คอลัมน์ : ชุมคน-ชุมชน-คนใต้
โดย : รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
การเปลี่ยนแปลงในระบบการเมือง วัฒนธรรม และโครงสร้างความรู้สึก
ในเชิงสถาบัน การก้าวสู่การเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลในรูปแบบใหม่ ที่มีนวัตกรรมการบริหารเน้นงานพัฒนาและการประกอบการพัฒนา ซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญมาจากบทบาทและความคาดหวังในโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ใหม่ขององค์กร การเปลี่ยนแปลงฐานคิดและกระบวนทัศน์การพัฒนา อันเนื่องมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นต้นมา
การเกิดขึ้นของนักการเมืองหน้าใหม่ในระดับท้องถิ่น ทำให้องค์การบริหารตำบลต้องพยายามสร้างภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญที่สุดคือ “พัฒนากิจกรรม” เพื่อทำหน้าที่บูรณาการและเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญของระบบการเมืองในและนอกสถาบัน และการสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระดับชุมชนและเครือข่าย
อย่างไรก็ดี แต่การได้มาในการพัฒนากิจกรรมเหล่านี้ต้องผ่านการพูดคุยกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ต้องประสานงานกับแกนนำบ้านต่อเนื่องและจริงจัง ทำให้เจ้าหน้าที่ฯ ถึงกับกล่าวว่า “ทำงานกับชาวบ้านไม่ง่ายเหมือนก่อน”
ที่เป็นเช่นนี้เพราะกระบวนการตัดสินใจและใช้อำนาจนั้น ไม่ได้รวมศูนย์ เขื่องขลัง สั่งการได้เบ็ดเสร็จอีกต่อไป เพราะชาวบ้านต่างตื่นตัว การตระหนักในบทบาท ตำแหน่งแห่งที่และตัวตน ทำให้ “กล้า” ที่จะแสดงออกอย่างเปิดเผยในการต่อล้อต่อเถียง ท้าทาย กระทำการในสิ่งที่คาดหวังและปรารถนามากยิ่งขึ้น
การเรียกร้องให้เสียสละในความหมายแบบเดิมจึงหมดพลังและความสำคัญลง เมื่อต้องปะทะประสานกับความรู้สึกนึกคิดแบบพลเมืองที่รู้ทัน และตื่นรู้กับสิทธิและความหมายของการดำรงอยู่และตำแหน่งแห่งที่ และการสะท้อนตัวตนผ่านวิถีชีวิต คำพูด การกระทำ และทางเลือกของชีวิต
กระทั่งผู้นำเองที่ตระหนักว่า “รู้คนเดียวไม่ได้” เพราะหากทำงานไม่เป็นตามที่คาดหวัง ก็อาจถูกชาวบ้านดูแคลนว่า “ไม่มีน้ำยา” จน “หมดมู๊ดผู้นำ” ย่อมสะท้อนโครงสร้างความรู้สึกและช่องว่างทางสังคมที่หดแคบลงระหว่างผู้นำกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
การเปลี่ยนแปลงการเมือง “ของ” ประชาชน และการเมืองของชุมชน
การแสดงออกทางการเมืองของชาวบ้านในระดับชุมชนและเครือข่าย สามารถที่จะสะท้อนออกมาทั้งในแง่การต่อต้าน คัดค้าน เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งที่คาดหวังหรือต้องการ และการมีมามีส่วนร่วมในการคัดค้านนโยบายองค์การบริหารส่วนตำบล โครงการจากภายนอก การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับจังหวัดและระดับชาติ
การแสดงออกและการปฏิบัติการทางเมืองของชาวบ้านยังมีด้านของการร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อสร้างช่องทางเลือกใหม่ในการเคลื่อนเปลี่ยนข้อเสนอ นโยบายในระดับชุมชน/ท้องถิ่นอีกด้วย ที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การก่อรูปความร่วมมือเชิงสมานฉันท์ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มในชุมชน กระทั่งนำไปสู่การสร้างและประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาวะชุมชนในปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนแบบครบวงจร ครอบคลุมด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หมวดการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ด้านสังคม และด้านการขับเคลื่อนธรรมนูญสู่การปฏิบัติ
ทั้งนี้การเกิดขึ้นของธรรมนูญสุขภาวะ ถือเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะในระดับชุมชน และจะเป็นรากฐานที่ช่วยเติมเติมเต็มความมั่นใจให้กับชุมชนในอนาคต
ชาวบ้านบนความเคลื่อนไหว
โดยสรุปสามารถกล่าวได้ว่า ถึงยุคปัจจุบันชาวบ้านได้ผนวกตนเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายและซับซ้อน มีทั้งในและนอกภาคการเกษตร และเป็นผู้ประกอบการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ทั้งหมดล้วนเชื่อมต่อเข้ากับระบบตลาด ทั้งที่ใกล้-ไกล แนบแน่น ลึกซึ้ง และอิงอาศัยกัน (Complementarities) มากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี การก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการนั้นต้องแบกรับกับความเสี่ยง และอนาคตอันไม่แน่นอนของตลาดมากมายมหาศาล โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยทรัพยากรเป็นฐาน หรือเกี่ยวเนื่องโยงใยกับการผลิต ขณะเดียวกันต้องแสวงหาช่องทางเบียดแทรก/สร้างใหม่ ผ่านการสั่งสมความ “เชี่ยว” ในสนามการแข่งขัน/การค้าด้วยการเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และการประสาน “เครือข่ายใหม่” ตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนว่าชาวบ้าน/นักประกอบการไม่เพียงปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตนเองเพียงพื้นๆ แต่ด้านหนึ่งคือการสร้างโอกาส ทางเลือกที่สัมพันธ์กับสำนึก หน้าที่ ตัวตน และความเป็น “พลเมืองที่ยืดหยุ่นและกระจัดกระจาย” แกว่งไหวไปตามแรงเหวี่ยงของระบบเศรษฐกิจ อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง/เคลื่อนย้ายตำแหน่งแห่งที่ การก่อรูปความคิด ความรู้สึก โลกทัศน์ และมุมมองการให้ความหมายของชาวบ้านในแบบที่ไม่ใช่สังคมชาวบ้านเดิมๆ อีกต่อไป
เสียงบ่นเบื่อแสดงความเอือมระอาต่อระบบการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง ทำมาค้าขายไม่คล่องของชาวบ้าน สามารถยืนยันการรับรู้ว่าระบบเศรษฐกิจในชุมชน ได้ผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบเศรษฐกิจการเมือง” ในระบบทุนนิยมมากขึ้น
และถือเป็นการเคลื่อนไปสู่ “ชาวบ้านที่ไม่โง่” จากกระบวนการสั่งสมโลกชีวิต ผนวกรวมชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้านในการแสดงออกถึงความเป็นพลเมือง การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทางการเมือง หรือทำให้มีกิจกรรมและการตัดสินใจทางการเมืองที่เอื้อต่อชีวิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนและชุมชนมากขึ้น
การเกิดขึ้นของหน้าใหม่ในทางการเมืองของชุมชน ที่มีพื้นฐานจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพสมัยใหม่ ทั้งในและนอกภาคการเกษตร และ/หรือมีการศึกษาที่ดีที่เชื่อได้ว่าจะสามารถผลักดันพัฒนาบ้าน ท้องถิ่นของตนให้เจริญก้าวหน้าได้ จะได้รับโอกาสจากชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ
เสียงสะท้อน “เป็น อบต.ต้องมีความรู้” จึงมีนัยสะท้อนความต้องการ คาดหวังของชาวบ้านที่เริ่มข้ามพ้นกับดักความขาดแคลน/แร้นแค้น และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่และความรู้สึกของผู้คนในบ้านที่คิดว่าตนมีอำนาจในการเรียกร้อง เปล่งเสียง มากกว่าที่เคยเป็นมา “การไม่ต้องกรีดยางผ่าใบ” หรือ “ (ชาว)บ้านๆ ซอมซ่อ มอซอ” ย่อมทำให้เกิดระนาบความสัมพันธ์ที่สม่ำเสมอ “เทียมหน้าเทียมตา” และคิดว่าตนเป็น "หุ้นส่วนชุมชน” ที่มีโอกาส มีทางเลือกมากมายในชีวิตเฉกเช่นคนเมือง
ความสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของชาวบ้าน ได้ทำให้เกิด/กลายเปลี่ยนการจัดตั้งทางสังคม ไปสู่ความสัมพันธ์ในแนวราบ ที่มีลักษณะกระจัดกระจายมากยิ่งขึ้น ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสังคม วัฒนธรรม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและเชื่อมต่อถึงกัน การคมนาคม ช่องทางการสื่อสารที่สะดวกเข้าถึงง่าย ยิ่งเป็นการเสริม-แรงผลักดันอันมหาศาลต่อการตื่นตัวและการแสดงออกของความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้มากขึ้นเท่านั้น
ข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองเชิงสถาบันของชุมชน คือ บทบาทที่ลดลงของผู้นำท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ไม่สามารถใช้อำนาจแบบเขื่องขลัง สั่งการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นในอดีต เพราะอำนาจได้แผ่ซานออกไปหลายศูนย์กลาง/หลายทิศทาง
ขณะที่ชาวบ้านเองก็แสดงความเป็น “พลเมือง” “กล้า” แสดงออกอย่างเปิดเผยในการต่อล้อต่อเถียง กระทำการสิ่งที่คาดหวังและปรารถนา “ไม่ใช่ไอ้เท่ง ไอ้ทอง” หรือ “ชี้โพ” ได้อีกต่อไป ประการต่อมาคือ การที่ชาวบ้านเรียนรู้ว่าการเมืองท้องถิ่นได้เข้ามามีผลต่อชีวิตอย่างไร ทำให้เข้าไปมีบทบาทใน “ ตรวจสอบ ควบคุม และกำกับ” ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล กลุ่ม และองค์กร
ทำให้ “การเมืองท้องถิ่นเปิด-เปิดท้องถิ่นให้กว้าง” สำหรับผู้ที่ปรารถนาเข้าโลดแล่นบนถนนการเมือง และ “ทำงานการเมือง” อย่างจริงจัง ซึ่งก็เท่ากับเปิดพื้นที่การเมืองให้กับบรรดาผู้นำใหม่ เช่น ผู้ที่มาจากฐานผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจใหม่ และผู้นำธรรมชาติที่มีบทบาทในกลุ่มสวัสดิการ/สัจจะออมทรัพย์ กลุ่มเศรษฐกิจอาชีพได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่การเมืองขององค์การบริหารส่วนตำบล
การรวมกลุ่มทางสังคมนอกการเมืองเชิงสถาบัน ในรูปของกลุ่มมีแนวโน้มข้ามพ้นการทำหน้าที่เติมเต็มความเสี่ยง ความขาดแคลน และปัจจัยยังชีพพื้นฐาน และพลวัตไปสู่การพัฒนาในมิติและแง่มุมที่กว้างขึ้น เช่น การจัดระบบสวัสดิการ กลุ่มการจัดการระบบสุขภาพ กองทุนฯลฯ ย่อมชี้ชวนให้เห็นว่าได้เกิดความสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมในการต่อรองกับอำนาจต่างๆ ทั้งในระบบจารีตดั้งเดิม อำนาจใหม่ที่เป็นของรัฐ [บาล] ท้องถิ่น อำนาจการเมือง การเลือกตั้ง และการระดมทรัพยากรให้สอดคล้องไปในทิศทางที่เป็นผลประโยชน์ของชุมชนและสาธารณะที่สูงขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง
การพยายามหยุดยั้งพลังการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงถือเป็น “ความโง่” ที่แท้จริง