xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มใหญ่ตรังเปิดฟาร์มเลี้ยงกระต่ายเนื้อและสวยงาม สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่รายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - หนุ่มใหญ่ชาวตรังเปิดฟาร์มเลี้ยงกระต่ายขายเนื้อและสวยงาม ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะนำไปทำเป็นเมนูต่างๆ เช่น แกงมัสมั่น ข้าวหมกและทอด เนื่องจากเนื้อกระต่ายอร่อย นิ่ม มีไขมันต่ำ

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ศูนย์เครือข่าย ศพก. (ด้านปศุสัตว์) หมู่ที่ 8 บ้านไร่พรุ ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรของ นายนาวี จันทร์กระจ่าง อายุ 51 ปี ได้ใช้พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน เลี้ยงกระต่ายขายเนื้อและสวยงาม เน้นอินทรีย์ปลอดสารพิษ โดยกระต่ายที่เลี้ยงไว้เป็นสายพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ และสายพันธุ์ไจแอนท์ มีแม่พันธุ์ทั้งหมด 10 ตัว ทั้งนี้ กระต่ายจะออกลูกครั้งละ 7-8 ตัวต่อคอก ส่วนอาหารกระต่ายจะใช้อาหารวัวนม ซึ่งขณะนี้ตลาดในต่างประเทศนิยมซื้อสายพันธุ์เนื้อไปทำเป็นเมนูต่างๆ เช่น ประเทศมาเลเซียทำแกงมัสมั่น ประเทศอินโดนีเซียทำข้าวหมกและทอด และในประเทศไทยที่จังหวัดปัตตานี นำไปทำข้าวหมก

โดย นายนาวี เริ่มเลี้ยงกระต่ายสวยงามมาได้ประมาณ 6-7 เดือนแล้ว ก่อนพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการเลี้ยงสายพันธุ์เนื้อ ซึ่งได้รับผลตอบรับดี มีทั้งตลาดสัตว์เลี้ยงและตลาดสายพันธุ์เนื้อ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท เพราะขณะนี้ยังผลิตกระต่ายออกมาได้ไม่มาก โดยหากนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม ตนเองจะขายให้ทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ รุ่นอายุประมาณ 1 เดือน ตัวผู้ตัวจะขายตัวละ 500 บาท ส่วนตัวเมียจะขายตัวละ 1,000 บาท แต่หากนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์ขายเนื้อ จะส่งไปที่จังหวัดปัตตานีและส่งให้ลูกทีม ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยตัวหนึ่งๆ จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 1.8-2 กิโลกรัม ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ส่วนใหญ่นิยมนำเนื้อกระต่ายไปบริโภคทำเป็นเมนูต่างๆ เช่น ข้าวหมก มัสมั่น และทอด เนื่องจากเนื้อกระต่ายอร่อย นิ่ม มีไขมันต่ำ จนมีผู้นำขึ้นภัตตาคารแล้ว แถมยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพด้วย ถือว่าตอนนี้ตลาดเปิดกว้างขึ้นเยอะ เพราะทั้งสายพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ และสายพันธุ์ไจแอนท์ จะเลี้ยงไว้บริโภค หรือสวยงามก็ได้ และสามารถขายควบคู่กันได้ ประกอบกับการเลี้ยงกระต่ายนั้นไม่ค่อยมีปัญหา แค่จัดการเรื่องฟาร์มให้สะอาด มีอาหารดีๆ ให้กิน พ่อแม่พันธุ์ต้องนิ่ง และในจังหวัดตรังขณะนี้ยังมีผู้เลี้ยงกระต่ายเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพิ่มเติม หากผู้ใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.06-6143-4332






กำลังโหลดความคิดเห็น