ตรัง - ‘นายก อบจ.ตรัง’ แจงแล้วกรณีคนงานลอบตัดไม้ยางขายเป็นเรื่องจริง ยอมรับคนในดอดลักโค่นขายไม้งุบงิบเข้ากระเป๋า ใช้ทั้งเครื่องจักร-น้ำมันหลวง ออกตัวแค่ไม้เสื่อมสภาพ ลั่นลงโทษหนักให้หลาบจำ เผยแจ้งตัด 8 ต้น ส่งเงิน อบจ.แค่ 3.7 พันบาท แต่เหี้ยนจริงถึง 10 ไร่
จากกรณีที่ชาวบ้านร้องสื่อว่า สวนยางพาราขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 10 ไร่ ถูกลักลอบตัดต้นยางเพื่อนำไม้ยางไปขาย ตีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เป็นการกระทำของคนภายใน อบจ.ตรังเอง ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.2565 โดยมีการนำรถแบ็กโฮ ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลของ อบจ. และใช้น้ำมันหลวงเข้ามาลักลอบดำเนินการตัดไม้ยางดังกล่าว ก่อนนำไปขายนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้นำผู้สื่อข่าวลงสำรวจสวนยางของ อบจ.ตรัง แปลงดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนช่องหาญ-เขาดิน หมู่ 3 ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง โดยจุดที่พบการตัดไม้ยางออกไปแบ่งเป็น 2 จุด จุดแรกเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ อยู่ริมถนนช่องหาญ-เขาดิน และจุดที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากถนนเข้าไปประมาณ 500 เมตร โดยทั้ง 2 จุดต้นยางถูกตัดโค่นออกไปหมดแล้ว เหลือแค่ที่ดินว่างเปล่า มีการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น มะเขือ ตะไคร้ พริก บนที่ดินว่างดังกล่าว ตลอดจนมีการนำวัวมาเลี้ยงกินหญ้าในพื้นที่ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง ได้ให้สัมภาษณ์ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยยอมรับว่ามีการลักลอบตัดไม้จริง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ อบจ.ตรัง ประสานกับที่ดินอำเภอวังวิเศษ เพื่อสำรวจแนวเขตของสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันของ อบจ.ตรัง แต่เมื่อไปทำแนวเขต คนของ อบจ.ตรัง กลับนำเครื่องจักรกล รวมทั้งน้ำมันรถของ อบจ.ตรัง ไปตัดโค่นไม้ยางพาราโดยพลการ ทั้งนี้ เนื่องจากตอนที่ตนเข้ามารับตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง ตนอยากทราบว่าที่ดินของ อบจ.ตรัง ที่ ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ มีเนื้อที่จำนวนกี่ไร่ เพราะบางคนบอกว่ามีเนื้อที่ 800 ไร่ บางคนบอกว่ามีกว่า 1,000 ไร่ และเพื่อความชัดเจนจึงได้มอบหมายเลขานุการส่วนตัว ประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอวังวิเศษ เข้าไปรังวัดแนวเขตเพื่อให้สามารถทราบจำนวนเนื้อที่ และอาณาเขตที่ชัดเจน ซึ่งหลังจากนั้นได้ทราบเนื้อที่ที่ดินอย่างชัดเจนว่ามีเนื้อที่ 900 กว่าไร่ ตามขั้นตอนตัดโค่นยางพารานั้น ปกติมีระเบียบที่ชัดเจน โดยมีคณะกรรมการจัดสรรผลประโยชน์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากจะตัดโค่นต้องมีการเรียกประชุม ต้องมีมติ มีการกำหนดราคากลาง ประกาศให้หาผู้เสนอราคา โดยราคากลางได้มาจากการตรวจสอบคุณภาพเนื้อไม้ ขนาดของลำต้น รูปทรงของลำต้น และจำนวนต้นยางพาราทั้งหมด
