xs
xsm
sm
md
lg

“มะอึก” มากคุณประโยชน์ทั้ง “อาหาร” และ “ยา” ญาติสนิทมะเขือพวงและมะแว้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้  /  โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
 

1
 
มะอึก” พืชสวนครัวญาติสนิทของ “มะเขือพวง” และ “มะแว้ง” 
.
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะเขือปู่ มะปู่ มะเขือขน หมากขน (ภาคเหนือ), หมากอึก หมักอึก บักเอิก (ภาคอีสาน), อึก ลูกอึก (ภาคใต้), มะอึก (ภาคกลาง), ยั่งคุยดี (กะเหรี่ยง) เป็นต้น
.
ชื่อสามัญ Solanum, Bolo Maka ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum stramoniifolium Jacq. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE) สันนิษฐานว่า น่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย
 .

2
 
ลักษณะของมะอึก
.
“ต้นมะอึก” จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงราว 1-2 เมตร ทุกส่วนของต้นจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ลำต้นและใบจะคล้ายคลึงกับมะเขือพวง ต่างกันที่ลำต้นและใบของมะอึกนั้นจะมีหนามและมีขนอ่อนปกคลุม
 .
“ใบมะอึก” มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเว้าหรือตัด ขอบใบหยักเว้าเป็นพู มีความกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว มีขนอ่อนปกคลุมผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่าง
.
“ดอกมะอึก” ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ ดอกมีสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลือง เป็นเส้นรวมเป็นยอดแหลม
. 
“ผลมะอึก (ลูกมะอึก)” ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดราว 1.8-2 เซนติเมตร ที่ผิวมีขนยาวหนาแน่น ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลสุกมีสีเหลืองแกมน้ำตาล ในผลมีเมล็ดแบนจำนวนมากเรียงเป็นแถวอยู่ภายใน และจะออกผลในช่วงปลายฤดูฝน ส่วนในเรื่องของรสชาติ มะอึกจะมีรสเปรี้ยวเป็นหลัก ซึ่งรสและกลิ่นจะมีเอกลักษณ์พิเศษในตัวของมัน
.
“การขยายพันธุ์” ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนซุย น้ำปานกลาง แข็งแรงทนทานต่อโรค แมลง และดินฟ้าอากาศ
.

3
 
ประโยชน์ของมะอึก 
.
“มะอึก” จัดเป็นพืชพื้นบ้านของไทย ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้าน “อาหาร” และ “ยา” มาอย่างยาวนาน ซึ่งในตำรายาสมุนไพรก็ได้บรรยายสรรพคุณของมะอึกไว้อย่างหลากหลาย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ส่วนของ “ใบ” “ราก” “เมล็ด” และ “ผล” 
.
“ผลมะอึก”
.
- ใช้นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลอ่อนหรือผลสุก เช่น การนำมาทำเป็นน้ำพริกมะอึก แกงส้มกับหมูย่าง หรือใส่ส้มตำ แกงเนื้อ แกงปลาย่าง เป็นต้น
.
- มะอึกช่วยเพิ่มรสชาติเปรี้ยวให้อาหาร ซึ่งรสเปรี้ยวของมะอึกจะแตกต่างไปจากแหล่งอื่นๆ อย่างเช่น มะนาว มะม่วง มะขาม มะดัน เป็นต้น อีกทั้งกลิ่นยังเป็นเอกลักษณ์เป็นพิเศษ
.
- การรับประทานผลมะอึกจะช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายได้ และยังมีธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ที่ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น
.
- ช่วยล่อนกให้มาเยี่ยมเยียนบ่อยๆ เพราะผลมะอึกเป็นอาหารโปรดของมัน
.

4
 
สรรพคุณของมะอึก 
.
- “ใบมะอึก” ช่วยแก้ปอดบวม, ใช้ตำแก้พิษฝี, ใช้เป็นยาพอกแก้อาการคัน ผดผื่นคัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำแล้วพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, ดอก)
.
- “ผลมะอึก” ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ, ช่วยแก้อาการไอ, ช่วยแก้ดีพิการ แก้โทษเพื่อน้ำดี
.
- “รากมะอึก” มีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย, ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้สันนิบาต, ช่วยแก้น้ำลายเหนียว, ช่วยแก้ปวด, แก้น้ำดีพิการ, ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีกระตุก หรืออาการนอนสะดุ้ง ผวา เพ้อ ชนิดหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งสาเหตุมาจากโทษน้ำดีกระทำ และช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส เป็นต้น
.
- “เมล็ดมะอึก” ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ดนำมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป
.
- “ขนของผลมะอึก” สามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้
.
- นอกจากนี้ “ใบ” “ราก” และ “ดอก” ของมะอึกนำมาตำแล้วใช้เป็นยาพอกแก้อาการคันและผดผื่นคันได้เช่นกัน
.

5
 
คำแนะนำ 
.
การรับประทานมะอึกให้ง่ายขึ้นนั้น ก่อนการใช้ทำอาหาร ควรนำผลมะอึกมาขูดขนอ่อนๆ ออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างน้ำให้สะอาด หรือจะปอกเปลือกออกเลยก็ได้ และผ่าเอาเมล็ดด้านในทิ้ง หั่นให้เป็นชิ้นให้พอดีคำ
.
อีกทั้งมะอึกยังปลูกง่าย มีความแข็งแรงทนทานต่อโรคแมลงและดินฟ้าอากาศ ปลูกครั้งเดียวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายปี จึงเป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับปลูกเอาไว้ในสวนครัว หรือสวนหลังบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะใช้เป็นได้ทั้งอาหารและยานะขอรับ
 

6

7

8

9

10
 
บรรณานุกรม 
 .
- medthai.com › มะอึก
- www.doctor.or.th › article › detail
 


กำลังโหลดความคิดเห็น