xs
xsm
sm
md
lg

เจาะ ‘ศึกน้ำดูบู’ ที่เหลือ 2 เขต จ.ยะลา “ประชาชาติ” ยังน่าจะถือธงนำสมศักดิ์ศรีบ้านเกิด “อ.วันนอร์” / เขต 2 ปะฉะดะ 3 พรรคใหญ่ “ซูการ์โน-อับดุลการิม-ริดวาน” ไร้เงาคน ปชป. / เขต 3 เหลือมวยถูกคู่ 2 ค่าย “ณรงค์” แห่ง ปชป.ปะทะ “อับดุลอายี” แห่ง ปช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
รายงาน… เกาะติดสนามเลือกตั้ง’62  /  โดย… เมือง  ไม้ขม
 

 
เหลือเวลาเพียงสัปดาห์เดียวก็จะถึงวันชี้ชะตา ชี้อนาคตของประเทศไทย รวมทั้งชี้อนาคตของคนไทยทั้งประเทศ และยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าระหว่างพรรคและนักการเมืองในฝ่าย “สืบทอดอำนาจ” กับฟาก “ประชาธิปไตย” คนไทยจะเลือกทางเดินสายไหน เพื่อออกจาก “หลุมดำ” ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
 
แต่ที่ยังตีความกันยุ่งเหยิงทั้งที่ใกล้เวลาเปิดหีบเลือกตั้งแล้วก็คือ สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ระหว่าง “ค้างคืนชั่วคราว” หรือ “ประจำตลอดทั้งคืน” ซึ่งล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาฟันธงแล้วก็ยังถูก “โต้แย้ง” ไม่เห็นด้วยจากประชาชน
 
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งปัญหามากมายถูกนำมาตีแผ่ให้คนทั้งประเทศเห็นถึงการ “เอาเปรียบ” หรือ “เอาแต่ได้” เพื่อหวังสืบทอดอำนาจในทุกขบวนการเลือกตั้ง เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ายิ่งนานวันสังคมไทยยิ่ง “แตกแยก” ยิ่งแบ่งฝักฝ่าย ไม่มีการปรองดอง ซึ่งว่ากันว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในวันที่ 24 จึงน่าจะเป็นการ “ซ้อมใหญ่” เพราะหลังการเลือกตั้งถ้าฝ่ายสืบทอดอำนาจยังใช้ “วิชามาร” กันอย่างที่เห็นก็คงอยู่ได้ไม่นาน และหลังจากนั้นจึงจะเป็นการเลือกตั้ง “ของจริง” แต่ก็ถือว่ายิ่งความจริงถูกเปิดเผย ยิ่งทำให้ประชาชนเลือกที่จะตัดสินใจในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ง่ายขึ้น
 
ที่น่าติดตามคือ การที่ พรรคประชาธิปัตย์ มีมติ “ไม่เอาบิ๊กตู่” ย่อมมีนัยที่สำคัญมาก อีกทั้งที่น่าจับตมองคือ “ผลโพล” ของหลายๆ สำนักทั่วประเทศที่ผลออกมาทำนองว่า หัวหน้าพรรการเมืองที่ถูก “รุ่มเท” มากที่สุด แต่กลับมีแนวโน้มจะได้รับการ “เทคะแนน” ให้เหนือกว่าคือ พรรคอนาคตใหม่ ถามว่าอีกไม่กี่วันที่ผู้สิทธิ์จะได้หย่อนบัตรจะมีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างเช่นเกิด “แลนด์ไสล์” หรือ “สึนามิ” ทางการเมือง มีคำตอบเดียวเท่านั้นคือ...โปรดติดตาม
 
กลับมา “เกาะติดสนามเลือกตั้ง’62” กันต่อและขอนำผู้อ่านไปดูศึกชนช้างอีก 2 เขตที่เหลือของ จ.ยะลา (ติดตามเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ยะลา ได้ที่ https://mgronline.com/south/detail/9620000023335) อันต้องจัดเป็นสนามเลือกตั้งที่สำคัญเอามากๆ ของแผ่นดิน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” นั้นคือ...
 
เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ยะลา ที่ต่อสู้กันอย่างถึงพริก ถึงมะนาว ถึงหอม ภายใต้ “ศึกน้ำดูบู” ครั้งใหญ่นี้ โดยในโค้งสุดท้ายเป็นการต่อกรกันของผู้สมัคร 3 จาก 3 พรรคการเมือง นั่นคือ พรรคประชาชาติ ที่ครั้งนี้ยังคงส่งอดีต ส.ส.คนเดิม ซูการ์โน มะทา น้องชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคลงสู้ศึก
 
คู่แข่งคนสำคัญคือ อับดุลการิม เด็งระกีนา ผู้สมัครจาก พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “ลุงกำนัน” หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้เคยเป็นอดีต ส.ส.ของค่ายพระแม่ธรณีมวยผม ที่ย้ายมาซบตักลุงกำนันเพราะสมัยที่อยู่กับ ปชป.ก็มีลุงกำนันนี่แหละเป็นผู้ดูแล ส่งน้ำเลี้ยงจนได้เป็น ส.ส. ซึ่งในศึกเลือกตั้งหนนี้จึงจำต้องตอบแทนพระคุณ
 
ส่วน พรรคภูมิใจไทย ส่งผู้สมัคร ริดวาน มะเต๊ะ อาจจะดูหน้าใหม่ ไม่มีชื่อชั้นในประสบการณ์ทางการเมืองระดับประเทศ แต่ก็มีพ่อเป็นอดีต “กำนันดัง” ในพื้นที่ และเป็นถึง “นายก อบต.ตะโละหะลอ” ที่แค่เอ่ยชื่อ เปาะจิ ยือนอง ต้องร้องอ๋อกันทั้ง จ.ยะลา
 
สำหรับพื้นที่เขต 2 จ.ยะลา ต้องนับว่าสร้างความเจ็บกระดองใจให้กับ พรรคประชาธิปัตย์ อย่างยากจะลืมเลือน เพราะการที่ลุงกำนันคว้าเอาตัวอับดุลการิมให้ย้ายค่ายมาลงรวมพลังประชาชาติไทยในศึกเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ได้ ส่งผลให้ ปชป.ต่อจำใจส่งผู้สมัครหน้าใหม่ ซึ่งในโค้งสุดท้ายเวลานี้ชื่อชั้นของ อับดุลเล๊าะ บุวา ก็ยังหายไปจากโพลของเกือบจะทุกสำนัก ดังนั้นจึงฟันธงได้ว่าน่าจะเป็นการต่อสู้กันของ 3 คนจาก 3 พรรคการเมืองดังกล่าวเท่านั้น
 
เมื่อหยิบกล้องมาส่องดูในช่วงโค้งสุดท้าย เห็นชัดว่า ซูการ์โนจากค่ายประชาชาติวิ่งนนำหน้าสุด ตามมาด้วยอับดุลการิมจากค่ายรวมพลังประชาชาติไทย และริดวานจากค่ายภูมิใจไทยที่ตามกันมาติดๆ ซึ่งเวลาที่เหลือราวสัปดาห์เดียวนี้ก็ต้องดูว่าจะมีการ “ปล่อยหมัดฮุก” หรือ “ยิงกระสุน” หรือกระทั่งควัก “วิชามาร” มาใช้กันอย่างไร เพราะเท่าที่เห็นว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นชัดๆ ก็คือ บางพรรคมีการ “สั่งหัวคะแนน” ให้เก็บบัตรประชาชนเพื่อเตรียม “จ่าย” กันไว้แล้ว ในขณะที่ก็มีข่าวจากบางพรรคว่า “ลุง” รับปากโค้งสุดท้ายมีการ “หว่านกระสุน” ให้กับผู้สมัครถึง 50 กำปั่น” เพื่อให้เป็นแรงส่งเข้าสู่เส้นชัย
 
แน่นอนข่าวที่ออกมาอาจจะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ของหลายพรรคที่เน้นการต่อสู้ด้วยการปราศรัยบอกเล่านโยบายและเรื่องราวดีๆ ต่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อันเป็นความหวังว่าจะบันไดสู่การได้เป็น “ผู้แทน” กำลังออกอาการสะบัดร้อน สะบัดหนาว โดยเฉพาะกับอาการเป็น “จ่าเฉย” ของ กกต. ที่ทำหน้าที่กรรมการตัดสิน
 
ส่วน เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ยะลา ว่าไปแล้วต้องนับเป็นอีกสนามที่ประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเสียที่นั่งให้กับ พรรคประชาชาติ ซึ่งเขตนี้พรรคแรกส่ง ณรงค์ ดูดิง อดีต ส.ส.ลงสู้ศึกป้องกันแชมป์ ส่วนพรรคหลังส่ง อับดุลอายี สาแม็ง อดีต ส.ว.และอดีตรองนายก อบจ.ยะลา ลงสู้ศึก ซึ่งเขตนี้แม้จะมีผู้สมัครถึงกว่า 30 คน แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายเหลือเพียง 2 คนเท่านั้นที่เปิดกระบวนยุทธ์ต่อสู้กันทุกกระบวนท่า โดยที่ไม่น่าจะมี “ตาอยู่” มาความพุงปลาไปกินเอาเสียด้วย
 
