ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เดินหน้าผลักดันธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง
วันนี้ (1 พ.ย.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแถลงข่าว “แนวทางการดำเนินงานโครงการนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน ปีงบประมาณ 2567” พร้อมจัดแสดงผลงานหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากผู้ประกอบการที่ได้รับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความรับรู้และจุดประกายความคิดในการทำธุรกิจนวัตกรรม รวมถึงเป็นการนำองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีศักยภาพและสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน สร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้อย่างดี โดยมี รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร คุณภคพงศ์ พรมนุชาธิป ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล หัวหน้าโครงการนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน ร่วมแถลงข่าว ณ ห้อง EILA 6 ชั้น 8 สำนักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
การดำเนินงานโครงการนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน ประจำปี 2567 นี้ได้ดำเนินจัด “กิจกรรมหลักสูตรฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน (Deep South Innovation Business Coaching Program)” มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน รวมถึงเพื่อดำเนินธุรกิจนวัตกรรม และการสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่/ลงทุนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้ประกอบการและนักธุรกิจในพื้นที่ หรือผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่มีการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน (ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ที่มีแนวคิดและความสนใจในการพัฒนาธุรกิจ Startup พร้อมทั้งดำเนินธุรกิจนวัตกรรมทั้งในลักษณะของ Smart SMEs และ Startup ได้แก่ 1.เครือข่ายทายาทนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC: Young Entrepreneur Council) 2.กลุ่ม Smart SMEs และ Startup และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีฝีมือ แต่ยังไม่มีแนวคิดในการจัดตั้งเป็นธุรกิจหรือขาดแรงกระตุ้นในการสนับสนุนให้เกิดเป็นธุรกิจ 3.กลุ่มผู้บริหารองค์กร บริษัท หน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีการบ่มเพาะ ให้บริการ หรือมีกิจกรรมส่งเสริม Smart SMEs และ Startup
สำหรับหลักสูตรนี้ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องด้วยการอบรม 2 กิจกรรม ได้แก่
1.กิจกรรมหลักสูตรการอบรมขั้นพื้นฐาน สำหรับปีนี้จะจัดขึ้นด้วยกันทั้งหมด 5 จังหวัด (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ โดยสร้างการรับรู้และจุดประกายความคิดการทำธุรกิจนวัตกรรม รวมถึงแนวทางและข้อคิดในการดำเนินธุรกิจ SMEs และ Startup พร้อมให้คำปรึกษานวัตกรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
2.กิจกรรมหลักสูตรการอบรมแบบเข้มข้น เพื่อสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงวันเสาร์-วันอาทิตย์ เน้นให้ความรู้แบบเข้มข้นแก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากกิจกรรมหลักสูตรการอบรมขั้นพื้นฐาน ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับธุรกิจของตนเอง รวมไปถึงการวางแผนพัฒนาข้อเสนอโครงการ และนำเข้าไปสู่ขั้นตอนในการดำเนินการขอทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ (สนช.) ได้มีการให้ทุนสนับสนุนด้านนวัตกรรมทุน Open Innovation ซึ่งเป็นทุนเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการทั้ง Smart SMEs และ Startup มูลค่าสูงสุดสูงถึง 1,500,000 บาท โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน 11 โครงการมูลค่ารวมกว่า 9 ล้านบาท และยังคงมีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อความพร้อมสำหรับขอรับทุนในปี 2567 นี้ การดำเนินงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ให้องค์ความรู้ ความสามารถ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่แก่ผู้ประกอบการจนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นข้อเสนอโครงการนวัตกรรมและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ facebook: Deep South Innovation Business Coaching Program