xs
xsm
sm
md
lg

ภาษา อำนาจ กับการทำให้แปลกหน้า (1) / ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบ
 
คอลัมน์ : ชุมคน-ชุมชน-คนใต้  /  โดย : รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
.
แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในแต่ละสังคม แต่การที่แต่ละภาษาล้วนถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไข ระเบียบ แบบแผน กฎเกณฑ์ กระบวนการใช้อันมากมาย ภาษาจึงมี/เป็นอำนาจที่สามารถควบคุม กำกับความคิด สร้างความหมาย ความรู้ ความจริงให้แก่สมาชิกของสังคมด้วยกระบวนการและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป
 
ในแง่นี้ภาษาจึงเป็นทั้งอำนาจในตัวเองที่เรียกว่า “อำนาจของภาษา” และผู้ใช้ภาษา ที่สร้างภาษา และทำให้ภาษามีพลังอำนาจขึ้นมาอย่างสลับซับซ้อน หรือที่เรียกว่า “ภาษาของอำนาจ” อีกความหมายหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ภาษาคือที่มาของอำนาจ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจของภาษาและการแปรเป็นอำนาจของผู้ใช้ภาษาให้บรรลุเป้าหมายของการสื่อสาร
 
ในสังคมที่มีโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม แบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม หรือตกอยู่ในอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย จะพบว่า ผู้มีอำนาจมักสร้างภาษาผ่านการพูด การกระทำ การปฏิบัติการทางภาษา การปฏิบัติการทางสังคมและการเมือง สำหรับการรณรงค์ โฆษณาชวนเชื่อ ครอบงำ กดขี่ ปิดบังอำพราง รีดเร้น เค้นหา จัดระเบียบผู้คนในสังคมอย่างเข้มข้น
 
กระนั้น ภาษาก็ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยผู้มีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียว ยิ่งในยุคสมัยที่ศูนย์กลางอำนาจได้ถูกพังทลายลง ทำให้เกิดเครือข่าย พลังอำนาจใหม่ๆ ในหลายที่ หลากทิศทาง ที่เอื้อเกื้อให้ผู้คน ประชาชน พลเมือง หรือคนตัวเล็กตัวน้อยได้ใช้ภาษาเป็นช่องทางในการต่อรอง ต่อต้าน คัดค้าน ขัดขืน และ/หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียว
 
โดยที่การปฏิบัติการและกระทำการทางภาษาของอำนาจนั้น โดยทั่วไปไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่จะในรูป “ชุดกระทำ” ที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยงจากสถานการณ์หนึ่งไปสู่สถานการณ์หนึ่ง หรือสถานการณ์อันอำนวยทั้งในและนอกในบริบทในพื้นที่-สนามทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และอื่นๆ ที่สามารถแสดงอำนาจได้ ที่เด่นชัดคือ กระแสความเป็นไทยที่ร้อนแรงต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากอิทธิพลและความร้อนแรงของละครย้อนยุคแห่งปี “บุพเพสันนิวาส”
 
แต่ “ความเป็นไทย” นั้นประกอบสร้างขึ้นมาจาก “แตกต่างหลากหลาย” มีการผสมผสาน บูรณาการที่ต่อเนื่องยาวนานในประวัติศาสตร์ และการเป็น “พหุวัฒนธรรม” การประดิษฐ์สร้างแบบหยุดนิ่ง ตายตัว เป็นมาตรฐานเดียว จึงอาจเป็นดาบสองคมที่ทำให้เกิดความแปลกแยก และสร้างความรุนแรงแบบหนึ่งขึ้นมาได้
 
ซึ่งคล้ายๆ กับกับเหตุการณ์ กรณีผู้สบประภัยจากทีมหมูป่า อะคาเดมีทั้ง 13 คนที่ไม่ยอมจำนน ดิ้นรนเอาชีวิตรอดท่ามกลางความยากลำบากอันมหาศาล ขณะพลังแห่งความร่วมมือของหน่วยรัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศที่ถาโถมเข้าช่วยเหลือ โดยไม่ย่อท้อหรือสูญเสียความศรัทธาในภารกิจ ดังข้อมูลเชิงประจักษ์และเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่การรณรงค์สนับสนุนให้กำลังใจ “คนแปลกหน้าที่อยากกอด”
 
แม้จะมากด้วยความรู้สึกรัก ห่วงใย เต็มไปด้วยแรงหวัง และปรารถนาดี แต่ทำให้ภาษากลายเป็นอิสระขึ้นมา และสถาปนาเป็น “อำนาจของภาษา” เข้าสู่โครงสร้างความรู้สึกนึกคิดและรับรู้ว่า การไม่เคยรู้จักกันกันมาก่อน แม้อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน คือความแปลกหน้าแบบหนึ่ง ดังในพจนานุกรมที่ให้ความหมายว่า แปลกหน้า หมายถึง แปลกถิ่น ไม่คุ้นเคย ไม่คุ้นหน้า ไม่รู้จัก ในสำนวนสุภาษิตก็สอน/บอก/กล่าวกันโดยทั่วไปว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน (แปลกหน้า) เพราะโดยทั่วไปคนแปลกหน้า เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ พึงระมัดระวังเมื่อเผชิญพบกับคนแปลกหน้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นอำนาจแห่งภาษาที่สร้างความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ และทำให้เราต่างกลายเป็น “คนแปลกหน้า” กันมากขึ้นไปอีก
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่เรียกกันอย่างหลวมๆ ผิวเผินว่า การเมืองเสื้อสี กระทั่งเป็นเหตุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ.2557 และสามารถระงับความขัดแย้งในชั้นต้นได้ในระดับหนึ่ง
 
แต่จากการดำเนินนโยบายทางการเมืองของรัฐ กองทัพ และกลไกรัฐที่มีการใช้อำนาจทั้งในทางตรงด้วยกำลัง การใช้กฎหมายปกติ กฎหมายพิเศษ และทางอ้อมด้วยอำนาจนำทางวัฒนธรรม มีการปิดกั้นการมีส่วนร่วม สกัดกั้น ตัดตอนการเคลื่อนไหวของประชาชน พลเมือง ในแทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชุมนุมด้วยพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 การออกคำสั่ง การข่มขู่ จับกุมผู้การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น จำกัดพื้นที่ ปิดกั้นเสรีภาพ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน หรือกระทั่งการดำเนินคดีระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือที่เรียกว่า “การฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อยับยั้ง ขัดขวางการชุมนุม เช่น การดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม จำนวน 17 คน ที่เรียกร้องไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการเดินเท้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในข้อหา กีดขวางการจราจร ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่จิตใจและพาอาวุธ ไม้คันธงปลายแหลมไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร
 
นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปเคารพกฎหมาย การจริงจังกับการดำเนินคดีเล็กคดีน้อย แต่เพิกเฉยดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่า การออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ การทวงคืนผืนป่าที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน การอ้างยืมนาฬิกาด้วยมาตรฐานจริยธรรมที่คลุมเครือ กำกวม การดำเนินคดีที่อืดอาดยืดยาดในคดีล่าเสือดำและสัตว์ป่าหายากในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแบบคาหนังคาเขา พร้อมของกลางที่เป็นซากสัตว์ อาวุธปืน กระสุนนานาชนิด คือตัวเร่งสำคัญที่ทำให้คำอำนาจ “คนดีที่เสียสละ” เสื่อมมนต์ขลังลงอย่างรวดเร็ว
 
ในเชิงระบบและโครงสร้าง มีความเชื่อมโยงทางการเมืองที่สะท้อนและส่อชี้ถึงการ “สืบอำนาจ” ต่อไปหลังการเลือกตั้งผ่านทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ และการกำหนดนโยบาย โครงการพัฒนาด้วยการทุ่มงบประมาณอันมากมายมหาศาล กล่าวคือ
 
(1) การเขียนรัฐธรรมนูญ ภายใต้ข้ออ้างปราบโกง หรือ “รัฐธรรมนูญปราบโกง” แต่ได้ทำลายหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ด้วยการลดทอนกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เหลือเพียงกฎหมายที่มุ่งขจัดคู่ขัดแย้งทางการเมืองจากปรากฏการณ์ทางการเมืองเฉพาะหน้ามากกว่าการวางกฎกติกาสากล การแสดงเจตนาไม่เชื่อมั่นในเจตจำนงของประชาชน การเปิดช่องให้รัฐราชการเข้ามีบทบาทในระบบรัฐสภา การลิดรอนระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล การเปิด/ปูทางสำหรับนายกคนนอก อำนาจวุฒิสภาที่อย่างกว้างขวาง การทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจควบคุม/กำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นไปโดยง่าย เป็นปกติ และเปิดเผย การทำให้กฎหมายทั่วไปมีอำนาจเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ
 
(2) การบิดเบนเจตนารมณ์ของการ “เลือกตั้ง” ให้เป็น “ความชั่วร้าย” การ “โยนบาปความผิด” ให้แก่นักการเมืองแต่กลุ่มเดียว ผ่านการกล่าวซ้ำต่อเนื่อง การ “รับชอบความดี” ฝ่ายเดียวหลังการรัฐประหาร การหาเหตุ เงื่อนไข ปัจจัยที่ชอบธรรมของการ “อยู่ต่อ” ด้วยภาษา/คำอำนาจ  “การทำงานที่ต่อเนื่อง “เสียสละเพื่อส่วนรวม”  ของกลุ่มอำนาจ ที่ยึด/ถือ/ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ให้ดำเนินสืบเนื่องต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง
 
(3) การดำเนินนโยบายและโครงการที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม”  เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ด้วยวิธีการรวมศูนย์การตัดสินใจ การผูกขาดการจัดการด้วยระบบราชการและเครือข่ายเก่าๆ ผ่านทางโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 และประชารัฐ ที่มีการทุ่มงบประมาณลงไปในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้านอย่างมากมายมหาศาล เป็นต้น
 


กำลังโหลดความคิดเห็น