xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรชาวตรังหนีปัญหานก เร่งเก็บข้าวนำมาแปรรูปเป็น “ข้าวกล้อง” คนแห่ซื้อผลิตไม่ทันขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - เกษตรกรหนีปัญหานกแห่รุมกินข้าวในไร่ ปรับวิธีเร่งเก็บเกี่ยวข้าวในระยะเม่า แล้วนำมาเแปรรูปเป็น “ข้าวกล้องระยะเม่า เพื่อสุขภาพ” ให้คุณค่าทางอาหารสูง และขายได้ราคาสูงกว่าข้าวสารทั่วไป 3 เท่า คนแห่สั่งซื้อผลิตไม่พอขาย

ที่ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง น.ส.ทัศนีย์ สุขสนาน เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer (YSF) จังหวัดตรัง พร้อมด้วยนางอารีย์ สุขสนาน และนายสมบูรณ์ ประจงใจ แม่และสามี ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรผสมผสาน โดยทำนา ทำไร่ ปลูกข้าวด้วย ได้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวสายพันธุ์มะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอย ที่อยู่ในระยะเม่า เพื่อนำไปแปรรูปทำเป็น “ข้าวกล้องระยะเม่า เพื่อสุขภาพ” ซึ่งได้ปลูกข้าวเหล่านี้แซมในสวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ เพื่อเอาไว้กิน เหลือก็เอาไว้ขาย ทั้งนี้ แม้จะมีการนำผ้ามาแขวนทำเป็นหุ่นไล่กา และขึงตาข่ายเพื่อดังจับนกที่ลงมารุมกินข้าวในไร่ นับตั้งแต่ระยะน้ำนมแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ผลนัก จึงทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีมาเร่งเก็บข้าวที่เป็นระยะเม่า เพื่อนำไปแปรรูป ส่วนที่พ้นระยะเม่า รอเก็บเป็นข้าวเปลือกทั่วไป

นางอารีย์ สุขสนาน กล่าวว่า ข้าวที่เก็บไปก่อนหน้านี้ และเลือกเก็บเรียกว่า ข้าวในระยะพลับพลึง หรือข้าวในระยะข้าวเม่า โดยสีจะเขียวเหลืองเล็กน้อย เพราะนกจำนวนมากมารุมกินข้าวในไร่ หากไม่เร่งเก็บไปแปรรูปบ้าง คงจะเหลือแต่เรียว เพราะนกเยอะมาก เนื่องจากเดี๋ยวนี้คนทำข้าวไร่น้อย ประกอบกับที่บ้านมีรถไถเอง จึงไถปรับพื้นที่ปลูกข้าวได้เร็วกว่ารายอื่นๆ แต่พอปลูกเร็ว รวงก็ออกเร็ว นกที่รู้ก็ลงรุมกินข้าวนับตั้งแต่ระยะนมข้าวแล้ว ทำให้ต้องเก็บเร่งนำไปแปรรูป ซึ่งปีที่ผ่านมาเก็บเป็นข้าวเปลือกทั่วได้ทั้งหมด 67 กระสอบๆ ละ 30 กก. โดยเอาไว้กิน เหลือก็เอาไว้ขาย ครบรอบปีปรากฏว่า ข้าวยังเหลือกินเหลือขายอีกประมาณ 20 กระสอบ


น.ส.ทัศนีย์ สุขสนาน กล่าวว่า ข้าวทุกชนิดที่อยู่ในระยะเม่า หรือระยะพลับพลึงนำมาแปรรูปทำเป็นข้าวกล้องระยะเม่า เพื่อสุขภาพได้ทั้งหมด โดยตนเองแปรรูปเป็นปีแรก ใช้ข้าวมะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอยที่ได้ระยะเม่าก่อนสายพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นข้าวที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้แก่เกษตรกรชาวจังหวัดน่านเป็นผู้ปลูก โดยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ชาวจังหวัดตรังได้ไปขอพันธุ์ข้าวมาปลูกเป็นครั้งแรกที่อำเภอวังวิเศษ หลังจากนั้นมีการขยายพันธุ์ต่อเนื่อง จนตอนนี้ข้าวมะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอย กระจายไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดตรังแล้ว

