ตรัง - สสว.และ กยท.จับมือพัฒนาสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง พร้อมต่อยอดภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS ปีงบประมาณ 2566 ‘SME ปัง ตังได้คืนปี 2’
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดอบรมสัมมนาและรับสมัครผู้ประกอบการ SME ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางและโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2566 "SME ปัง ตังได้คืน ปี 2" เป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่าง สสว.และ กยท. เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยาง สู่การตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตัวแทนสถาบันเกษตรกร และตัวแทนผู้ประกอบกิจการยางจาก จ.ตรัง จ.พังงา จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง ร่วมเข้าอบรมประมาณ 80 คน
โดย สสว. และ กยท.ได้บูรณาการความร่วมมือเพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าและบริการ พัฒนาช่องทางการจำหน่าย และการตลาด รวมถึงพัฒนาตลาดต่างประเทศ ให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางครอบคลุมหมดทุกด้าน ทั้งด้านงบประมาณในสัดส่วน 50-80% การถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ การประชุม และการเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถร่วมทำธุรกิจการค้า ทั้งในและต่างประเทศ สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้เข้าถึงบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย บอกว่า จากการที่ กยท.ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม MSME ผ่านระบบการให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Busines Development Service) ปีงบประมาณ 2566 “SME ปัง ตังได้คืน” และส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ และการเชื่อมโยงเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นระดับ SME หรือ MSME สามารถเพิ่มโอกาสในการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งสามารถพัฒนายกระดับผลิตภาพและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบที่สามารถเลือกรับบริการที่ตรงตามความต้องการของตน จากหน่วยให้บริการต่างๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน
ดังนั้น ส่วนตัวจึงมีความตั้งใจที่จะมุ่งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน โดย กยท.จะเป็นหนึ่งในสะพานที่จะเป็นช่องทางสร้างโอกาสให้สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ การลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพ หรือสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีสถาบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางไว้มีประมาณ 1,700 กว่าราย ซึ่งในเบื้องต้นตั้งเป้ามีสถาบัน และผู้ประกอบกิจการยางเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 5 แห่ง และจะขยายต่อไปเรื่อยๆ ตามความพร้อมของสถาบัน และผู้ประกอบกิจการยาง
ด้านนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. บอกว่า เมื่อเรายกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้าบริการสู่มาตรฐานสากล เพื่อแข่งขันการตลาดและต่างประเทศได้แล้ว ทาง สสว.ยังมีงบประมาณในการรองรับการสนับสนุนเป้าหมายอนาคตข้างหน้าธุรกิจ SME ซึ่งรวมถึงของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางด้วยจะสามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกรมบัญชีกลาง และทุกหน่วยราชการจะต้องสนับสนุน และให้โอกาสธุรกิจ SME ในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย โดยทาง สสว.มีงบประมาณในการรองรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เฉพาะของปี 2566 ยังเหลืออีกประมาณ 400 ล้าน และได้ขอขยายเวลาไปแล้ว ซึ่งในปีต่อไปจะมีการจัดสรรงบประมาณทุกปี เพียงพอในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