“อุโมงค์ป่าตอง” หรือ "โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง" เป็นอีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจกต์ของจังหวัดภูเก็ต ที่ผลักดันกันมาหลายยุคหลายรัฐบาล แต่ยังไม่สำเร็จจนถึงปัจจุบันนี้ แม้ว่าโครงการจะมีความคืบหน้าตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อถึงขั้นตอนการเชิญชวนในเอกชนเข้ามาลงทุน ปรากฏว่าไม่มีเอกชนแม้แต่รายเดียวยื่นซองประมูลดำเนินการโครงการ ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเจ้าของโครงการเปิดให้เอกชนลงทุน
การเดินทางมาภูเก็ตอีกครั้งของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ในวันที่ 29 ก.ย.2566 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นการเดินทางมาภูเก็ต เป็นครั้งที่ 2 หลังจากได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยครั้งแรกนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาภูเก็ต เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2566 หลังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นจังหวัดแรกที่นายกฯ เดินทางมาติดตามและรับทราบปัญหาต่างๆ เช่น การขยายสนามบินภูเก็ตในการรองรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการพบปะกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว เพราะนายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายในการกระตุ้นการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
การเดินทางมาภูเก็ตของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้มาด้วยภารกิจของกระทรวงคมนาคม เป็นหลัก โดยเฉพาะการติดตามการขยายสนามบินภูเก็ต การลงทุนก่อสร้างสนามบินภูเก็ต แห่งที่ 2 (สนามบินพังงา ที่บ้านโคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา) รวมไปถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในจังหวัดภูเก็ตที่ยังล่าช้า ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อการเติบโตทางการท่องเที่ยวของภูเก็ต การจราจรที่ติดขัดอย่างมากหลังการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว
“โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง หรือ โครงการอุโมงค์ป่าตอง จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทางจังหวัดภูเก็ตจะเร่งรัดไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ในการผลักดันให้โครงการเกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบนเขาป่าตอง ที่เป็นเนินเขาสูง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากปริมาณการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น
โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง หรือ โครงการอุโมงค์ป่าตอง มีการผลักดันกันมายาวนาน เปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบมาแล้วหลายหน่วย จนปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาทบทวนโครงการใหม่ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดรูปแบบการลงทุน และดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด จนถึงขั้นตอนการเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลลงทุนก่อสร้างโครงการ ปรากฏว่าไม่มีเอกชนแม้แต่รายเดียวยื่นซองประกวดราคาเพื่อลงทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากเอกชนมองว่าการลงทุนในโครงการมีระยะทางที่สั้นเกินไป และยังไม่คุ้มค่าต่อการร่วมลงทุน
ล่าสุด นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะมีการทบทวนแผนลงทุนทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง หลังประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน วงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท โดยมีเอกชนเข้าซื้อซองเอกสาร RFP รวม 13 ราย และกำหนดยื่นซองเอกสารเมื่อวันที่ 7 เม.ย.66 ปรากฏว่าไม่มีเอกชนเข้ายื่นซองเลย กทพ.จึงได้มีการทบทวนแผนการลงทุนโครงการอุโมงค์ป่าตองใหม่ โดยใช้รูปแบบระดมทุนเอง หรือใช้รายได้จากค่าผ่านทางที่จัดเก็บได้จากโครงข่ายทางพิเศษทั้งหมดเป็นค่าก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้สามารถเร่งรัดการก่อสร้างได้เร็วขึ้น คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เอกชนไม่เข้าร่วมประมูลโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง นั้น เนื่องจากเอกชนกังวลเรื่องความคุ้มค่า เพราะเส้นทางมีระยะสั้น 3.9 กม. มีค่าลงทุนสูง 14,670 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 8,878 ล้านบาท และทำให้ค่าก่อสร้างปัจจุบันเพิ่มอีกประมาณ 1,700 ล้านบาท หรืออยู่ที่ประมาณ 9,700 ล้านบาท โดยมีค่าดำเนินงานและบำรุงรักษาหรือระบบ O&M ประมาณ 3,142 ล้านบาท
และเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไป กทพ.จะลงทุนก่อสร้างงานโยธาเองทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงเวลาใกล้เคียงกับโครงการก่อสร้างระยะที่ 2 ทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ส่วนงานระบบและจัดเก็บค่าผ่านทางของระยะที่ 1 สายกะทู้-ป่าตอง จะนำไปรวมกับโครงการระยะที่ 2 สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ โดยเบื้องต้นมีมูลค่าลงทุนประมาณ 35,800 ล้านบาท
สำหรับโครงการระยะที่ 2 ทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม.นั้น กทพ.ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการตั้งแต่ต้นปี 2565 ขณะนี้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างสรุปผล และนำเสนอรายงานตามขั้นตอน โดยจะเสนอคณะกรรมการ PPP หรือบอร์ด PPP จากนั้นเสนอ ครม.และตั้งคณะกรรมการ มาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 และจะเสนอขออนุมัติรายงาน EIA ควบคู่กันไป
นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ต ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้ประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมข้อมูลโครงการอื่นๆ ที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และเป็นการแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งบนถนนเทพกระษัตรี ที่ยังล่าช้า ซึ่งหากโครงการไม่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบด้านการจราจรติดขัดอย่างหนัก รวมไปถึงจุดอื่นๆ ของภูเก็ต เช่น
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 สนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะที่ 2 เส้นทางช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาถึงระบบรถไฟฟ้ารางเบา แต่ในสมัยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มองว่าการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบามีการลงทุนสูง โอกาสที่จะเกิดโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า จึงได้ปรับให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า หรือ BERT ไปก่อนในช่วงเริ่มต้น หากต่อไปในอนาคตการใช้ระบบขนส่งมวลชนจากสนามบินภูเก็ตไปยังจุดต่างๆ มีมากขึ้น สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นระบบแทรมได้
ในเรื่องนี้ทางภาคเอกชนขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้เกิดขึ้นในช่วงเวลากันใกล้นี้ อาจจะเป็นรถเมล์ไฟฟ้าไปก่อน ที่ ทาง อบจ.ภูเก็ต และบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด มีความพร้อมในการดำเนินการหากได้รับการอนุมัติจากกระทรวงคมนาคม เพราะหากต้องรอโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ยังต้องใช้เวลาอีกนาน จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเดินทางไปสนามบินของนักท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันการจราจรติดขัดอย่างมาก
โครงการทางพิเศษเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ที่ กพท.ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการตั้งแต่ต้นปี 2565 ขณะนี้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างสรุปผล และนำเสนอรายงานตามขั้นตอน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรบนถนนเทพกระษัตรีได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มช่องทางจราจร ทางหลวง 4027 บ้านพารา-เมืองใหม่ ที่ยังติดขัดเรื่อง EIA โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 (แยกท่าเรือ) โครงการสนามบินแห่งที่ 2 (พังงา) เป็นต้น
การเดินทางมาภูเก็ตของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในครั้ง ทำให้คนภูเก็ตมีความหวังขึ้นมาบ้างว่าโครงการต่างๆ ที่ผลักดันกันมาหลายยุคหลายสมัย น่าที่จะได้เกิดขึ้นบ้างในรัฐบาลชุดนี้ ที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ซึ่งภูเก็ตนั้นเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ และเป็นที่รู้จักทั่วโลก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 4 แสนล้านบาท น่าจะได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาลชุดนี้