xs
xsm
sm
md
lg

PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน! เตือนภาคใต้ตอนล่างระวังหมอกควันจากอินโด-มาเลย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - สถานวิจัยมลพิษทางอากาศฯ มอ.หาดใหญ่ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้ระวังหมอกควัน ขอให้ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งและใช้อุปกรณ์ป้องกัน เผยค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน เฉลี่ยรายชั่วโมงสูงสุดถึง 79 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ชี้เหตุจากการเผาไหม้ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย

วันนี้ (5 ก.ย.) สถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังหมอกควันในภาคใต้ผ่านเพจ “รายงานสถานการณ์หมอกควันในภาคใต้” ว่า ขอให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังสุขภาพ และควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งและใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เนื่องจากตรวจพบค่าปริมาณตวามเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ ซึ่งค่าความเข้มข้นอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพและมีค่าเกินค่ามาตรฐานคือ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

ข้อมูลจาก http://airsouth.things.in.th ระบุว่า โดยค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่ในช่วง 72-88 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สถานี อ.เทพา จ.สงขลา วัดได้ 61-104 ไมโครกรัม/ลบ.ม และสถานี ม.อ. ปัตตานี วัดได้ 45-57 ไมโครกรัม/ลบ.ม สอดคล้องกับค่า PM2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ สถานี อ.หาดใหญ่ พบค่า PM2.5 เฉลี่ยรายชั่วโมงสูงสุดถึง 79 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เมื่อเวลา 03:00 น

สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของหมอกควันนั้น จากผลการจำลองการเคลื่อนที่ของมวลอากาศจากแหล่งกำเนิดแบบย้อนกลับ (Backward Trajectory) เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมงย้อนหลัง โดยโปรแกรม HYSPLIT4 จาก NOAA แสดงให้เห็นผลจากทิศทางลมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่านจุดเผาไหม้ (hotspot) บางส่วนบนหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหมอกควันเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย เป็นผลให้เกิดหมอกควันข้ามแดน (transboundary haze) ปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ค่า PM2.5 มีค่าสูงขึ้นในวันนี้

ทั้งนี้ สถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุด้วยว่า สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในปีนี้ได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายเดือนตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2562 จนถึงปัจจุบัน
 
แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาโดยรวมถือว่าไม่รุนแรงมากนัก แต่ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.เริ่มมีค่าปริมาณความเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่สังเกตเห็นได้ชัดว่ามีหมอกควันปกคลุมทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง
 



กำลังโหลดความคิดเห็น