ส่วนที่นำมาแปรรูปเรียกว่า เป็นข้าวระยะพลับพลึง หรือในพื้นที่เรียกว่า ข้าวระยะดีข้าวเม่า คือ เป็นข้าวหลังจากระยะน้ำนมไปประมาณ 7-10 วัน หรือโดยรวมประมาณ 120 วัน โดยจะเป็นช่วงที่เมล็ดข้าวมีแป้งน้อย หรือยังไม่ได้เป็นแป้ง จึงเอามาแปรรูปเป็นข้าวระยะเม่า แต่หากพ้นระยะเม่าไปแล้วจะนำมาแปรรูปไม่ได้ ส่วนสาเหตุที่เก็บข้าวในระยะดีเม่ามาแปรรูป เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ มีนก ซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญจำนวนมาก ต้องใช้คนออกไปเฝ้า พร้อมทำหุ่นไล่กา และทำตาข่ายดักจับ แต่เอาไม่อยู่และเสียเวลา


สุดท้ายจึงไปอ่านเจอผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ก็เลยลองศึกษา และทดลองแปรรูป ทั้งนี้ เมื่อทำแล้วพบว่า ต่อยอดจากราคาข้าวสารปกติได้สูงมากกว่า 3 เท่าตัว จากทั่วไปขายกิโลกรัมละ 60 บาท แต่เมื่อแปรรูปเป็นข้าวระยะเม่าแล้ว ตนจะขายกิโลกรัมละ 165 บาท เพราะการเก็บเป็นข้าวเปลือกระยะเม่า จะได้ปริมาณน้อยกว่าข้าวเปลือกทั่วประมาณ 20% ส่วนวิธีการทำมีหลายขั้นตอนมาก ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 วัน

เริ่มตั้งแต่การนำไปนวด แล้วนำข้าวเปลือกที่ได้ไปใส่ในกะละมังใบใหญ่ลอยในน้ำ เพื่อคัดเลือกเอาส่วนที่เป็นฟางข้าว และเมล็ดลีบออก ส่วนที่เป็นเมล็ดข้าวสมบูรณ์นำใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำไปนึ่งโดยใช้เตาถ่าน โดยนึ่งเตาแรกใช้เวลารวมประมาณ 20 นาที จากนั้นเมื่อนึ่งเตาต่อๆ ไปจะใช้เวลาประมาณ 7-10 นาทีเท่านั้น เนื่องจากน้ำที่ต้มเดือดดีแล้ว เมื่อนึ่งข้าวเปลือกสุกแล้วนำมาเทใส่ถาดวางให้เย็น จากนั้นนำไปตากแดดประมาณ 2-3 วัน แล้วนำไปเก็บไว้เหมือนกับการเก็บข้าวเปลือกทั่วไปได้นานนับปี หรือเอาไปสีเป็นข้าวกล้อง เพื่อนำไปบรรจุถุงละ 1 กก.ด้วยวิธีการซีนสุญญากาศส่งขาย โดยมีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก เพราะเป็นข้าวที่อยู่ในระยะแป้งอ่อน มีจมูกข้าวและสารอาหารที่เคลือบเมล็ดยังคงอยู่

ผลการวิจัยพบว่า อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารสูง 3 เท่าของข้าวกล้องทั่วไป เนื่องจากมีสารสำคัญบำรุงสมอง ปริมาณโฟเลตสูง ทั้งเบต้าแคโรทีน วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซิน และมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ให้นมบุตร ผู้ป่วย และทุกเพศ ทุกวัย ตอบโจทย์คนมีปัญหาสุขภาพ หรือรักสุขภาพ ทั้งนี้ ปรากฏว่า เมื่อโพสต์ทาง Facebook https://www.facebook.com/thassanee.sooksahnan  มีคนสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนผลผลิตไม่พอขาย




กำลังโหลดความคิดเห็น