xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.จับมือ บ.ซิสโก้ ซีสเต็มส์ พัฒนา Smart City รองรับนโยบาย “สงขลาเมืองแห่งความสุข”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนา Smart City รองรับนโยบาย “สงขลาเมืองแห่งความสุข”

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงและกรอบความร่วมมือพิเศษ เพื่อร่วมกันใช้ศักยภาพในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ บุคลากร และพัฒนาการเรียนรู้ระหว่างกันอย่างยั่งยืน การลงนามมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 โดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ซีสเต็มส์ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน โดยมี นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน และร่วมเป็นเกียรติในพิธี

สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลง ก็คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะแนะนำการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City และเผยแพร่ให้เป็นกรณีศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญให้แก่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ และภาคอื่นๆ ส่วนบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการวางแผนออกแบบระบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยในการพัฒนาด้าน Smart City ให้เป็นโครงการตัวอย่าง และพัฒนาการความรู้ และการใช้งานให้เกิดเป็นรูปธรรม สามารถนำไปต่อยอดการใช้งานในเมืองอื่นๆ ในภาคใต้ได้ นอกจากนั้นจะร่วมกับมหาวิทยาลัยในการเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่ม Startup ในพื้นที่ภาคใต้ การนำแพลตฟอร์ม Cisco DevNet ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยีด้าน Network, Cybersecurity, IoT และ Cloud
 

 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวภายหลังการลงนามว่า มหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมกับโครงการ smart city มาตั้งแต่รัฐบาลได้กำหนดให้จังหวัดภูเก็ต เป็น smart city ต่อมา เมื่อจังหวัดสงขลา มีนโยบาย “สงขลาเมืองแห่งความสุข” และจากผลงานการไปร่วมโครงการ smart city กับจังหวัดภูเก็ต ทำให้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อจัดทำต้นแบบการจัดการ smart city ที่หาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องต่อนโยบาย “สงขลาเมืองแห่งความสุข” ของจังหวัดพอดี จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการนี้

ขณะนี้หลายผลงานกำลังอยู่ระหว่างการทดลองในมหาวิทยาลัย เช่น ระบบติดตามทะเบียนรถยนต์ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบการให้แสงสว่าง ฟาร์มอัจฉริยะ แต่หลายระบบได้ถูกนำไปใช้จริงในตัวเมืองแล้ว โดยจะเปิดให้อาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจ สาธารณชนได้เรียนรู้ระบบเหล่านี้ด้วย ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ไม่เพียงแต่สำหรับเยาวชนที่จบมัธยมปลายเท่านั้น แต่จะสนองนโยบายของประเทศ และพัฒนาให้เกิดผลดีกับพื้นที่ภาคใต้โดยรวมอย่างยั่งยืน และคุ้มค่า

“ที่สำคัญคือ คนของเราที่จะต้องทำตัวให้ smart ในมิติของความรู้ โดยสงขลาจะต้องเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีสถานศึกษาทุกระดับ เป็นแหล่งสร้างคนที่มีคุณภาพ จะต้องมีการใช้อย่างยั่งยืน มีความสมดุล มีการพัฒนาทั้งวัตถุ และคนพร้อมกัน ดังนั้น smart city จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะเทคโนโลยี แต่จะรวมไปถึงคนทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ เราจะทำส่วนนี้เพื่อเสริมศักยภาพของจังหวัด และคนในพื้นที่ให้ใช้ชีวิตในวันข้างหน้าอย่างมีความสุข”
 







กำลังโหลดความคิดเห็น