ปัตตานี - อัยการจังหวัดปัตตานี นัด 3 นักสิทธิมนุษยชนรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ท่ามกลางองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศที่คอยดูอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (21 ก.พ.) นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน พร้อมด้วย นายอับดุลกอฮัร อาแวปูเตะ ประธานศูนย์มูลนิธิทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ที่สำนักงานอัยการ จังหวัดปัตตานี
โดยในเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวเพื่อขอให้พนักงานอัยการอำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานอัยการในการสั่งคดี ขอให้พนักงานอัยการสั่งตามที่เห็นสมควรให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลสำคัญเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ว่าคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องร้องข้อหาที่นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจฟ้อง โดยที่ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี การปฏิบัติหน้าที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไปได้ จึงเป็นหน่วยงานที่สามารถถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด มิได้มุ่งที่จะคุ้มครองนิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐจากการถูกตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น กอ.รมน.จึงมิใช่ผู้เสียหายแต่อย่างใด
ภายหลังจากยื่นหนังสือแล้ว พนักงานอัยการ นัดนักสิทธิทั้ง 3 คน มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี
ทางด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เปิดเผยว่า ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 ได้มีการจัดเก็บข้อมูลตามหลักวิชาการที่มุ่งประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยที่การนำเสนอเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานราชการตรวจสอบกรณีการกระทำทรมานฯ รวมทั้งการเปิดเผยการทรมานฯ ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การจัดทำรายงานยังเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้แก่หลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามนี้ จึงไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และอาจเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ และการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของพลเมือง ปิดปากไม่ให้ดำเนินการตรวจสอบและรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน
การกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และถือเป็นความผิดทั้งตามกฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การกระทำทรมานฯ ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 13 ปี นับแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 เป็นต้นมา โดยที่รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง รวมทั้งไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ 1984” ที่กำหนดกรอบการป้องกันการกระทำทรมานฯ การชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย และการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อการกระทำผิด
การที่พนักงานสอบสวนทำการส่งตัวบุคคลทั้ง 3 คน ให้พนักงานอัยการในครั้งนี้ได้สร้างความกังวลเป็นอย่างมากแก่องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการส่งเสริม คุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนและต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ โดยวันนี้ได้มีผู้แทนจากสถานทูต องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ และระหว่างประเทศ องค์การข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่มาสนับสนุน และให้กำลังใจนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ในครั้งนี้ด้วย