พัทลุง - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตแป้งสาคูต้นออแกนิก “แม่จัด” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างรายได้อย่างงดงามในช่วงโควิด-19 ระบาด จนสินค้าพุ่งติดอันดับ 1 ของจังหวัดพัทลุง
วันนี้ (27 เม.ย.) ที่บ้านเลขที่ 41 บ้านคลองตรุด หมู่ที่ 8 ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง ที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตแป้งสาคูต้นออแกนิก “แม่จัด” ซึ่งมี นายพิรุฬ พงศ์พิพัฒนพันธ์ หนุ่มวัย 45 ปี ในหมู่บ้านที่ต้องการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลชัยบุรี ให้มีงานทำช่วงสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 ที่หลายคนตกงาน หรือถูกออกจากงานจนส่งผลไม่มีเงินใช้จ่าย จึงได้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตแป้งสาคูต้นออแกนิก “แม่จัด” จากต้นสาคู ซึ่งเป็นพืชชนิดจำพวกปาล์มที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านร่วมทำงานแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 18-20 คน สามารถสร้างได้คนละไม่ต่ำกว่า 350 บาทต่อวัน
โดยทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตแป้งสาคูต้นออแกนิก “แม่จัด” เริ่มผลิตแป้งสาคูต้นมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม เป็นต้นมา รวมเวลาประมาณเกือบ 3 เดือนเต็ม แป้งสาคูต้นที่ผลิตออกมาแต่ละวันไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าถึงกลุ่มวิสาหกิจฯ และลูกค้าส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์สั่งสินค้าทางออนไลน์ในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด จนทำให้ทุกคนไม่อยากออกจากบ้าน เพื่อไว้ทำเป็นของหวานได้หลากหลายชนิดรับประทานในครัวเรือน เป็นสินค้าที่พุ่งติดอับดับ 1 ของจังหวัดพัทลุง
และพบว่าขณะนี้มีผู้ผลิตแป้งสาคูต้นดังกล่าวมีจำนวนหลายรายในพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า จึงเป็นสินค้าติดอับดับ 1 ของจังหวัดพัทลุง ที่มียอดสั่งซื้อแต่ละวัน แต่ละเจ้าไม่ต่ำกว่า 130-150 กิโลกรัม ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19
สำหรับ “สาคูต้น” เป็นพืชจำพวกปาล์ม เป็นพืชที่เกิดภาคใต้ของไทยบริเวณชุ่มน้ำ ปาล์มสาคูนี้จะสะสมแป้งไว้ในลำต้น เมื่ออายุราว 8-10 ปี แป้งในต้นจะมีมากที่สุด คนที่ทำแป้งสาคูก็จะไปโค่นต้นมาปอกเปลือกนอกออก แล้วนำเนื้อด้านในสีขาวอมชมพูไปผ่านกระบวนการย่อย เนื้อที่ได้มาคั้นเอาน้ำโดยใช้วิธีการคั้นแบบคั้นน้ำกะทิแบบโบราณ แล้วทิ้งให้ตกตะกอนกลายมาเป็นแป้งดิบแล้วนำไปพักไว้ 1 คืน จากนั้นบดแป้งดิบซึ่งมีทั้งแป้งที่เป็นผงและแป้งที่เม็ดกลมซึ่งเกิดจากการนำแป้งสาคูที่ทับน้ำจนหมาดแล้วไปร่อนในกระด้งก่อนนำไปตากแดด ก็จะได้เม็ดสาคูกลมๆ เล็กๆ ที่ขนาดไม่เท่ากันนัก มีสีชมพูอ่อนคล้ายปูนแดงแห้ง เมื่อนำไปปรุงผ่านความร้อน จะเหมือนเจลใสๆ ผิวเป็นเงาสวย มีความนุ่มหนึบ
ส่วนใหญ่คนทางภาคใต้อย่างแถบพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช ยังผลิตแป้งสาคู จะใช้แป้งสาคูทำอาหารหลายอย่าง เม็ดสาคูชนิดนี้สามารถนำไปต้มผ่านความร้อนได้เลยทันที แต่ต้องระวังการเกาะตัวเหนียวเป็นก้อน แต่งกลิ่นด้วยใบเตยจะทำให้กลิ่นหอมชวนกิน
โดยวิธีการคือตั้งไฟรอน้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดจากนั้นค่อยๆ โรยเม็ดแป้งสาคูลงไปช้าๆ โดยขณะโรยให้ใช้ไม้พายกวนน้ำในหม้อตลอด เพื่อตีให้เม็ดสาคูกระจายตัว ไม่เช่นนั้นเม็ดสาคูจะเกาะตัวกันเป็นก้อน เมื่อเทเม็ดแป้งสาคูแท้ลงจนหมดแล้ว ก็ต้มต่อจนเม็ดสาคูใสดีจึงค่อยเติมน้ำตาลทรายโดยระดับความหวานตามใจชอบ คนพอให้น้ำตาลละลาย หากอยากเติมมะพร้าวอ่อนขูด หรือข้าวโพดหวานต้มก็ใส่ลงหลังจากน้ำตาลละลายแล้ว ตักใส่ถ้วยราดน้ำกะทิ รับประทานได้ทันที
นายพิรุฬ พงศ์พิพัฒนพันธ์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่างไม่มีงานทำ บางก็ตกงานจากที่เคยออกไปรับจ้างในตัวเมือง จึงได้คิดสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวในช่วงวิกฤต จึงได้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตแป้งสาคูต้นออแกนิก “แม่จัด” ขึ้น โดยคนในหมู่บ้านร่วมกันทำงาน 18-20 ราย แต่ละคนจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 350 บาทต่อวัน
“และขณะนี้มียอดสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากทางระบบออนไลน์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตแป้งสาคูต้นออแกนนิก “แม่จัด” นั้นใน 1 สัปดาห์สามารถส่งจำหน่ายให้ลูกค้าได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ตอนนี้กลายเป็นสินค้าที่ทุกคนรู้จัก ทุกคนต้องการลิ้มลองรสชาติ ติดเป็นสินค้าอันดับ 1 ของจังหวัดพัทลุง” นายพิรุฬ พงศ์พิพัฒนพันธ์ กล่าว