โดย.. Krishanah Thiwatsirikul
เล่าสู่กันฟังอีกสักข้อเขียน ภาคต่อสำหรับความพินาศของไม้ใหญ่ในวัดสวนป่านตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จนล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อนในช่วงมกราคม 2568 เป็นเหตุทำเอาเหลืออด เหลือทน หลังจากตอนที่ 1 ได้เผยแพร่ออกไปมีความสนใจอย่างกว้างขวาง
....
มะม่วงคัน หรือมะม่วงป่า ต้นใหญ่อายุนับร้อยปีต้นสุดท้ายในวัดสวนป่านหน้าศาลาโรงธรรมต้นที่นอนกองอยู่กับพื้นดินต้นนี้ บันทึกภาพไว้ตั้งแต่วันถูกโค่น ดูขนาดเอาตามภาพเนื้อไม้งามหลายลูกบาศก์เมตร ทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมายสำหรับใครบางคนโปรดสังเกตเอาเถิด หากนับรวมตั้งเมื่อปี 2565 ไม้อีกหลายต้นใหญ่เหล่านั้นเมื่อล้มแล้วไม้หายไปอยู่ที่ไหนไหน แล้วมารอบนี้มกราคม 2568 ซุงท่อนใหญ่ถูกเครนยกขึ้นรถบรรทุกไปอยู่ที่ไหน ไปแปรรูปกันที่ไหน แล้วไม้แปรรูปไปทำอะไร ล้วนแล้วแต่มีคำตอบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะเว้นศีลข้อมุสาหรือไม่เท่านั้นเอง
ส่วนตอโคนมะม่วงป่าต้นสุดท้ายแม้แต่ตอยังไม่เหลือ ตอใหญ่ถูกขุดออกไปทั้งหมด โค่นขุดแบบถอนรากถอนโคนทำงานกันแบบมืออาชีพมีการตระเตรียมวางแผนกันมา ตระเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือเครนมาพร้อมสรรพ นี่ยังไม่นับรวมอีกหลายต้นอยู่ในสภาพถูกบั่นเรือนยอดรอวันตายเช่นที่หน้าโบสถ์
....
เมื่อเย็นวันที่ 4 ก.พ. บังเอิญได้รับรู้ข่าวรู้คราวจากกระรอกวัดสวนป่านว่า สำนักงานพระพุทธศาสนานครศรีธรรมราชและคณะ ไปเยือนที่กุฎิจ้าววัด ไปสอบเก็บข้อมูลเรื่องโค่นไม้ใหญ่กันแบบวินาสสันตโรในวัด คำตอบที่ได้โดยสรุปทำนองกิ่งไม้ผุร่วงใส่หลังคารถ ร่วงใส่หลังคาศาลาอย่างนั้นอย่างนี้ มีช่างมาตัดมารานกิ่งแล้วแนะนำให้โค่นโดยหาได้เจตนาไม่ ว่ากันไปในทำนองนั้น
คิดเล่นๆ วัดที่มีเรื่องน่าเศร้าเยี่ยงนี้หากเป็นเจ้าวัดเป็นผู้กระทำเรื่องเช่นว่านั้นควรตัดโค่นเจ้าวัดออกจากตำแหน่งเสียเช่นเดียวกัน เป็นตรรกะวิธีคิดเดียวกันโดยแท้ แต่จากที่อยู่ในสังคมและเห็นอะไรต่อมิอะไรในวงการสมมติสงฆ์มานานพอควร พอตระหนักว่าการเมืองของวงการนี้มีความรุ่มร้อนไม่น้อยไปกว่าการเมืองเรื่องทางโลก พวกใครพวกมันเช่นนั้นเองจะหาสำนึกนั้นยากยิ่ง
.....
ใช่ว่าทุกวัดในเมืองนครจะเป็นเช่นวัดสวนป่าน ที่วัดเพชรจริก วัดสวนหลวง ในเขตเมืองพระเวียงเมืองเก่าก่อนจะมาเป็นเมืองนครยุคปัจจุบันยังคงรักษาป่าไม้โบราณ ต้นไม้โบราณไว้อย่างดี แม้จะได้รับความเสียหายบ้างในช่วงพายุปาบึก วัดสวนหลวง วัดแจ้ง ได้รับการดูแลจาก “รุกขกร” จากกลุ่ม Big Trees คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช เป็นท่านที่ประสานงานจนเป็นผลเผอิญผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นงานและได้เปิดประสบการณ์ใหม่ได้เห็นและเรียนรู้วิธีทำงานของ “รุกขกร”อย่างตื่นตา และกล้าพูดได้ว่าหากรู้จักไม้ใหญ่ดีพอไม้ใหญ่เหล่านี้จะไม่มีอันตรายใดๆเลย
ที่โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา ไม้ใหญ่ในพื้นที่ศึกษาและถือเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตน่าจะมากที่สุดในประเทศไทยกระมัง บัดนี้ต้นไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูในวันนั้นยืนต้นอวดทรงพุ่มอย่างงดงาม และอีกวัด คือวัดมเหยงค์ แม้มีเนื้อที่ไม่มาก แต่เจ้าคุณพระพิศิษฎ์วินัยการได้สร้างพื้นที่วัดด้วยหมู่ไม้ใหญ่น้อยจนร่มครึ้มเป็นที่อาศัยของนกกากลางเมือง วัดประดู่เจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายมหานิกายรูปปัจจุบันสร้างพื้นที่ป่าจนร่มเย็นสบายไปทั้งวัดอีกหลายวัดมีไม้ใหญ่ที่หลายคนรู้ค่าควรรักษาไว้
....
มีข่าวดีคือ มีผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ทรงภูมิรู้ด้านสถาปัตยกรรม และริเริ่มในการรักษาคุณค่า และการดำรงอยู่ของไม้ใหญ่คู่เมืองนครท่านได้กรุณาให้ความสนใจเรื่องนี้ ท่านเหล่านั้นกำลังดำเนินการบางอย่างให้เกิดเป็นรูปธรรมรอติดตามแล้วจะเล่าสู่กันฟังครับ
ส่วนในวัดสวนป่านไม้ใหญ่ค่าควรคู่เมืองนี้ แม้จะล้มหายตายจากไปแล้ว ด้วยเจตนาใดของผู้ใดสุดแท้แต่ ผู้นั้นย่อมรู้ตัวดี จะแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งใด ไปอยู่ที่ไหนนั่นคือดวงตราความอัปยศแด่ผู้ครอบครอง
ส่วนผู้ก่อให้เกิดและส่งต่อความอัปยศนั้น เจตนาและสำนึกที่แท้จริงจะหลอกหลอนไปจนสิ้นลม มาถึงตรงนี้ผมยอมรับโดยดุษฎี ส่วนตัวผมมีอารมณ์ขุ่นมัวจากภาพที่เห็นและเกลียดเรื่องแบบนี้ยิ่งครับ
โดยเฉพาะในพื้นที่ควรรักษาไว้เช่นใน “วัด” และสถานที่อันร่มเย็นเป็นสาธารณะ
………….
หมายเหตุ..ภาพบันทึกไม้ล้มเมื่อปลายมกราคม 2568
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
๐ วัดสวนป่านและความพินาศของไม้ใหญ่คู่เมืองนคร ตอนที่ 1