xs
xsm
sm
md
lg

ตามดูนโยบายพลังงานและโลกร้อนในการเลือกตั้งออสเตรเลีย 2019 / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
-------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 18 พฤษภาคม 2562 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศออสเตรเลีย นโยบายที่คนออสเตรเลียให้ความสนใจมากที่สุดนโยบายหนึ่งก็คือ นโยบายด้านพลังงานและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า คนออสเตรเลียกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหา “โลกร้อน” อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิอากาศที่ร้อนจนทำลายสถิติ ในวันที่คลื่นความร้อนเข้าเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา อากาศร้อนถึง 48 องศาเซลเซียส (ดูภาพประกอบ ผมจำได้แม่นว่า ประเทศไทยเราเคยร้อนถึง 46 องศาเซลเซียสมาแล้วเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา)

ล่าสุด (9 พ.ค.62) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมใน 2 รัฐบาล (คุณ Peter Garrett ซึ่งเคยเป็นนักร้อง นักดนตรี นักกิจกรรมสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และอดีตประธานมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์ออสเตรเลีย) ได้ออกมาเรียกร้องว่า “หากพรรคกรรมกรชนะการเลือกตั้งขอให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเปลี่ยนนโยบายไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ และให้จัดตั้งกรมใหม่ที่มีอำนาจพิเศษ (super department) คล้ายกับกรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง”(ผลการสำรวจความนิยมล่าสุดเมื่อ 5 พ.ค. พรรคกรรมกรออสเตรเลียมีคะแนนนำ 51% ในขณะที่พรรคเสรีนิยมได้ 49%)

คงจะคล้ายกับการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งผมได้นำเสนอไปแล้วใน “โลกที่ซับซ้อน” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผมสนใจเรื่องการเลือกตั้งในออสเตรเลียครั้งนี้ก็เพราะว่าได้เคยเขียนถึงนโยบายของพรรคกรรมกรที่เคยประกาศว่า “จะสนับสนุนด้วยการจ่ายเงินคืนให้แก่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า $180,000 ต่อปี ครอบครัวละ $2,000 เพื่อซื้อและติดตั้งแบตเตอรี่จำนวนปีละ 1 แสนครอบครัว รวม 10 ปี เท่ากับ 1 ล้านครอบครัว”(https://mgronline.com/daily/detail/9610000124552)

มาถึงวันนี้ผมก็ต้องตามดูความคืบหน้าครับ และเป็นเรื่องโชคดีมากที่ผมได้เจอบทความเรื่อง “Australian election 2019 : What the manifestos say on energy and climate change” โดย Josh Gabbatiss ซึ่งได้ระบุความสนใจของตนเองว่าเป็นนักเขียนด้านภูมิอากาศและนโยบายพลังงาน ในเว็บไซต์ carbonbrief.org ผมจึงขอนำมาสรุปไว้ในที่นี้ครับ

การเมืองในออสเตรเลียมีพรรคการเมืองหลักอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพันธมิตรถาวรที่มีแนวคิดกลางๆ ค่อนไปทางขวาซึ่งมีพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) เป็นแกน และพรรค National (พรรครัฐบาลในปัจจุบันและอยู่ในอำนาจมาแล้ว 3 สมัย) กับอีกฝ่ายหนึ่งคือพรรคกรรมกร (Labor Party) นอกจากนี้ ยังมีพรรคเล็กๆ เช่น Greens Party เป็นต้น

เรามาดูนโยบายในแต่ละด้านนะครับ ผมจะเลือกเอาเฉพาะด้านที่คาดว่าคนไทยเราให้ความสนใจมานำเสนอนะครับ

เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า

พรรคเสรีนิยมได้เขียนอย่างกว้างๆ ว่า “จะพัฒนายุทธศาสตร์ด้านรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่” แต่พรรคกรรมกรเขียนว่า “เป้าหมายของชาติในปี 2030 จะมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 50% ของรถยนต์ใหม่ และจะจัดตั้งกองทุนเพื่อติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ 200 ล้านดอลลาร์”

ในขณะที่พรรคกรีนเสนอว่า “ภายในปี 2030 รถยนต์ใหม่ทุกคันจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งช้ากว่าที่ Tony Seba นักวิชาการจาก Stanford Graduate School of Business เคยศึกษาไว้ในระดับโลกถึง 5 ปี

ลองย้อนคิดถึงการเลือกตั้งในบ้านเราที่ผ่านมาครับ มีพรรคใดนำเสนอเรื่องนี้ได้ชัดเจนบ้างไหมครับ ทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นบ้านเรามีปัญหามลพิษ PM2.5 อย่างรุนแรง โดยสาเหตุหลักของมลพิษในกรุงเทพมหานครก็คือรถยนต์ที่ใช้ปิโตรเลียมนั่นเอง

อ้อ ขอแถมนิดหนึ่งครับ จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า ร้อยละ 76 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกพรรคใด ตั้งแต่ยังมีการรณรงค์การเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ ผมเข้าใจว่าในบ้านเราเองก็น่าจะคล้ายกันไม่มากก็น้อย

เป้าหมายในข้อตกลงปารีส

เราคงจำกันได้นะครับว่าในปี 2015 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้ร่วมลงนามในระดับนานาชาติเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะก๊าซตัวนี้แหละที่ทำให้อากาศ “ร้อนจนตับจะแตก” และเกิดผลกระทบต่อเนื่องมากมาย รัฐบาลปัจจุบันของออสเตรเลียก็ได้ร่วมลงนามด้วยว่า “จะลดการปล่อยลง 26-28% ของระดับในปี 2005 ทั้งนี้ ภายในปี 2030”

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคกรรมกรออสเตรเลียเสนอว่า “จะลดลง 45% ภายในปี 2030 และจะปล่อยเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050”

พรรคกรีนได้เสนอแบบตึงกว่าว่า “จะลดลง 63 ถึง 82% ภายในปี 2030 และจะเป็น net zero ภายในปี 2040”

ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบว่า แล้วประเทศไทยเราได้เสนอเป้าหมายว่าอะไร?

ประเทศเราได้เสนออย่างมีเลศนัยครับว่า “จะลดลง 20 ถึง 25% เมื่อเทียบกับระดับที่ได้พยากรณ์ไว้ในอนาคตคือปี 2030” ซึ่งเป็นระดับที่ “มีปัญหา” เพราะเป็นการพยากรณ์ไว้ในระดับที่สูงเกินจริงไว้ก่อน คล้ายกับการบอกราคาสินค้าไว้ให้สูงเกินจริง แล้วบอกลูกค้าว่า “ลดให้เยอะแล้ว” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้ลดหรือเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

เรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน

พรรคเสรีนิยมได้เสนอว่า “จะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า 23.5% ภายในปี 2020” พรรคกรรมกรเสนอว่า “จะใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า 50% ภายในปี 2030 ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าสะอาดขึ้น ราคาถูกลง และสร้างงานได้ 70,000 ตำแหน่ง”

ขอย้ำนะครับว่า ค่าไฟฟ้าจะถูกลงและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่นายกรัฐมนตรีไทยเคยพูดเป็นประจำทุกวันศุกร์มาตลอด 5 ปี

สำหรับพรรคกรีนเสนอว่า “จะเลิกการใช้ถ่านหิน จะส่งออกพลังงานสะอาดและจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030”

การจัดการกับอากาศสุดขั้ว

พรรคเสรีนิยมเสนอว่า “จะลงทุน 39,000 ล้านดอลลาร์เพื่อตั้งกองทุนความแห้งแล้งในอนาคต” ในขณะที่พรรคกรรมกรได้ให้ข้อมูลว่า “ในแต่ละปีเหตุการณ์อากาศสุดขั้ว เช่น ความแห้งแล้งและน้ำท่วม ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทำให้เกิดความเสียหายแล้วปีละ 18,000 ล้านดอลลาร์ และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 39,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2050”

ในขณะที่พรรคกรีนซึ่งปัจจุบันมีที่นั่งใน 2 สภารวมกัน 10 คน (จากทั้งหมด 226 คน) และชูคำขวัญว่า “อนาคตสำหรับเราทุกคน (A Future for All of Us.)” ได้นำเสนอเป็นเชิงข้อมูลว่า “ความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังกระทบเกษตรกรโดยผ่านความแห้งแล้ง ทำให้แม่น้ำหลายสายแห้งผาก พื้นที่เพาะปลูกว่างเปล่า ทำให้เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น คลื่นความร้อนนานขึ้น มันกำลังกระทบต่อเมืองของเรา เกิดน้ำท่วม ทำให้โครงสร้างพื้นฐานเสียหายทั้งทางรถไฟและระบบสายส่งไฟฟ้า มันกดดันต่อการบริการฉุกเฉิน ทั้งรถพยาบาลและการบริการของโรงพยาบาล”

กรอบคิดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change framing)

พรรคเสรีนิยมเสนออย่างคลุมเครือว่า “เรามีหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมของเราเพื่อประโยชน์ของคนในรุ่นอนาคต เราต้องทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง เพื่อให้คนในรุ่นถัดไปได้มีงานทำ”

พรรคกรรมกรเสนอว่า “เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ในขณะที่พรรคกรีนเสนอได้อย่างสะใจ (วัยรุ่นผม) ว่า “การหยุดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหมายถึงการนำความก้าวหน้า และคำตอบทางเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ใครก็ตามที่ปฏิเสธที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาจัดการทำแผนการอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างไม่ติดขัด เขาผู้นั้นก็คือผู้ขัดขวางความก้าวหน้านั่นเอง”

ถ้าพูดตามภาษาของผมก็คือ ใครก็ตามที่ขัดขวางการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ หรือกัญชา ก็ตาม เขาผู้นั้นคือผู้ขัดขวางความก้าวหน้าของมนุษยชาตินั่นเอง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น