ปัตตานี - ผบ.ฉก.ปัตตานี นำหัวหน้าเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย แถลงข่าวแสดงความเสียใจ กรณีสนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ระบุพร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ด้าน 14 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์จี้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
วันนี้ (25 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ห้องประชุมอำเภอเมืองปัตตานี ผู้บังคับบัญชา 3 ฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง นำโดย พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผบ.ฉก.ปัตตานี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเข้าทำการตรวจค้นที่พักอาศัยของ นางโซรยา จามจุรี นักวิชาการสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.61 ที่ผ่านมาว่า หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออภัยต่อผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว
ขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบถึง..
การดำเนินการดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้มีการจับกุมวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง จำนวน 40 ลูก และอุปกรณ์ในการจุดระเบิดจำนวนมาก ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.61 หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีได้สั่งให้หน่วยในพื้นที่ ยกระดับการเฝ้าระวังการก่อเหตุร้ายในพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดงานกาชาด ที่จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพิ่มมากขึ้น
หน่วยรับผิดชอบในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 25, ศูนย์ปกครอง อ.เมือง และ สภ.เมืองปัตตานี ได้ร่วมกันตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัย ว่าจะเป็นแหล่งซุกซ่อนของคนร้าย และอุปกรณ์การก่อเหตุร้ายในพื้นที่ต้องสงสัยทุกแห่ง เพื่อทำลายความพยายามในการก่อเหตุ เพราะหากไม่ดำเนินการในการสกัดกั้น ทำลายความพยายามในการก่อเหตุร้ายดังกล่าว คนร้ายอาจจะก่อเหตุได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนอย่างร้ายแรงได้ ประกอบกับก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.61 ได้มีคนร้ายที่ก่อเหตุระเบิดตู้เบิกเงินสดของธนาคารหลายแห่งใน อ.เมืองปัตตานี
จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า คนร้ายส่วนหนึ่งได้หนีเข้ามาหลบซ่อนในบริเวณชุมชนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังในบริเวณชุมชนดังกล่าว แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นที่พักอาศัยของบุคคลใดอย่างชัดเจนได้ จึงมีความจำเป็นจะต้องทำการตรวจค้นบ้านเรือนหลายแห่ง ในการเข้าตรวจค้นตรวจสอบเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของ ฉก.ปัตตานี 25 เป็นหน่วยหลัก เจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครองเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ ไม่ได้ดำเนินการโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด
การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นอำนาจโดยชอบ และมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องระงับ ยับยั้ง และป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเร่งด่วน
“กรณีเจ้าหน้าที่อาจจะมิได้ดำเนินการตามข้อสั่งการในคู่มือ สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อเหตุอันควรหรือไม่ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีจะได้จัดให้มีคณะกรรมการสอบสวน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และย้ำเตือนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไป”
ขณะเดียวกันเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้ร่วมลงนามคำแถลงการณ์องค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ โดยเรียกร้องให้ยุติ และสอบสวนการอ้างใช้อำนาจกฎหมายพิเศษ ค้นบ้านพักของหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (POAW)
โดยเหตุเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 มีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง สนธิกำลังค้นบ้านพักของ นางโซรยา จามจุรี หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นนักวิชาการในสังกัดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (POAW) รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มในการเสนอให้คู่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) สร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัย โดยให้ตกลงกันบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ในสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารจำนวน 2 คันรถ มาตรวจค้นบริเวณชุมชน และที่บ้านของนางโซรยา จามจุรี โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า อาจจะมีคนร้ายหลบซ่อนอยู่จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายวางระเบิดตู้เอทีเอ็มในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา โดยมีการตรวจค้นบ้านในบริเวณดังกล่าวประมาณ 3 หลัง
ทั้งนี้ บ้านพักของหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี เป็นพื้นที่ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ตามอำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (2548) และพื้นที่ตามอำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก (2457) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547
ตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 (4) ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
ในการตรวจค้นเนื่องจากเป็นการค้นบ้านที่อยู่อาศัย เมื่อหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนนี้ ขอดูหมายค้นที่ออกโดยศาล ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับตามหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องมีหมายค้นจากศาลในท้องที่ เช่นเดียวกับที่เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการจับกุมบุคคล ก็ต้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวที่เรียกกันว่า หมาย ฉฉ. เป็นต้น