“ดังนั้น เพื่อป้องกันการบุกรุก จึงสั่งการให้นำเครื่องจักรเข้าขุดแนวเขตล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกของชาวบ้าน และเป็นแนวป้องกันไฟป่าด้วย หลังจากนั้นทราบเรื่องการตัดไม้ยางพาราตามที่เป็นข่าว และผมได้ตั้งกรรมการสอบสวน ตอนนี้กำลังดำเนินสอบสวนอยู่ ยังไม่ทราบผล เพราะมีความเกี่ยวพันกับลูกน้องภายในด้วย ส่วนการตัดโค่นไม้ยางยางเพื่อนำไปขายแล้วนำเงินเข้ากระเป๋านั้น ผมมองว่าไม่น่าจะใช่วัตถุประสงค์หลัก เขาคงมองว่าไหนๆ รถเครื่องจักรเข้าไปแล้ว น่าจะใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ จึงให้รถจักรกลถางโค่นป่ารกร้างออก แต่หากนำต้นยางไปขายได้เงินมาคงจะมีการมุบมิบเข้ากระเป๋าบ้าง จึงเป็นที่มาของการตั้งกรรมการสอบสวน ซึ่งจากการสอบสวนทั้ง 2 แปลง พบว่าไม่มีการตัดกรีดแล้ว โดยที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนน คือเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ มีจำนวนต้นยางจำนวนน้อยมาก ส่วนอีกแปลงที่อยู่ถัดไปด้านในมีต้นยางจำนวนมากกว่า แต่เป็นต้นยางที่หมดสภาพ ต้นยางที่ไม่สามารถให้น้ำยางได้แล้ว หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าต้นยางตายนึ่ง ยืนยันอย่างลูกผู้ชายจะดำเนินการทุกอย่างตรงไปตรงมา คนที่ทำผิดจะต้องรับโทษตามที่เห็นสมควร จะไม่ช่วยเหลือใคร เหมือนที่สังคมอาจหวาดระแวงว่าจะช่วยเหลือกัน ยืนยันจะไม่ช่วยเหลือใครอย่างเด็ดขาด ขอให้ประชาชนสบายใจได้” นายบุ่นเล้ง กล่าว
นายบุ่นเล้ง กล่าวอีกว่า แต่อย่างไรเสียถือว่าเป็นการกระทำเกินอำนาจ ทำนอกเหนือคำสั่ง ซึ่งการกระทำในเหตุการณ์นี้มีผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้จัดการสวนยาง และคนงาน 4 คน โดยมีนายช่าง อบจ.ตรัง ขณะนั้นเข้าไปดู และเป็นผู้นำรถไปขนไม้ยางพาราออกจากสวน ทั้งนี้ มีการทำเงินที่ได้จากการขายไม้ยางมาส่งให้ อบจ.ตรัง จำนวน 8 ต้น เป็นเงินรวมจำนวน 3,700 บาท แต่จะเป็นเงินที่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือตามที่ได้ตัดโค่นจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะทุกคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งการตรวจสอบนั้นคงจะทราบข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนไม้ที่นำไปขาย และจำนวนเงินที่ได้จากการขายไม้ยางพารา โดยคณะกรรมการสอบสวนที่ อบจ.ตรังแต่งตั้งขึ้น มีผู้สันทัดเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายไม้ยางพารารวมอยู่ด้วย นำโดย นายโชคดี คีรีกิ้น รองนายก อบจ. เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ โทษมีตั้งแต่การไล่ออก ปรับ หรือเรียกเงินคืน ก็แล้วแต่ ซึ่งตนจะลงโทษอย่างแน่นอนเพื่อให้หลาบจำ
