xs
xsm
sm
md
lg

วัดสวนป่านและความพินาศของไม้ใหญ่คู่เมืองนคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย.. Krishanah Thiwatsirikul

เล่าสู่กันฟังเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ขุ่นมัวครับ จากการเข้าไปใน วัดสวนป่าน 3 ปีมานี้ไม้เก่าแก่คู่เมืองนครศรีธรรมราช และน่าเชื่อว่ามีมาก่อนตั้งวัด ทยอยถูกล้มระเนระนาดไปแล้ว มกราคม 2565 มะม่วงป่า 3 ต้นใหญ่ถูกโค่นล้ม อายุแต่ละต้นประมาณไม่น้อยกว่า 200 ปีนับแต่ก่อนตั้งวัดมาแน่ วัดก่อตั้งมาโดย “เจ้าคุณม่วง” พระรัตนธัชมุณี พระเถราจารย์รูปสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช หนึ่งในนั้นล้มทุบเจดีย์อายุเกือบ 100 ปี มีข้อความปูนปั้นติดอยู่บนเจดีย์นั้นมีใจความสำคัญอันแสดงถึง “นัย” ประการหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองนคร ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองนครในแง่มุมนอกเหนือจากกระแสหลักจะรู้กัน

***
อีก 3 ปีถัดมา มกราคม 2568 มะม่วงป่าไม้ใหญ่หน้าศาลาโรงธรรม ถูกล้มลงอีกต้นเนื้อไม้งามนัก แต่สร้างความตระหนกเศร้าและขุ่นมัวให้แก่คนรักต้นไม้ใหญ่ คนรักวัด จาก 2565 จนมาวันนี้ ผมเป็นหนึ่งในนั้น ได้บันทึกภาพเหล่านี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่แรกเริ่มการตัดโค่นไม้ใหญ่ตามที่นำภาพมาแสดงให้ทุกคนเห็น เมื่อดูประวัติอายุวัดราว 100 ปีเศษ ไม้ใหญ่ทั้งหลายโดยเฉพาะชุดแรกที่ถูกทำลายไป ไม้เหล่านั้นอายุมากกว่า 200 ปี มากกว่าเวลาตั้งวัดมา อาจมีอายุก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยซ้ำ และอยู่ในสายตาของพระเดชพระคุณ “เจ้าคุณม่วง” ผู้สร้างคุณูปการในการศึกษาของกุลบุตรของชาวนครศรีธรรมราช และยังเป็น “ผู้สร้าง” วัดแห่งนี้


***
สำคัญอีกต้นตะเคียนสูงตระหง่านข้างกุฏิเจ้าวัดรูปปัจจุบัน (แต่เดิมคือกุฏิเจ้าคุณธาดา) กำลังถูกตัดเรือนยอด เป็นเครื่องหมายว่าต้นนี้กำลังรอถูกล้มตาม หากจำไม่ผิดต้นนี้ถูกปลูกมาในสมัยของ “เจ้าคุณธาดา” พระภัทรธรรมธาดา ส่วนหลังอุโบสถมะม่วงป่าอายุราว 100 ปี ถูกตัดเรือนยอดจนเหลือแค่ลำต้นยืนต้นตายซากสะท้อนความหดหู่ มาหน้าอุโบสถมะขามต้นงาม โพธิ์ใหญ่อีกต้นถูกตัดทำลายยืนต้นรอวันเป็นซาก หากมีกระบวนการเช่นนี้อนาคตภายหน้าหมู่ตะเคียนหน้าวัดมาแต่สมัยท่านเจ้าคุณธาดา คงจะมีอายุต่อไปได้อีกไม่นาน

***
วานนี้เข้าไปในวัดสวนป่านอีกรอบ แบ็กโฮขนาดเล็กกำลังขุดตอมะม่วงป่าหน้าโรงธรรมมีป้ายมาติดตั้ง ทำนองเป็นพื้นที่สร้างฐานคอนกรีต สำหรับพระรัตนธัชมุณี (ท่านม่วง) พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย) และพระภัทรธรรมธาดา (สมพร ปสนฺนจิตโต) ยิ่งสะท้อนวิธีคิดบางประการของเจ้าวัดและคณะการตัดโค่นไม้ใหญ่ผู้มีอายุยืนยาวมาแต่ก่อนกาลสร้างวัด จะอ้างเหตุผลใดสุดแท้แต่ในเมื่อวัดเป็นสิทธิของเจ้าวัดเสียแล้ว ส่วนผมคิดศึกษาและเชื่อโดยสุจริตไม้เหล่านี้เติบโตใหญ่มาก่อนพระเถระรูปสำคัญของเมืองนครทั้งสามรูปอุบัติขึ้น จนกาลเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์กลายเป็นสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สร้างคุณูปการเหลือคณานับ ท่านทั้งสามนั้นได้ใช้ร่มเงาของหมู่ไม้ใหญ่เหล่านี้ในวัตรปฏิบัติของท่านเป็นแน่แท้ เป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ และเชื่อแน่โดยเฉพาะ “เจ้าคุณธาดา” ไม่ประสงค์มานั่งตากแดดลมเฝ้ารถ เฝ้าตลาดธุรกิจของวัดกระมัง หรือวัดไหนเห็นควรรักษาไม้ใหญ่ที่มีอยู่ลองเรียนปรึกษา Bunchar Pongpanich และรังสิต ทองสมัคร์ เชื่อแน่ทั้งสองท่านพร้อมแบ่งปันความคิดอ่านสร้างสรรค์บ้านเมือง วัดวาเป็นแน่


***
ตลอดกว่าศตวรรษล่วงผ่าน ปู่ย่าตาทวดบรรพบุษของชาวเมืองนคร จวบจนผู้เฒ่าผู้แก่ในกาลปัจจุบันใช้โคนไม้ใหญ่เหล่านี้เป็นที่ทอดน้ำจากการกรวดน้ำส่งกุศลแด่บรรดาบรรพชน ส่งผ่านพระแม่ธรณีสายน้ำเหล่านั้นไปยังโลกหน้า น้ำเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งในเนื้อไม้งาม วันนี้ไปตกอยู่ในคาเฟ่ไหน ไปเป็นไม้ประดับบารมีมนุษย์หน้าไหน สร้างประโยชน์ให้ใคร ไม่อยากคิดให้เป็นบาปกรรม สำหรับวัดสวนป่านที่เคยรู้จัก และเคยอาศัยร่มเงาไม้ใหญ่บัดนี้ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว

****
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

#เรื่องเล่าชายขอบเมืองนคร
หมายเหตุ : ภาพชุดนี้เป็นเหตุการณ์เมื่อ มกราคม 2565 ส่วนภาพเมื่อมกราคม 2568 จะเผยแพร่อีกครั้งในตอนถัดไป








กำลังโหลดความคิดเห็น