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาแสดงตนขอค้นเคหะสถาน ไม่สามารถแสดงหมายค้นของศาล ตามที่หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขอให้แสดงได้ แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลับไปขอหมายศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับอ้างใหม่ว่าใช้อำนาจเพื่อค้นตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งหลังจากตรวจค้นแล้วก็ไม่พบคนร้าย หรือสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษฉบับต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสับสนตลอดมา ดังนี้
1. กฎหมายพิเศษในพื้นที่ควรใช้อย่างระมัดระวัง และให้ส่งผลกระทบถึงประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งยึดมั่นถึงเจตนารมณ์ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเจตนารมณ์เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติ ไม่ใช่การติดตามค้นหาผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสิทธิในเคหสถานโดยไม่จำเป็น
2. การอ้างอำนาจตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องเป็นไปอย่างชัดเจน ถูกต้อง ชอบธรรม เมื่ออ้างว่าต้องการค้นตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อถูกโต้แย้งว่าไม่มีหมายค้น เจ้าหน้าที่กลับอ้างการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่ง คือกฎอัยการศึก อันเป็นการใช้อำนาจอย่างสับสน และอาจมีลักษณะตามอำเภอใจ ทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย
นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิง อาจเข้าข่ายการข่มขู่ คุกคาม และสร้างความหวาดกลัวต่อนักกิจกรรมหญิงรายนี้ ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด รวมทั้งชุมชน
เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี องค์การสหประชาชาติต่อประเทศไทย ในการรายงานสถานการณ์สิทธิสตรี ตามวาระของประเทศไทย ที่รวมรายงาน ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2560 ในย่อหน้าที่ 30 ว่า คณะกรรมการฯ แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงที่ทำงานรณรงค์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท เลสเบียน ไบเซ็กชัล หญิงข้ามเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรง และการข่มขู่ ที่เป็นผลจากการทำงานของพวกเธอ โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรธุรกิจ
โดยมีข้อเสนอว่า ให้มีในข้อ (b) ระบุว่าให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินคดี และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเหมาะสมทุกกรณีที่มีการคุกคาม การใช้ความรุนแรง และการข่มขู่หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงด้วย
องค์กรภาคประชาสังคม และบุคคลตามรายนามด้านล่างนี้ ขอเสนอให้รัฐบาล และผู้มีอำนาจหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ดำเนินการดังนี้อย่างเร่งด่วน
1. ขอให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระต่อการปฏิบัติงานครั้งนี้ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกลุ่มดังกล่าว และแสดงความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมต่อกรณีที่มีการคุกคามหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบ ใช้อำนาจสมควรแก่เหตุ หรือสุจริตหรือไม่
2. หากพบว่าเป็นการข่มขู่หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องจัดให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่อการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในการข่มขู่ลักษณะเช่นนี้
เผยแพร่วันที่ 25 มิถุนายน 2561
รายชื่อองค์กรและบุคคลที่ลงนาม
1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
2. กลุ่มด้วยใจ
3. ศูนย์อัลกุรอ่าน และภาษา QICC
4. มูลนิธิดารุสลามเพื่อเด็กกำพร้าจังหวัดปัตตานี
5. เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
6. มูลนิธิศักยภาพชุมชน
7. เครือข่ายชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา
8. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า (FECO)
9. มูลนิธินูซันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
10. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
11. เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ PERMATAMAS
12. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
13. องค์กรสันติภาพและเพื่อสิทธิมนุษย์ชน OPHR
14. เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 4 อำเภอ จ.สงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย)
15. มาเรียม ชัยสันทนะ สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กเยาวชนชายแดนใต้
16. แวอิสมาแอล แนแซ
17. รอฮานี จือนารา
18. ทวีศักดิ์ ปิ
19. แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา
20. ฟารีดา ปันจอร์
21. พาฮีสะห์ ท้วมงาม
22. รอมฎอน ปันจอร์
23. สมัชชา นิลปัทม์
24. นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
25. มูฮำหมัด ดือราแม
26. อิมรอน ซาเหาะ
27. ไฟซอล ดาโอ๊ะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
28. อลิสา บินดุส๊ะ
29. ชลธิชา แจ้งเร็ว
30. ดร.ฟารีดา สุไลมาน
31. ฮุสนี เบ็นหะยีคอเนาะ ผู้จัดการโรงเรียนศาสนบำรุง
32. อิมรอน โสะสัน นักศึกษาปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะ AUT University, New Zealand
33. อิสมาเเอล หมัดอาดัม สภาเครือข่ายมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี
34. อับดุลอาซิส ตาเดอินทร์
35. ศิริพร ฉายเพ็ชร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
36. อันธิฌา แสงชัย ห้องเรียนเพศวิถี และสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู
37. อับดุลเราะมัน มอลอ รัฐศาสตร์ ม.หาดใหญ่/สถาบันปาตานีเพื่อการวิจัยและพัฒนามนุษย์
38. เอกราช ซาบูร์ เครือข่ายมุสลิมแห่งเอเชีย
39. สุไลมาน เจ๊ะแม
40. ทัศนียา หะยีโซะ
41. ดาราณี ทองศิริ
42. ดันย้าล อับดุลเลาะ นักศึกษาปริญญาโทสาขาพัฒนาสังคม
43. รอดียะห์ บินติ อาลี สาลี นักวิชาการศึกษา
44. ซาหดัม แวยูโซ๊ะ
45. นาดา ไชยจิตต์
46. Subaky Binkamit
47. วาสนา สาเมาะ
48. หวันมูหัมหมัด ฟาอิส เสมอภาพ
49. ฐิตินบ โกมลนิมิ
50. นารีรัตน์ สาเม๊าะ สมาคมสตรีมุสลิมสงขลา
51. รอดียะห์ บินติ อาลี สาลี นักวิชาการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามศึกษา อ.แม่สอด
52. ดร.ฆอซอลี เบ็ญหมัด
53. สถาบันปอเนาะบัยตุลอิฮซาน
54. ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ
55. เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
และ 56. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง