ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในหลายจังหวัดภาคใต้ เดินทางยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าฯ จ.สงขลา จี้แก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง แนะแทรกแซงราคากุ้งตกต่ำด้วยการจำนำ “กุ้งขาวแวนนาไม” ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน อย่างน้อย 3 เดือน ขอคำตอบชัดเจน 10 พฤษภาคมนี้
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมืองสงขลา นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีธรรมราช นายวีระ จันทร์นวล ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด จ.นครศรีธรรมราช นายยุทธนา รัตโน ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จ.สุราษฏร์ธานี นายพรชัย ยกร่อง ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งอำเภอปากพะยูน จ.พัทลุง พร้อมด้วยสมาชิกประมาณ 50 คน เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผ่านทาง นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง
เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เดินทางไปราชการที่กรุงเทพมหานคร จึงได้มอบหมายให้ นายเอกศักดิ์ อารยะนันท์ พาณิชย์จังหวัดสงขลา และนายธนาวุฒิ กุลกิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา รับหนังสือแทน และประชุมร่วมกับชาวชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีธรรมราช กลุ่มเครือข่ายและสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง ที่มายื่นหนังสือเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน และส่งหนังสือผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรี และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคากุ้งขาวแวนนาไม ตกต่ำอย่างรุนแรงในขณะนี้ ซึ่งแต่ละขนาดไม่ต่ำกล่า 40-50 บาทต่อกิโลกรัม (ขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 100 บาท) ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน ขาดทุนอย่างหนักจนไม่สามารถที่จะประกอบกิจการต่อไปได้ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงด้วย ดังนั้น ชาวชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีธรรมราช กลุ่มเครือข่ายและสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง ใคร่ขอให้กรุณานำเสนอคณะรัฐมนตรี หรือสั่งการให้คณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พิจารณาอนุมัติแทรกแซงราคากุ้งตกต่ำในครั้งนี้ โดยวิธีรับจำนำกุ้งขาวแวนนาไม จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน หรือพิจารณาอนุมัติโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งอีกครั้ง มาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำในครั้งนี้เป็นการเร่งด่วน ในภาวะวิกฤติขณะนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดี โดยกำหนดให้ได้ราคากุ้งที่ราคาตามขนาด ดังนี้
ขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 130 บาท, ขนาด 90 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 140 บาท, ขนาด 80 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 150 บาท, ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 160 บาท, ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 180 บาท, ขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 200 บาท, ขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 220 บาท และขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัม ราคา 240 บาท
ส่วนในเรื่องต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งปัจจุบันนี้ต้นทุนการผลิตขั้นต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท ที่ขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่สามารถจะทำการผลิตได้อีกต่อไป หากราคากุ้งยังตกต่ำ และต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ เกษตรกรจะต้องประสบปัญหาล้มละลาย และต้องสูญเสียอาชีพการเลี้ยงกุ้งไปอย่างแน่นอน ดังนั้น ทางชมรม กลุ่ม เครือข่าย และสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง ใคร่ขอเสนอมาเพื่อโปรดพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือเกษตรกร และอุตสาหกรรมกุ้งเป็นการด่วนในครั้งนี้ด้วย
โดยการดำเนินการจัดหา หรือสนับสนุนเงินทุนปลอดดอกเบี้ย หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และผู้ประกอบการห้องเย็น เพื่อประคับประคองบรรเทาความเดือดร้อนแก่อุตสาหกรรมกุ้งให้สามารถประกอบการได้ และให้ช่วยเจรจากับภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับลดราคาปัจจัยการผลิต เช่น ราคาอาหารกุ้ง ราคาลูกพันธุ์กุ้ง ค่าเวชภัณฑ์ และค่าไฟฟ้า ในช่วงวิกฤตราคากุ้งตกต่ำในช่วงนี้ และขอให้สรุปให้ชัดเจน ขอคำตอบภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561