xs
xsm
sm
md
lg

ภาครัฐผนึกเอกชนแถลงจัดงาน “Venue Standards in Songkhla MICE City” ตอกย้ำภาพลักษณ์ ‘อุตสาหกรรมไมซ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ภาครัฐผนึกกำลังร่วมกับภาคเอกชน แถลงข่าวจัดงาน “Venue Standards in Songkhla MICE City” หวังตอกย้ำภาพลักษณ์ของ ‘อุตสาหกรรมไมซ์’ พร้อมพลิกฟื้นภาคเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวภูมิภาค ร่วมเป็นประธานจัดแถลงข่าวส่งเสริมการประชุมสัมมนา และมี CVB ระดับจังหวัด (Convention and Visitors Bureau) แห่งแรกของเมืองไทย ที่ริเริ่มการสนับสนุนอย่างจริงจังให้ผู้ประกอบการใน “สงขลาไมซ์ซิตี” ได้รับมาตรฐานสถานที่จัดงาน ด้วยเพราะอุตสาหกรรมไมซ์ เป็นหนึ่งของธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่เศรษฐกิจของสงขลาไมซ์ซิตี

ทั้งนี้ จังหวัดสงขลามีนโยบายอย่างชัดเจนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ให้เติบโตทัดเทียมกับการแข่งขันของนานาประเทศ รวมถึงการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจังหวัดสงขลา มีเป้าหมายหลักในการดําเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้หลักของประเทศ สามารถกระจายรายได้ไปในทุกภูมิภาค


อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการสร้างรายได้เข้าจังหวัดสงขลาเท่านั้น แต่จังหวัดจะต้องให้ความสำคัญทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพของสถานที่และบริการ รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากการมีมาตรฐานจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นเครื่องยืนยันความพร้อม ความเป็นมืออาชีพของสถานที่จัดงานในจังหวัดสงขลา เพื่อให้สามารถดึงงาน และผู้จัดงานทั้งในและต่างประเทศเข้ามาจัดงานในสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐาน

ดังนั้น การดําเนินงานเรื่องการเพิ่มจำนวนสถานที่จัดงานให้มีมาตรฐานในระดับประเทศและสากล ครอบคลุมมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย Thailand MICE Venue Standard (TMVS) และมาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียน ASEAN MICE Venue Standard (AMVS) จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดปริมาณ และคุณภาพของสถานที่และบริการ รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ปัจจุบัน มีสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน TMVS และ AMVS ประเภทห้องประชุม (Meeting Room) สถานที่จัดงานแสดงสินค้า (Exhibition Venue) และต่างประเทศ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ในจังหวัดสงขลา และส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านมาตรฐานในจังหวัดสงขลาไมซ์ซิตี สู่การรับรู้ในระดับประเทศและนานาชาติ


จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้นำส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “Venue Standards in Songkhla MICE City” โดยมีประเด็นสำคัญประกอบด้วย นโยบายของจังหวัดสงขลาในการสร้างแรงดึงดูดให้เจ้าของงานตัดสินใจมาจัดงานในสงขลาไมซ์ซิตี ทิศทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนมาตรฐานในสถานที่จัดงาน การดำเนินการยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ และกลไกสู่ความสำเร็จ กลยุทธ์ในการผลักดันให้สงขลายืนหนึ่งในด้านสถานที่จัดงานที่มีมาตรฐาน ความพร้อมของสงขลาไมซ์ซิตีในการรองรับการจัดงาน และความเหมาะสมในการเป็นสถานที่จัดงานไมซ์ และการถอดบทเรียนโครงการ Medical & Wellness Tourism ผ่านการใช้โอกาสจากสถานที่จัดงานไมซ์ในจังหวัดสงขลา

นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า แม้ว่าในปัจจุบันจังหวัดสงขลาจะมีสถานที่จัดงานที่ได้รับมาตรฐานสถานที่จัดงานระดับประเทศ จำนวน 21 แห่ง มาตรฐานระดับอาเซียน จำนวน 21 แห่ง แต่เรายังมีความมุ่งมั่นในการผลักดันมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ให้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกรอบในการยกระดับมาตรฐาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในสงขลา ให้มีหลักยึดในการพัฒนา และดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านการลงทุน การบริหารจัดการ และการส่งเสริมตลาดให้เกิดการประชาสัมพันธ์สถานที่จัดงานไมซ์ของสงขลาไมซ์ซิตี สู่การรับรู้ของผู้จัดงาน และนักเดินทางไมซ์อย่างทั่วถึง


อีกทั้งการเตรียมความพร้อมบุคลากรในธุรกิจไมซ์ นับเป็นความสำคัญที่จะช่วยสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์สงขลา ในการพัฒนาศักยภาพตนเอง และสร้างความมั่นใจแก่ผู้จัดงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ ในการดึงงานไมซ์มาจัดในสงขลาไมซ์ซิตี ซึ่งในอนาคตเมื่อบุคลากรไมซ์ในสงขลาได้รับการพัฒนา ยกระดับสอดคล้องกับมาตรฐานสถานที่จัดงาน ผู้ที่เริ่มพัฒนาก่อนโดยมีความพร้อมกว่าย่อมมีความได้เปรียบมากกว่าในแง่ของการตลาด และการแข่งขัน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดการแถลงข่าวในครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไมซ์ ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการพลิกฟื้นภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการจ้างงานให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน
















กำลังโหลดความคิดเห็น