ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงโครงการจัตุรัสเมืองตรัง ก่อสร้างในพื้นที่ชุมชนเมือง จำเป็นต้องแบ่งการก่อสร้างเป็นช่วง ต้องปิดถนนเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างทีละส่วน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชนบริเวณใกล้เคียงให้น้อยที่สุด
ตามที่ปรากฏข่าวสารประเด็น “ชาวบ้านร้องเรียนการก่อสร้างโครงการจัตุรัสเมืองตรัง หรือตรังสแควร์ ระยะที่ 1 บริเวณหอนาฬิกา ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง งบประมาณ 43 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้างยาวนานถึง 700 วัน อาจเป็นสาเหตุให้ผู้รับเหมาไม่เร่งการทำงาน ทำให้โครงการล่าช้า อาจจะนำไปสู่การทิ้งงาน อีกทั้งการแก้ไขปรับแบบโครงการจะก่อให้เกิดการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีกหรือไม่” นั้น
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการก่อสร้าง “โครงการจัตุรัสเมืองตรัง ระยะที่ 1 บริเวณหอนาฬิกา ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง” สอดรับกับแผนงานพัฒนาเมืองอัจฉริยะจังหวัดตรัง หรือ Trang Smart City งบประมาณ 43,297,000 บาท (สี่สิบสามล้านสองแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) เริ่มต้นสัญญา วันที่ 28 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 รวมระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง 700 วัน
ทั้งนี้ เนื่องจากการก่อสร้างเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนเมือง บริเวณถนนตั้งแต่แยกหอนาฬิกาไปตลอดถนนวิเศษกุล จนถึงสี่แยกที่ตัดกับถนนพัทลุง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้ในการสัญจรตลอดเวลา ทำให้การก่อสร้างไม่สามารถปิดถนนทั้งพื้นที่ได้ จึงจำเป็นต้องแบ่งการก่อสร้างเป็นช่วง โดยจะมีการปิดถนนเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างทีละส่วน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชนบริเวณใกล้เคียงให้น้อยที่สุด ประกอบกับรูปแบบการก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพื้นถนน และทางเท้ามีลวดลายอันสื่อถึงเอกลักษณ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ลายแก้วชิงดวงของจังหวัดตรัง เป็นวัสดุที่มีลักษณะพิเศษ จึงมีการกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกขั้นตอน เพื่อให้การก่อสร้างอยู่ในระยะเวลาของสัญญาจ้าง และไม่ก่อให้เกิดการทิ้งงาน
กรมฯ และผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ และสรุปข้อปัญหาตามสภาพหน้างานเรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการปรับแก้แบบให้สอดคล้องกับพื้นที่จริง ให้โครงการมีความสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้งานทางเท้า และใช้ถนนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เพื่อใช้ประกอบการแก้ไขสัญญา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการก่อสร้าง เนื่องจากมีงานส่วนอื่นที่สามารถดำเนินการได้ โดยปัจจุบันผู้รับจ้างได้ดำเนินการรื้อถอนเกาะกลาง และเทผิวถนนเกาะกลางแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าดำเนินการส่วนที่เหลือต่อไป ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้กำชับเร่งรัดให้ผู้รับจ้างปรับแผนการดำเนินงานเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จทันภายในระยะเวลาที่กำหนด
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง :
๐ โครงการ “ตรังสแควร์” ชะงัก! หวั่นผู้รับเหมาทิ้งงานกลางเมือง สงสัยสัญญา 700 วัน เอื้อเอกชนทิ้งงาน-ควงงานอื่นหรือไม่?