ตรัง - คุณตาชาวย่านตาขาว จ.ตรัง ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านสร้าง “เตาเผาถ่านไร้ควัน” โดยนำไม้ยางมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม เพราะประหยัดมากกว่า ในยุคที่พลังงานภาคใต้กำลังวิกฤต
วันนี้ (26 ก.ค.) นายฟื้น แก้วพิทักษ์ ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านสร้างเตาเผาถ่านไร้ควัน โดยใช้ไม้ยางพารา ซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบ ทำให้ได้ถ่านจากไม้ยางพาราที่มีลักษณะเด่นกว่าการเผาในระบบเดิมๆ นั่นคือ ถ่านมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ใช้หุงต้มได้นาน สิ้นเปลืองน้อย จนปัจจุบันได้มีผู้สนใจเดินทางมาดูตัวอย่างเตาเผาถ่านต้นแบบแห่งนี้ เพื่อนำไปสร้างใช้ในครัวเรือนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ก๊าซหุงต้มมีราคาสูงขึ้น ทำให้มีการหันมาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นายฟื้น หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตาฟื้น” ได้บอกว่า ตนเองใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแบบลองผิดลองถูกในการสร้างเตาเผาถ่านมาก่อน กระทั่งเมื่อสร้างเตาเผาถ่านไร้ควันได้สำเร็จแล้ว ก็นำมาลองเผาถ่านเพื่อใช้ในครัวเรือน เมื่อเหลือก็ขายให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่จำเป็นต้องใช้การหุงต้มเป็นเวลานานๆ ซึ่งจะประหยัดได้มากกว่าการใช้ก๊าซหุงต้ม ที่สำคัญการใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม เชื่อกันว่าจะทำให้อาหารมีรดชาติที่อร่อยกว่าการใช้ก๊าซ จนทุกวันนี้ถ่านของตนที่ผลิตขึ้นมามีจำหน่ายไม่เพียงต่อความต้องการของพ่อค้าแม่ค้า
ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงกว่ากำลังการผลิต ซึ่งแตกต่างไปจากภาคอื่นๆ ที่มีโรงไฟฟ้า และมีกำลังส่งเต็มที่ ซึ่งในส่วนของ จ.ตรัง เองก็ได้มีการเร่งพัฒนาผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไฟฟ้าพลังน้ำ หรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โดยในโรงงานใหญ่ๆ หลายแห่งได้มีการบริหารจัดการนำวัตถุดิบมาแปรรูปครบวงจร เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง อันเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเร่งส่งเสริมชุมชนให้สร้างพลังงานทดแทน หรือผลิตไฟฟ้าเพื่อมาใช้เองให้มากขึ้น