ตรัง - เกษตรกรที่รับทุนสงเคราะห์การปลูกยางจาก กยท.กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ใส่ปุ๋ยต้นฤดูเลย เหตุประธานบอร์ดการยางฯ ต้องการนำไปเปิดประมูลเอง แต่กระบวนการล่าช้า
วันนี้ (29 พ.ค.) นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายสถาบันฯ เขตภาคใต้ตอนกลาง ร่วมกันแถลงข่าวถึงปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกใหม่ และเป็นสมาชิกสงเคราะห์การทำสวนยางของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับปุ๋ยสงเคราะห์ ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี จาก กยท. หลังประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศ ตบโต๊ะต้องการนำไปให้ กยท.เปิดประมูลเอง และขณะนี้ยังไม่ผ่าน TOR
ทำให้จนถึงขณะนี้สมาชิกสวนยางสงเคราะห์ทั่วประเทศยังไม่ได้รับปุ๋ย ซึ่งปกติเกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยครั้งแรกของปีในช่วงต้นฤดูฝนคือ ประมาณพฤษภาคม และครั้งที่ 2 ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี แต่ขณะนี้สมาชิกสงเคราะห์ใหม่ทั่วประเทศยังไม่ได้รับปุ๋ยสงเคราะห์จาก กยท.แต่อย่างใด ทำให้เกิดความล่าช้าในการใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อการเจริญเติบโตของยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้
และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดปุ๋ยสงเคราะห์ให้แก่สมาชิกสงเคราะห์ที่ระบุใน TOR ว่า ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยแพง และขาดแคลน ประกอบด้วย ปุ๋ยเคมีเชิงผสม (Bulk blending) สูตร 20-8-20 จำนวน 10,871.60 ตัน และปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 83,562.25 ตัน รวมทั้งสิ้น 94,433.85 ตัน หรือเกือบ 1 แสนตัน
ทั้งนี้ เดิมมติเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ซึ่งมีทั้งหมด 7 เขตทั่วประเทศ) มีความเห็นตรงกันที่จะให้ กยท.โอนเงินสงเคราะห์ปุ๋ยให้แก่สมาชิกสงเคราะห์ใหม่โดยตรง เพื่อให้สมาชิกไปจัดซื้อด้วยตนเอง หรือจะให้สมาชิกโอนสิทธิการจัดหาปุ๋ยสงเคราะห์ให้แก่สถาบันเกษตรกรในพื้นที่ตนเอง และ กยท.จังหวัดดำเนินการร่วมกับสถาบัน ซึ่งหากดำเนินการได้ตามที่มติดังกล่าว จะสามารถจัดซื้อแม่ปุ๋ยได้ตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในราคาถูกกว่าขณะนี้
แต่ปราฏว่า ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยเพียงคนเดียวที่ทุบโต๊ะในการประชุมบอร์ดการยาง และการจัดงานยางพาราไทยที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่า ขอให้ กยท.เป็นคนจัดหาปุ๋ยสงเคราะห์ให้แก่สมาชิกสงเคราะห์ใหม่ทั่วประเทศด้วยตนเอง โดยไม่สนมติของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรระดับประเทศ และ กยท.ทุกจังหวัด ที่ต้องการให้ดำเนินการจัดหาปุ๋ยให้แก่สมาชิกเป็นไปอย่างรวดเร็ว และลดงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากแม่ปุ๋ยกำลังขาดแคลนหนัก และราคาแพงมาก
โดยขณะนี้ราคาปุ๋ยพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ประมาณกระสอบละ 1,850 บาท จากเดิมราคาไม่ถึง 1,000 บาท หรือ 1,000 บาทต้นๆ เชื่อว่าอาจมีผลประโยชน์แอบแฝง เนื่องจากที่ผ่านมา กยท.เคยเปิดประมูลปุ๋ยแจกจ่ายให้แก่สมาชิกสงเคราะห์ทั่วประเทศมาแล้วหลายครั้ง แต่ปัญหาที่ประสบคือ ได้ปุ๋ยล่าช้า คุณภาพปุ๋ยไม่เหมาะกับสภาพดินของแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละพื้นที่ และฤดูกาลใส่ปุ๋ยของแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกัน
โดยหลังจากนี้ทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ทั้งตอนล่าง ตอนกลาง และตอนบน จะหารือกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรภาคอื่นๆ เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเรียกร้องปัญหานี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป