โดย... ศูนย์ข่าวภาคใต้
การจัดเวที “รับฟังความคิดเห็นของประชาชน” สำหรับคำขอประทานบัตรทำ “เหมืองหินเขาโต๊กรัง” ป้อนอุตสาหกรรมก่อสร้างของ “บริษัท ภูทองอันดา จำกัด” ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอควนโดน จ.สตูล ช่วงบ่ายวันที่ 18 เม.ย.2562 เชื่อมโยงกับ “อภิมหาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่” และบรรดา “เมกะโปรเจกต์” มากมายที่มีแผนจะผุดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้อย่างมิต้องสงสัย
.
อันจะนำพาแผ่นดินด้ามขวานทองของไทยให้กลายเป็น “ฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก” ในท้ายที่สุด!
.
อีกทั้งยังจะถูกปั้นให้เป็นทั้ง “ศูนย์กลางการขนส่งข้ามโลก” ควบคู่กับ “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ด้วยเช่นกัน!
.
แม้จะเป็นการจัดเวทีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เท่าใดนัก โดยประมาณการกันว่ามีประชาชนที่ทั้งถูกและไม่ได้ถูกเกณฑ์ผู้เข้าร่วมถึงราว 1,500-2,000 คน แล้วเวทีก็สามารถดำเนินการไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ความที่เป็นโครงการลงทุนที่จะถูกประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพฝันพลิกผันแผ่นดินภาคใต้ให้เป็นทั้ง “ศูนย์กลางของโลก” และมี “ขนาดใหญ่ระดับโลก” จึงเป็นไปได้ที่เจ้าของโครงการจะต้องยอม “ควักกระเป๋า” หนุนเนื่องชนิดอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ทุ่มสุดตัว-ดันกันสุดติ่ง
ที่มาที่ไปของการการจัดเวทีครั้งนี้สืบเนื่องจากช่วงปี 2539 ต่อเนื่องถึงปี 2540 มีการประกาศให้ในพื้นที่ จ.สตูล สามารถทำเหมืองหินเพื่อการอุตสาหกรรมได้ในเขตภูเขารวม 8 จุด ประกอบด้วย 1. เขาพลู ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 2. เขาจำปา เขาโต๊ะช่าง และ เขาเณร หมู่ที่ 1 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 3. เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า 4. เขาลูกช้าง โดยมี “เขาโต๊ะกรัง” เป็นลูกเขาในกลุ่มนี้ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 5. เขาวังบุมาก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง 6. เขาละใบดำ ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง 7. เขาจุหนุงนุ้ย ต.กำแพง อ.ละงู และ 8. เขาละมุ ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง
สำหรับเหมืองหินเขาโต๊กรังที่บริษัทภูทองอันดาได้ตีตราจ้องไว้ตามคำขอประทานบัตรที่ 4/2559 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง หมายเลขหลักเขตเหมืองแร่ที่ 33502 เนื้อที่ 88 ไร่ 1 งาน 66 ตารางวา ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ ม.6 และ ม.9 ต.ควนโดน อ.ควนโดน และ ม.7 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล และเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรา 56 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จ.สตูล จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรขึ้นดังกล่าว
แต่ในความเป็นจริงการจัดเวทีที่เพิ่งผ่านพ้นกลับไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้าที่เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2560 เคยจัดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยใช้ห้องประชุมศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอควนโดน แต่ปรากฏว่าเวทีวันนั้นมีอันต้องยุติลงกลางคัน เนื่องจากถูกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงรวมตัวกันคัดค้านอย่างหนัก โดยเห็นว่าเป็นการจัดเวทีแบบไม่โปร่งใส ไร้ซึ่งบริสุทธิ์ยุติธรรม อีกทั้งยังมีการเดินสายส่งหนังสือคันค้านไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาด้วย
“ความที่มีบทเรียนมาแล้ว ทำให้ต้องมีการทุ่มสุดตัวเพื่อให้เวทีครั้งนี้ผ่านไปตามขั้นตอน มีข่าวสะพัดว่าก่อนจัดพร้อมควักเท่าไหร่ก็ยอม หลังปิดเวทีก็น่าจะเป็นจริง เพราะดูได้จากชาวบ้านที่เข้าร่วมต่างมีหน้าตายิ้มแย้มกันถ้วนหน้า จริงหรือไม่จริง ผมอยากให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจสอบให้กระจ่างชัด เพราะมีการกล่าวหาว่ามีการใช้แกนนำกลับใจทำแบบเดียวกับหัวคะแนนนักการเมือง และมีตัวเลขสูงกว่าช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือราว 10-20 ใบแดงอะไรนี่แหละ” หนึ่งในแกนนำกลุ่มคัดค้านให้ข้อมูล
สะพัด “ไม่ชอบมาพากล”
เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ผู้จัดกำหนดให้เฉพาะชาวบ้านใน 3 หมู่บ้านที่เกี่ยวข้องคือ ม.6 และ ม.9 ต.ควนโดน อ.ควนโดน และ ม.7 ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง เข้าได้เท่านั้น แต่ยังมีความพยายามกีดกันฝ่ายคัดค้านด้วย เรื่องนี้ยืนยันได้จากผู้เข้าร่วมหลายคนได้ยินว่ามีการประกาศในเวที
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ยังพบว่า ระยะเวลารวม 3 ชั่วโมง กลับปรากฏว่า “เปิดประชาชนแสดงความคิดเห็น” ได้เพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง แถมยังนำไปรวมกับรายการอื่นๆ แบบแทบไม่ให้ความสำคัญด้วย
ทั้งนี้ดูได้จากกำหนดการคือ เวลา 13.30-14.30 น. ลงทะเบียน, 14.45-15.00 น. กล่าวรายงานโดยหัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และนำเสนอข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ, 15.00-16.00 น. วิธีการทำเหมือง รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางในการแก้ปไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยวิทยากรจาก สรข.1 สงขลา และแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ พร้อมทั้งตอบข้อซักถามโดยตัวแทนของบริษัทภูทองอันดา จากนั้น 16.00-16.30 น. สรุปและปิดการรับฟังความคิดเห็น
นอกจากนี้เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และกลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง ยังระบุถึงความไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไว้ในหนังสือคัดค้านการจัดเวทีครั้งนี้ว่า จัดขึ้นในช่วงที่พี่น้องมุสลิมต้องเดินทางไปแสวงบุญ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งเป็น ช่วงปิดเทอม ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่ล้วนเป็นมุสลิมจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มครูและนักเรียนของโรงเรียนปอเนาะ(อรุณศาสน์วิทยา) อีกกว่า 1,500 คน ซึ่งอยู่ติดกับเขาโต๊ะกรังเพียง 300 เมตร เสียโอกาสในการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวที
ไม่เพียงเท่านั้นการจัดเวทียังตรงกับ “วันประชุมผู้นำศาสนา” ทุกพื้นที่ของ จ.สตูล ซึ่งผู้นำศาสนาทุกคนต้องเดินทางไปศาลากลางจังหวัด ทำให้เวทีขาดองค์ประกอบสำคัญไป กล่าวคือ ความเห็นของผู้นำศาสนา จึงเป็นเหมือนความจงใจที่จะไม่ให้กลุ่มคนดังกล่าวได้เข้าร่วมเวที ทั้งที่เรื่องราวของข้อจำกัดเหล่านี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือเสนอให้มีการเลื่อนการจัดเวทีไปก่อน แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ
“สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในกระบวนการสัมปทานแหล่งหินเขาโต๊ะกรัง กำลังฉวยโอกาสที่ประชาชนไม่มีความพร้อมเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น เสมือนเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ยื่นขอประทานบัตร” ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือระบุ
“ผู้บริหาร” เคยพัวพันคดีใหญ่
สำหรับบริษัทภูทองอันดาถือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ระดับต้นๆ ที่ประกอบธุรกิจเหมือนแร่และโรงโม่หินในภาคใต้ โดยมีกิจการในเครือกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ที่ผ่านๆ มาเคยปรากฏเป็นข่าวว่ามีความขัดแย่งกับชุมชนในหลายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องเช่นที่ จ.กระบี่ จ.ตรัง และครั้งนี้ก็ที่ จ.สตูล เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วหนึ่งในผู้บริหารคนสำคัญบริษัทภูทองอันดาคือ นายนรินทร์ เก่งธนทรัพย์ ซึ่งในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบการขอสัมปทานเหมืองหินเขาโต๊ะกรังที่ อ.ควนโดน จ.สตูล เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่เพิ่งผ่านมา เขาคือคนที่ลุกขึ้นการันตีว่าหากโครงการเกิดประชาชนจะได้รับอะไรบ้าง ต่างๆ นานานั้น
เมื่อเดือน ก.ค.2560 นายนรินทร์ เก่งธนทรัพย์ ยังมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องพวกพันกับคดี “ยิง 8 ศพครอบครัวผู้ใหญ่บ้าน” อันโด่งดังที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ด้วย แต่ครั้งนั้นเขาก็ได้เคลียตัวเองจนพ้นข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด
มองให้เห็น “เขาโต๊ะกรัง” เชื่อมโลก
สำหรับการเร่งสัมปทานเหมืองหินเขาโต๊ะกรัง ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับอีกหลายเหมืองหินในภาคใต้ด้วย ทำไมเกิดขึ้นในยุค “รัฐบาลทอปบู๊ต” หากมองย้อนกลับในห้วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมาก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เอาแค่ช่วงปลายปี 2561 บรรดาเมกะโปรเจกต์ในรูปของ “เขื่อน” “คลองผันน้ำ” และ “ประน้ำ” รวมทั้ง “ระบบการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่” อื่นๆ ไล่เรียงตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าสู่ภาคใต้ที่ จ.ชุมพร เรื่อยลงมาจนถึง จ.พัทลุง รวมแล้วหลายสิบโครงการก็ถูกขับเคลื่อนในอัตราเร่งมาแล้วเช่นกัน