รายงานข่าวจาก อบจ.ตรัง แจ้งว่า จากเอกสารหลักฐานการนำเงินที่ได้จากการขายไม้ยางส่งคืนให้ อบจ.ตรัง เอกสารใบเสร็จรับเงิน อบจ.ตรัง ลงวันที่ 9 ก.ย.2565 เป็นไม้ยางพาราที่ได้จากแปลงที่ 29 (เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่) รวมจำนวนเพียง 8 ต้นเท่านั้น เป็นเงินรวม 3,700 บาท ส่วนอีกแปลงเนื้อที่กว่า 3 ไร่นั้น ไม่มีการนำเงินส่ง อบจ.ตรัง ที่สำคัญเมื่อตรวจสอบเอกสารที่ผู้จัดการสวนปาล์ม และสวนยางพารา รายงานต่อนายก อบจ.ตรัง ได้ระบุว่าต้นยางพาราล้ม อันเนื่องมาจากการทำแนวเขต รวมทั้งหนังสือการขออนุมัติดำเนินการจำหน่ายไม้ยางพารา โดยวิธีจำเพาะเจาะจง ที่สำนักปลัด อบจ.ตรัง เสนอต่อนายก อบจ.ตรัง มีเพียงจำนวน 8 ต้น จากแปลงที่ 29 เนื้อที่ 5 ไร่เศษดังกล่าว แต่มีการลักลอบตัดโค่นจริงไปถึง 10 ไร่ โดยไม่นำผ่านการนำเสนอและรับการอนุมัติตามระเบียบราชการ และไม่มีการนำส่งรายได้ในส่วนดังกล่าว เข้าข่ายการลักทรัพย์ของทางราชการ ถือเป็นความผิดทั้งทางวินัยและอาญา
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตในหนังสือบันทึกข้อความขออนุมัติตัดโค่นต้นยาง จำนวน 8 ต้น ที่ ตง.51001/519 ลงวันที่ 21 มิ.ย.2565 ลงนามเสนอโดย นายฤทธิไกร ทองกูล ผู้จัดการสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา ที่เสนอต่อ อบจ.ตรัง มีนายโชคดี คีรีกิ้น รองนายก อบจ. ซึ่งเป็นหัวหน้ากรรมการสอบเหตุลักตัดไม้ยางครั้งนี้ เป็นคนลงนามเห็นชอบเสนอเพื่อดำเนินการด้วย ระบุว่าระหว่างวันที่ 9-10 มิ.ย.2565 อบจ.ตรัง นำรถแบ็กโฮเข้าไปในสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพาราของ อบจ.ตรัง แปลง ต.วังมะปราง เพื่อปรับสภาพแนวรอยต่อระหว่างสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา ให้เห็นเป็นแนวเขตที่ชัดเจน โดยในขณะที่ได้มีการทำแนวเขตดังกล่าวนั้น ทำให้ต้นยางพาราแปลงที่ 29 จำนวน 8 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตรล้มลง จึงประสงค์จะจำหน่ายนำเงินเป็นรายได้ของ อบจ.ตรัง ซึ่งอาจเป็นการรายงานไม่ตรงข้อเท็จจริง เนื่องจากต้นยางพาราที่ถูกตัดโค่นทั้งแปลงในแปลงที่ 29 บนเนื้อที่ 5 ไร่ดังกล่าว ไม่ได้อยู่บริเวณรอยต่อแนวเขตสวนยางพารากับสวนปาล์มน้ำมัน และไม่ได้อยู่ติดแนวเขตโดยรอบสวนปาล์มน้ำมัน และยางพาราของ อบจ. ตามที่นายก อบจ.สั่งการให้มีการทำแนวเขต แต่เป็นการตัดโค่นจากแปลงยางพาราที่อยู่พื้นที่ชั้นใน และอยู่ติดถนนใหญ่ และถนนภายในแปลง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทางตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งไม่มั่นใจในการตรวจสอบของ อบจ.ตรัง ว่าจะดำเนินการตรงไปตรงมาจริงหรือไม่ จึงได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดตรัง (ป.ป.ช.ตรัง) ให้ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ลักลอบตัดไม้ยางดังกล่าวเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.2565 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้ว ผลการสอบสวนโดย อบจ.ตรังยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง :
๐ เตรียมร้อง ป.ป.ช.สงสัยลักโค่นไม้ยาง อบจ.ตรังไปขาย แหว่ง 2 แปลง 10 ไร่ คาดเสียหายรวม 4 แสน