ณรงค์ลงสนามเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ด้วย “ความไม่ประทับใจ” ของผู้ที่เคยสนับสนุน โดยพาะกับ “หัวคะแนน” สักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นเวลาถึงราว 8 ปีที่เขาห่างหายไปจากความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ แต่เมื่อปี่กลองการเมืองบรรเลงโหมกระหน่ำจึงได้เห็นเขาออกเดินมาพบปะชาวบ้าน ดังนั้นน้ำเสียงและท่าทีของชาวบ้านจึงค่อนข้างกระหึ่มแบบที่คนในค่ายพระแม่ธรณีมวยผมฟังแล้วก็ต้องตกเสียพร้อมๆ กับเร่งหาวิธีแก้เกมกันครั้งใหญ่
 
ส่วนอับดุลฮายีแม้ไม่เคยลงเล่นสนามเลือกตั้ง ส.ส.มาก่อน แต่ก็จัดว่าเป็นนักการเมืองประเภท “น้ำดี” เคยนั่งตำแหน่ง “รองนายก อบจ.ยะลา” มาแล้ว จึงมีเพื่อนพ้องในแวดวงการเมืองท้องถิ่นที่พร้อมให้การสนับสนุนจำนวนมาก และตำแหน่งสุดท้ายทางการเมืองคือ “ส.ว.” ของ จ.ยะลา มีเสียงวิจารณ์จากคอการเมืองว่า การที่ไม่เคยเป็น ส.ส.มาก่อนจึงไม่มีแผลให้โจมตี บวกกับการหาเสียงที่ใช้กลยุทธ์แบบเรียบง่าย จึงทำให้ได้ใจชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื่อสายจีน หากนำไปรวมกับสายมุสลิมที่เป็นทุนเดิม ช่วงโค้งสุดท้ายนี้น่าจะนำคู่แข่งคนสำคัญได้แบบทิ้งอยู่ถึงราว 1 ช่วงตัวทีเดียว
 
อย่างไรก็ตามก็ต้องจับตาดูอย่ากระพริบในห้วงเวลาที่เหลืออีกราว 1 สัปดาห์ก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.หนนี้ว่า ผู้สมัครคนใด หรือพรรคการเมืองใด จะมีการควักตำราพิชัยสงครามหยิบหาเอา “กลยุทธ์พิเศษ” ออกมาใช้อย่างไร หรือไม่
 
ท้ายที่สุดนี้อยากฝากว่า สำหรับ จ.ยะลา แล้วต้องนับว่าเป็นสนามที่จะใช้ “วัดบารมี” ของหัวหน้าพรรคประชาชาติอย่างแท้จริง เพราะคือแผ่นดินมาตุภูมิที่ปลุกปั้นและสร้างชื่อเสียงทางการเมืองให้กับ “อ.วันนอร์” มาอย่างยาวนาน การที่เขาจะนำพาพรรคชนะเลือกตั้ง ส.ส.ได้จังหวัดอื่นๆ หรือบนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง จ.ปัตตานี หรือ จ.นราธิวาส นั่นก็ไม่มีความหมายเท่าการชนะหรือแพ้ใน จ.ยะลา
 
ขณะเดียวกันประชาธิปัตย์นับเป็นพรรคที่ชนะติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่เขต 1 และเขต 3 ของ จ.ยะลา แต่ถ้าการเลือกตั้ง ส.ส.หนนี้เกิดพ่ายในทั้ง 3 เขต นั่นก็ย่อมหมายถึงการพ่ายอย่างยับเยินเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ยากจะยอมได้ของค่ายพระแม่ธรณีมวยผมเช่นกัน “ศึกช้างชนช้าง” ใน จ.ยะลา บนแผ่นดินอันจัดว่ามี “ความพิเศษยิ่ง” อันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงน่าสนใจด้วยประการฉะนี้
 
สุดท้ายขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ถือเป็น “หุ้นส่วนประเทศไทย” ที่ถืออยู่คนละ 1 หุ้น โปรดให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยตกอยู่ใน “วังวนแห่งหายนะ” ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของคนไทยทุกคนมานาน โดย “เงิน” คือความจำเป็นในภาวะที่ “ปากแห้ง ท้องกิ่ว” แน่นอน แต่เงินแค่ 1,000-2,000 บาทไม่ทำให้อิ่มท้องหรือชีวิตของเราดีขึ้นตลอดไปเป็นแน่ ถ้าเรา “ไม่รับเงิน” จากคนที่ “ซื้อเสียง” อานาคตของเราๆ ท่านๆ จะดีขึ้นอย่างถาวรก็เป็นได้ ดังนั้นจงใคร่ครวญ ครุ่นคิดและไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะเข้าคูหากาบัตรลงคะแนนกันให้ดีที่สุด
 


กำลังโหลดความคิดเห็น