xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชาวพุทธฯ ออกประณามโจรใต้ก่อเหตุอย่างโหดร้าย และไร้มนุษยธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - สุดทน! เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุอย่างโหดร้าย และไร้มนุษยธรรม หลังเกิดเหตุระเบิดขึ้นต่อเนื่องภายในสวนยางพารา จนชาวบ้านไทยพุทธได้รับบาดเจ็บหลายราย

วันที่ 28 มิถุนายน 2561 เกิดเหตุ น.ส.วิภาวรรณ ปลอดแก่นทอง อายุ 33 ปี ในพื้นที่ ม.1 บ้านแค่ ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา ขณะออกไปกรีดยางในสวนยางพารา เหยียบกับระเบิดทำให้ขาซ้ายขาดใต้หัวเข่าบาดเจ็บสาหัส ในขณะเข้าไปกรีดยาง

วันที่ 30 มิถุนายน 2561 เวลา 05.20 น. นายชุติพนธ์ นามวงค์ อายุ 48 ปี ชาวบ้าน ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา ขณะกำลังกรีดยาง โดนระเบิดของคนร้ายบาดเจ็บสาหัส

วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เวลา 07.30 น. นายสุทิน แห้วขุนทด อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1/7 หมู่ 2 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เกิดเหตุระเบิดบริเวณใต้โคนต้นยางพารา ปลายเท้าขวาขาดอาการสาหัส

วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 06.30 น. นายสุโข คำแก้ว อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6/1 หมู่ 6 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดในสวนยางพารา พื้นที่บ้านกาสังใน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดเป็นชาวไทยพุทธ ในพื้นที่สวนยางที่ชาวบ้านประกอบสัมมาอาชีพตามปกติ การกระทำดังกล่าวอาจมีเจตนาแอบแฝง ไม่ใช่แต่เพียงสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ชาวพุทธในพื้นที่ ซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อย แต่ยังอาจหมายถึงการสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อหวังผลในการสร้างความเกลียดชังทางชาติพันธุ์ต่อกัน
 

 
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ขอประณามการก่อเหตุที่โหดร้าย และไร้มนุษยธรรม พร้อมมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

1.กลุ่มผู้ก่อการหรือกลุ่มใดๆ ควรยุติการกระทำอันโหดร้าย และไร้มนุษยธรรมต่อพลเรือน

2.กลุ่มผู้ก่อการหรือกลุ่มใดๆ ควรยุติการใช้ทุ่นระเบิดต่อการสังหารบุคคล และยุติการโจมตีพลเรือนทันที “การวางทุ่นระเบิดบนพื้นที่ปลูกยางพารา และเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เป็นสิ่งที่โหดร้าย”

3.กลุ่มผู้ก่อการหรือกลุ่มใดๆ ควรปฏิบัติตามสนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดในปี พ.ศ.2540 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อปี พ.ศ.2544 ห้ามมิให้มีการสังหารหมู่ เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะระหว่างพลเรือน และพลรบ และขอเรียกร้องให้นักสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมรับข้อร้องเรียนโดยด่วน ให้รัฐบาลและคู่พูดคุย เร่งดำเนินงานให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยทั้งสองฝ่าย เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยโดยด่วน ให้องค์กรภาคประชาสังคมออกมาแสดงถึงการไม่เห็นด้วยต่อการกระทำอันโหดร้าย และไร้มนุษยธรรมต่อพลเรือน

4.หน่วยงานของรัฐ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการป้องกัน และปกป้องไม่ให้การกระทำดังกล่าวเกิดซ้ำ โดยการสร้างพื้นที่การพูดคุยระหว่างกัน เพื่อเป็นการลดอคติต่อกัน

และ 5.รัฐเร่งนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น