ช่วงปี 2560-2561 ในส่วนของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ด้าน “พลังงาน” โดยเฉพาะการเร่งรัดให้สร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ก็ถูกหว่านโปรยไปตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วย้อยลงมายังทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ไม่เพียงแค่ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ที่เน้นใช้เชื้อเพลิงที่มีมากมายในท้องถิ่นอย่างไม้ยางพารา กะลาปาล์มน้ำมัน เป็นต้น หรือ “โรงไฟฟ้าขยะ” ที่กระจัดกระจายไปทั่วเท่านั้น เมกะโปรเจกต์อย่าง “โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ” รวมถึง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ก็ถูกปักหมุดไว้เกลื่อนกลาด
หรือตลอดการเข้ามายึดอำนาจของคณะนายทหารใหญ่ แล้วเข้ากุมบังเหียนชาติบ้านเมืองในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” ตามด้วยการตั้ง “รัฐบาล คสช.” ขึ้นมาบริหารประเทศ โครงการพัฒนาระดับที่ต้องเรียกว่า “อภิมหาเมกะโปรเจกต์” อย่างโครงการขุด “คลองไทย” รวมทั้ง “สะพานเศรษฐกิจ” หรือ “แลนด์บริดจ์” เชื่อม 2 ฟากฝั่งมหาสมุทรคือ มหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งได้ถูกกลุ่มทุนและคณะทหารกลุ่มหนึ่งหยิบยกขึ้นมาชงให้สังคมเห็นคุณงามความดี โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แล้วชี้ชัดไปว่าเพื่อช่วยให้ผู้คนชาวใต้หายจนได้
โดยอภิมหาเมกะโปรเจกต์ดังกล่าวจะต้องมีบรรดาเมกะโปรเจกต์อื่นๆ เป็นส่วนประกอบสำคัญ อาทิ ท่าเรือน้ำลึก เส้นทางรถไฟ ถนนมอเตอร์เวย์ ระบบท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ โรงไฟฟ้า เหมืองหิน เหมืองแร่ เขื่อน และ ระบบการบริหารจัดการน้ำ ต่างๆ รวมถึงโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนถูกหยิบมาผลักดันในรัฐบาลช่วง 5 ปีมานี้อย่างมีนัยสำคัญ
อันล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกิด “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” และบรรดา “นิคมอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค” ต่างๆ มากมายตามมา ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนอกจากจะเรียกว่าการผลิกผันแผ่นดินด้ามขวานที่ตั้งอยู่บน 3 ขาหยั้งเศรษฐกิจเดิมคือ เกษตร ประมงและท่องเที่ยว ให้ตั้งอยู่บนฐานเศรษฐกิจใหม่คือ การเป็น “ฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” แห่งใหม่ของโลกแล้ว ยังอาจเรียกได้ว่าเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งข้ามโลก” พร้อมๆ กับการเป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ไปในเวลาเดียวกัน
ซึ่งนั่นก็คือยุทธศาสตร์ต่อเนื่องจาก “แบตเตอรี่ไทย” หรือ “แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(ESB)” สู่ “แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้(SSB)” ที่ในเวลานี้แปลงร่างเป็น “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวัน(EEC)” กับ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC)” ไปเรียบร้อยแล้ว!
ยังดีที่ตลอดหลายปีมีนี้ภาคประชาชนต่างตื่นตัวลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว สร้างเครือข่ายเพื่อขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่พวกเขาต้องได้รับผลกระทบไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนปักษ์ใต้ที่มีสายเลือดนักสู้เข้มข้น ต่างลุกหขึ้นทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องทรัพยากรกันไปเกือบจะทุกหย่อมหญ้า จึงส่งผลให้ทั้ง “อภิมหาเมกะโปรเจกต์” และบรรดา “เมกะโปรเจกต์” ต่างๆ มีอันต้องชะลอการตอกหมุดลงหลักปักฐานกันมาจนถึงวันนี้
ท้ายสุดนี้ก็ต้องรอจับตาเวที “ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้” ตามที่กระทรวงพลังงานมอบให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) จัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้(SEA) ที่จะจัดขึ้นที่ จ.สงขลา อังคารที่ 23 เม.ย.ที่จะถึงนี้กันต่อไปว่า ผลจะออกมาอย่างไร?!
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
- กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรังยื่นค้านเวทีรับฟังความเห็นพร้อมจ่อยกเลิกประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม
- ไม่ชอบมาพากล! จี้หยุดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ยื่นขอประทานบัตรระเบิด “เขาโต๊ะกรัง”
- ยุติกลางคัน! ชาวบ้านเดินหน้าล้มเวทีวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม “ระเบิดเขาโต๊ะกรัง” ที่สตูล
- ชาวบ้านโวยขอทำประชาพิจารณ์โรงโม่หินอ่าวลึกเหนือใหม่ พบไม่โปร่งใส
- กองปราบฯ ตรวจเส้นทางการเงินบริษัทโรงโม่หิน ปมมรณะยิงยกครัวผู้ใหญ่บ้านอ่าวลึก