xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจภาคใต้จะดีขึ้น! แบงก์ชาติยก “ปาล์มน้ำมัน-ยางพารา” เป็นตัวช่วยที่สำคัญ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ธปท.สำนักงานภาคใต้เชื่อเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 จะขยายตัวชึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 61 ชี้เบิกจ่ายภาครัฐ รายได้จากปาล์ม-ยางพารา และการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุน แต่ยังต้องระวังผลจากสงครามการค้า การท่องเที่ยวที่ชะลอตัว และการส่งออกที่ยังคงหดตัว เผยไตรมาส 2 ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยมีภาคการเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

วันนี้ (1 ส.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ จัดแถลงเกี่ยวกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ และภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2562 โดยนายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผอ.อาวุโส ธปท.สำนักงานภาคใต้ แถลงว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากเดิมในปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในขณะที่ปี 2562 รายงานการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ระบุไว้ที่ร้อยละ 3.3 ส่วนรายงานนโยบายการเงิน เดือน มี.ค. 2562 ของ ธปท. ระบุไว้ที่ร้อยละ 3.8 ส่วนปี 2563 รายงานการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.8 ส่วนรายงานนโยบายการเงิน เดือน มี.ค. 2562 ของ ธปท. คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.9 ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมี 3 เรื่องคือ (1) สถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ (2) การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลัก และ (3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 
“สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ในไตรมาส 3 ปี 2562 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจภาคใต้จะขยายตัว โดยมีปัจจัยที่สนับสนุน 3 ด้าน คือ (1) การเบิกจ่ายภาครัฐมีแนวโน้มปรับดีขึ้น (2) รายได้เกษตรกรจากปาล์มน้ำมันและยางพารา และ (3) การบริโภคภาคเอกชน ที่พยุงให้ขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ด้วย คือ เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวจากสงครามการค้า, ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากการส่งอออกที่ยังคงหดตัว” ผอ.อาวุโส ธปท.สำนักงานภาคใต้ กล่าว

นายสันติ เปิดเผยว่า สำหรับภาคใต้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยมีภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ เป็นผลมาจากปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นสำคัญ ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ทำให้รายได้เกษตรขยายตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตยังคงหดตัวจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกลดลง สำหรับอุปสงค์ในประเทศ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ตามการใช้จ่ายในภาคบริการด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นสำคัญ
นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผอ.อาวุโส ธปท.สำนักงานภาคใต้
 
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและลงทุน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวจากไตรมาสก่อนตามราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นมาก สำหรับอัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อย”

ผอ.อาวุโส ธปท.สำนักงานภาคใต้ ระบุว่า สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้นั้น มีดังนี้ ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยนักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่งเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่ำกว่าไทย สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินริงกิตอ่อนค่า ตลอดจนเศรษฐกิจภายในประเทศมาเลเซียยังไม่เข้มแข็ง

ด้านมูลค่าการส่งออกหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.0 สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.9 จากเกือบทุกสินค้า โดยการผลิตเพื่อส่งออกยางพาราแปรรูปลดลงตามเศรษฐกิจของตลาดหลักจีนที่ชะลอตัว รวมถึงผลของฐานสูงจากการเร่งการส่งออกหลังสิ้นสุดมาตรการจำกัดส่งออกยางแห้งในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีก่อน ด้านอาหารทะเลกระป๋องหดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบ

 
อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำมันปาล์มกลับมาขยายตัวจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการผลิตถุงมือยางขยายตัวต่อเนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ด้านการผลิตเพื่อส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปขยายตัวจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่จีนเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบมลพิษที่เกิดจากโรงงานเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.9 เร่งตัวจากไตรมาสก่อน ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในทุกสินค้าเกษตรหลัก โดยปาล์มน้ำมันเร่งตัวสูงตามพื้นที่ให้ผลผลิตและปัจจัยชั่วคราวของฐานต่ำจากการเหลื่อมฤดูกาลในปีก่อน ด้านผลผลิตยางพาราปรับเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ให้ผลผลิต กอปรกับผลผลิตกุ้งขาวขยายตัวชะลอลง เนื่องจากเกษตรกรมีความกังวลในเรื่องสภาพอากาศที่ร้อนจัด

นายสันติ กล่าวว่า ราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 1.1 แต่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคายางพาราเพิ่มขึ้นตามผลผลิตโลกที่ลดลงเนื่องจากเกิดโรคระบาดในประเทศอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันราคากุ้งขาวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตในประเทศอินเดียได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน 2 ครั้งในเดือน พ.ค. ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันยังหดตัวสูงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก กอปรกับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบไทยและมาเลเซียอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 14.6

ส่วนเครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 และปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยขยายตัวดีด้านการใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทนทรงตัว อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันหดตัวเล็กน้อย ขณะเดียวกันการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อนอกภาคเกษตรที่ยังไม่เข้มแข็ง

 
ทั้งนี้ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่านำเข้าสินค้าทุนในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นและไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์ กอปรกับการลงทุนภาคก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของยอดขายปูนซีเมนต์และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและการบริการในหมวดโรงแรม

นายสันติ กล่าวว่า ในการใช้จ่ายภาครัฐพบว่า หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.6 ตามการลดลงทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 9.3 ในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ส่วนรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 7.8 ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงในหมวดครุภัณฑ์ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย นอกจากนี้ ในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างมีการเบิกจ่ายลดลงจากงบกลางและงบกลุ่มจังหวัดทั้ง 3 กลุ่มในภาคใต้เป็นสำคัญ

“เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.62 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.40 ในไตรมาสก่อนตามราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสดที่ได้รับผลจากอากาศร้อนจัด ซึ่งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับ
จำนวนผู้มีงานทำที่ปรับฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2562 เงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.5 โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากจากส่วนราชการเป็นสำคัญ

ด้านสินเชื่อคงค้างทั้งระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการรับโอนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจากบริษัทในเครือ แต่หากไม่นับรวมรายการโอนดังกล่าว สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพียงเล็กน้อย สำหรับสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อประเภทเงินให้กู้ระยะยาวแก่เกษตรกร”
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง

- รอลุ้น! แบงค์ชาติคาดครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกอาจช่วยดึงภาคใต้กระเตื้องขึ้น ชี้ไตรมาส 2 ยังซึมต่อเนื่อง

- แง้มรายงาน “ธปท.ใต้” ใจหายวาบ! ใต้เงารัฐบาลใหม่ไร้ข่าวดีดันเศรษฐกิจ







กำลังโหลดความคิดเห็น