“พาณิชย์” ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชน และมีโอกาสส่งออกขายจีนและมาเลเซียเพิ่มขึ้น
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดยะลา โดยมั่นใจว่าด้วยรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จะช่วยให้ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค และส่งผลดีต่อการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย ซึ่งสอดรับกับนโยบายสร้างความเข้มเเข็งเศรษฐกิจชุมชนไทย กระจายรายได้สู่เกษตรกรรายย่อยที่กระทรวงพาณิชย์ผลักดัน
สำหรับทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่โดดเด่น หวานมัน เนื้อเเห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัวและเนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำ หรือโอฉี่ ปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งเเต่ 100 เมตรขึ้นไป ตามไหล่เขา สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี ผนวกกับความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ จึงทำให้ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญของยะลา ถัดจากกล้วยหินบันนังสตาที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้
โดยก่อนหน้านี้ทางจังหวัดยะลา พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ และเครือข่ายเกษตรกรได้ร่วมกันกำหนด 1 ในยุทธศาสตร์จังหวัดยะลา คือ ยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) กำหนดเป้าหมายให้ จ.ยะลา เป็นเมืองทุเรียนแห่งภาคใต้ตอนล่าง โดยมีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตทุเรียนแบบครบวงจร
ซึ่งจังหวัดยะลา เป็นแหล่งปลูกทุเรียน และมีปริมาณผลผลิตมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีคุณภาพ ในปี 2563 มีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 73,890 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 53,621 ไร่ ครัวเรือนผู้ปลูก 25,326 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 53,031 ตัน โดยเนื้อที่ปลูกกระจายทั่วทุกพื้นที่ ลักษณะการปลูกข้างบ้าน สวนผสม และปลูกร่วมพืชอื่นๆ
ส่วนสภาพการผลิตเชิงการค้าที่เป็นสวนเดี่ยว มีแหล่งปลูกที่สำคัญในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา ซึ่งเป็นพื้นที่สูง และภูเขา ท่ามกลางผืนป่าธรรมชาติ หุบเขา สายน้ำ ทะเลสาบบนภูเขา และทะเลหมอก โอบล้อมด้วยผืนป่าฮาลาบาลา คือพื้นที่ปลูกทุเรียนของ จ.ยะลา ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมี มีลักษณะพิเศษคือ เนื้อแห้ง เหนียวนุ่ม รสชาติหอม หวาน ที่มีฉายาว่า “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา”
จุดเด่นของทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา นอกเหนือจากการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP แล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เน้นการใช้สารเคมี แต่จะเน้นวิถีธรรมชาติในการจัดการสวน เน้นความปลอดภัยจากระดับผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อปรับระบบการผลิตและการจัดการสวนอย่างถูกต้องเหมาะสม ตรงตามปฏิทินการเจริญเติบโตของทุเรียน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสม มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการผสมปุ๋ยใช้เอง
“การขึ้นทะเบียน GI ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่สายตาชาวโลก และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า สร้างงาน และรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มีราคาสูงถึง 190 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สร้างรายได้ให้คนยะลามากถึง 2,800 ล้านบาทต่อปี และหลังขึ้นทะเบียน GI แล้ว คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่านี้อีก” นายสินิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์และมีคุณภาพ มีชื่อเสียง สามารถขอรับคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368