xs
xsm
sm
md
lg

“แบงก์ชาติ” คาดเศรษฐกิจ “ภาคใต้” ไตรมาสที่ 4 ยังคงขยายตัว แต่ยังต้องระวังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.สำนักงานภาคใต้ แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 และแนวโน้ม คาดไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจภาคใต้ยังคงขยายตัว จากมาตรการภาครัฐที่เริ่มเห็นผล นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าและยอดส่งออกที่ลดลง เผยไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวจากปาล์ม-ยางพาราที่ราคาลดจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐแผ่วลง เงินเฟ้อติดลบ คนว่างงานเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาฯ ลดลงต่อเนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบการในภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศ

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผอ.อาวุโส ธปท. สำนักงานภาคใต้ แถลงเรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 และแนวโน้ม” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ยังคงขยายตัว โดยมีปัจจัยหลักจากมาตรการภาครัฐที่เริ่มเห็นผล ทั้งเรื่องการพยุงรายได้เกษตรกรและการบริโภค และมาตรการชิมช้อปใช้ รวมทั้งการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน และจากเศรษฐกิจของคู่ค้าที่ชะลอตัวทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง

“ส่วนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัวชะลอตัวลง โดยจากรายงานนโยบายการเงิน เดือน มิ.ย. ของ ธปท.คาดว่าในปีนี้จะขยายตัว 2.8 และคาดว่าในปี 2563 จะขยายตัว 3.3 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน และจากเศรษฐกิจของคู่ค้าที่ชะลอตัวทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง รวมทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันและปัจจัยด้านรายได้-หนี้ครัวเรือน”


 
นายสันติ กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามผลผลิตเกษตรที่ชะลอลง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจากการเหลื่อมฤดูกาลในปีก่อน ราคาปาล์มน้ำมันหดตัวจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบไทยและมาเลเซียอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราขยายตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนตามพื้นที่ให้ผลผลิตและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ในขณะที่ราคายางพาราปรับลดลงหลังผลผลิตโลกออกสู่ตลาดมากกว่าคาดและความต้องการจากจีนลดลง นอกจากนี้ ราคากุ้งขาวกลับมาหดตัวจากอุปสงค์โลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน ทำให้มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยในไตรมาสที่ 2 มีการผลิตภาคอุตสาหกรรม 109.6 ส่วนในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 104.7 สำหรับภาคการท่องเที่ยวหดตัวน้อยลงจากนักท่องเที่ยวจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดเส้นทางบินใหม่มายัง จ.ภูเก็ต สำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียกลับมาหดตัว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินริงกิตที่อ่อนค่า

ด้านอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนภาคเอกชนแผ่วลงจากไตรมาสก่อน ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายประจำ อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์ ส่วนหนึ่งมาจากการสิ้นสุดลงของโครงการรถคันแรกที่ครบกำหนด 5 ปี ทำให้ในปีนี้ความต้องการรถกลับมาปกติ มีการจดทะเบียนเพิ่มทุกจังหวัด โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร น่าจะเพราะผลไม้ที่ผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องการใช้รถยนต์เชิงพาณิชย์มากขึ้น
 


 
“ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อกลับมาติดลบเล็กน้อยจากหมวดพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.04 ลดลงจากร้อยละ 0.62 ในไตรมาสก่อนตามการปรับลดลงของราคาพลังงานเป็นส้าคัญ ซึ่งสอดคล้องต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับอัตราการว่างงานหลังขจัดปัจจัยด้านฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนตามจำนวนผู้มีงานทำที่ลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร” นายสันติ กล่าว

ผอ.อาวุโส ธปท. สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า ด้านการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนหดตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนแผ่วลงจากไตรมาสก่อนตามการลงทุนของภาคการผลิตในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ตลอดจนถุงมือยาง ด้านการลงทุนในภาคก่อสร้างขยายตัวชะลอลงจากยอดขายปูนซีเมนต์และพื้นที่ก่อสร้าง อย่างไรก็ดี พื้นที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และเพื่อการบริการในหมวดโรงแรมขยายตัวต่อเนื่อง

ในแง่ดัชนีความเชื่อมั่นของอสังหาริมทรัพย์ลดลงมาเรื่อยๆ ต่ำกว่า 50 หมายถึงผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจ กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งของโลกและในประเทศ อีกเรื่องที่สร้างความกังวลคือ ระดับราคาสินค้าเกษตรและหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมทั้งมาตรการการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของทางสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น ดังนั้น ในแง่อุปสงค์มีอยู่ แต่จากสินเชื่ออาจจะชะลอลง โดยรวมแม้ตัวเลขที่ลดลง การคาดการณ์จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอน จะช่วยในแง่ของอีก 6 เดือนข้างหน้า การปลดล็อกผู้กู้ร่วม สุดท้ายเป็นความหวังของผู้ประกอบการว่างบประมาณปี 2563 จะผ่านโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า
 



กำลังโหลดความคิดเห็น