด้วยงานการเมือง งานด้านวัฒนธรรม การอำนวยยุติธรรม และการพัฒนา ซึ่งเกิดขึ้นในแนวระนาบเดียวกัน และช่วยกันทำจากหลายฝ่าย ระบบการจัดการความขัดแย้งทุกด้านจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆกัน การจัดการความรุนแรงจึงจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล การสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนจึงจะบังเกิดขึ้นได้ในที่สุด
 
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น