xs
xsm
sm
md
lg

รอลุ้น! แบงค์ชาติคาดครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกอาจช่วยดึงภาคใต้กระเตื้องขึ้น ชี้ไตรมาส 2 ยังซึมต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.คาดการณ์เศรษฐกิจภาคใต้ครึ่งปีหลังอาจได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้นดึงตัวเลขส่งออก นักท่องเที่ยว ชี้ไตรมาส 2 ยังชะลอตัวเหมือนไตรมาส1 ที่ผ่าน จากการลดลงของการส่งออก การลงทุนภาครัฐ-เอกชน รายได้เกษตรกรที่ลดลง เผยการใช้จ่ายภาครัฐลดไม่ซื้อครุภัณฑ์เพิ่ม แต่การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นบ้างจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ


วันนี้(2 พ.ค.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ นายธีระพร ศรีรัตน์ ผู้อำนวยการ ธปท.สำนักงานภาคใต้ แถลงว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2562 คาดว่ายังคงจะชะลอตัว ไม่ต่างจากไตรมาสแรก ทั้งนี้ บริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวต่อไปได้จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ส่วนปัจจัยที่จะฉุดรั้งคือ อุปสงค์จากต่างประเทศที่มีผลต่อการส่งออก รายได้เกษตรกรที่ยังคงมีราคาปาล์มน้ำมันฉุดรั้งเป็นหลัก แม้ว่าราคายางพาราจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ ในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ จะกลับมาทำนโยบายด้านการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ที่น่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ภาคใต้ที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง จากการส่งออกยางพารากว่าร้อยละ 90 และอาหารทะเล ไม้ยางพารา ที่ส่งออกไปยังตลาดโลก รวมทั้ง ด้านการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลัก ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

นายธีระพร กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 นั้น ชะลอตัว เนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้มูลค่าส่งออกลดลง จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.6 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 15.4 เกษตรแปรรูปลดลงร้อยละ 13.1 ไม้และผลิตภัณฑ์ร้อยละ 29.1 โดยการผลิตและส่งออกยางพาราแปรรูปและไม้ยางแปรรูปลดลงตามความต้องการของจีนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตถุงมือยางและอาหารกระป๋องกลับขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 9.1 ส่วนน้ำมันปาล์มดิบหดตัวเล็กน้อยเนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าปกติ

นายธีระพร กล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยวลดลงจากระยะเดียวกันในปีก่อน ร้อยละ 1.0 จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง รวมทั้งนักท่องเที่ยวมาเลเซียขยายตัวชะลอลง หลังจากที่ขยายตัวสูงมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวอินเดียขยายตัวดีต่อเนื่องตามการเปิดเส้นทางการบินใหม่มายังภูเก็ต และผลดีจากมาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่า ส่วนด้านการเกษตร รายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ 6.8 จากราคาที่ลดลง

ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.4 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดบริการด้านการท่องเที่ยวที่ชะลอลง กอปรกับการใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทน อาทิ เสื้อผ้า ยังคงหดตัว อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันยังขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ ทั้งนี้ รายได้ครัวเรือนโดยรวมทรงตัวทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่านำเข้าสินค้าทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยาง ยางพาราแปรรูป และไม้ยางแปรรูปและผลิตภัณฑ์จากไม้ กอปรกับการลงทุนภาคก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของยอดขายปูนซีเมนต์และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อที่อยู่อาศัยและการบริการในหมวดโรงแรม

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.7 ตามการลดลงของรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ โดยลดลงจากการเบิกจ่ายงบกลาง งบกลุ่มจังหวัด และการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบท ในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง นอกจากนี้ การเบิกจ่ายหมวดครุภัณฑ์ลดลงเช่นกันจากงบกลุ่มจังหวัดและงบกลาง สำหรับการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 ส่วนอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วอยู่ที่ร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลง ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขณะเดียวกันจำนวนผู้มีงานทำทรงตัว

ด้านเงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากจากส่วนราชการเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้างทั้งระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการรับโอนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจากบริษัทในเครือ แต่หากไม่นับรวมรายการโอนดังกล่าว สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพียงเล็กน้อย สำหรับสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อประเภทเงินให้กู้ระยะยาวแก่เกษตรกร





กำลังโหลดความคิดเห็น