xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ยันคัดค้านรัฐบาลใหม่ขึ้นค่าแรง 400 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ยืนยันคัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท ชี้ควรยึดกลไกไตรภาคี ขึ้นตามเหมาะสมพื้นที่-ชนิดอุตสาหกรรม ยกจีดีพีแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เตือนรัฐบาลหักดิบใช้เสียงบอร์ด 2 ใน 3 เคาะ ทำได้แต่เอสเอ็มอีล้มแน่

วันนี้ (19 ก.ย.) นายอดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เตรียมประชุมในวันที่ 20 กันยายนนี้ เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ในปี 2567 ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ที่จะให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยใช้เสียงที่ประชุม 2 ใน 3 แม้ฝ่ายนายจ้างจะไม่เข้าร่วมผ่านมติเห็นชอบ ว่าในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนั้น เพราะที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กกร. ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร และภาคเอกชนอื่นๆ ต่างก็ไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามายังมีความพยายามที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทอีกครั้ง


ในนามของภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เรายังคงยืนกรานเช่นเดิมว่า “ไม่เห็นด้วย” เราอยากให้รัฐบาลฟังเสียงจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำหรือไตรภาคี ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันที่ประชุมกันลูกจ้างเองไม่ได้ต้องการให้ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ แต่เสนอให้ปรับไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ วันนี้หากรัฐบาลจะปรับให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี จะมีอุปสรรคเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งทุกวันนี้มีข่าวการปิดโรงงานมากขึ้น ทุกเดือนก็มีโรงงานปิดกิจการลง

นายอดิศร กล่าวอีกว่า วันนี้สภาอุตสาหกรรมภาคใต้กันดีว่าเศรษฐกิจโดยรวมภาคการผลิตต้องเจอกับต้นทุนสูงรอบด้าน เช่น ต้นทุนพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน ภาวะสงคราม โดยเฉพาะทุกวันนี้ต้องเจอกับสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีลำบากมาก การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะกระทบธุรกิจกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมเป็นห่วงในเรื่องนี้

ยืนยันว่าสภาอุตสาหกรรมไม่ได้ไปขวางเม็ดเงินที่ไปสู่ภาคแรงงาน จริงๆ บางอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีค่าแรงที่มากกว่า 400 บาทอยู่แล้ว เป็น 500-900 บาทต่อวันก็มี แต่บางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้น จะทำให้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อปรับค่าแรงจะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น จึงคิดว่าตรงนี้ควรเป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการไตรภาคี ซึ่งลูกจ้างเองก็ทราบอยู่แล้ว


“ทั้งนี้ควรปรับขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ ถือว่าเป็นการทำที่ถูกต้อง ที่จะปรับให้แรงงานอยู่ได้ แต่อยากให้รัฐบาลไปดูในอุตสาหกรรมภาคการผลิต หรืออุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากภาคเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่ำ ใช้แรงงานคนเป็นหลัก หรือแรงงานเข้มข้น เป็นแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เพราะค่าแรง 400 บาท จะส่งผลกระทบในบางจังหวัด เพราะสภาพเศรษฐกิจและจีดีพีแต่ละจังหวัดโตไม่เท่ากัน รัฐบาลควรไปดูในจุดนี้ด้วยว่าจังหวัดไหนปรับได้ หรือจังหวัดไหนที่ควรยึดตามหลักเกณฑ์ของอนุกรรมการไตรภาคีได้”

ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใตั กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีตัวแทนนายจ้างไม่เข้าประชุมบอร์ดรอบที่แล้วนั้น และรอบนี้รัฐบาลสามารถใช้เสียง 2 ใน 3 ผ่านมติได้ ไม่ถือเป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนไม่ใช่ว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม แต่แค่ต้องการให้รัฐบาลรับฟังและพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะภาคเอกชนเองยึดมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะมีกฎหมายรองรับ พร้อมอยากฝากไปยังรัฐบาลให้ดูแลขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเรื่องสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา แล้วทำให้ธุรกิจรายเล็กรายน้อยเดือดร้อนมากในขณะนี้ และควรจะสนับสนุนเรื่องการพัฒนาทักษะให้แรงงานควบคู่ไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น