xs
xsm
sm
md
lg

วังเวง...ซื้อขายยางบุรีรัมย์เงียบเหงา ร้องรัฐเร่งช่วยเหลือราคายางตกต่ำ-ผันผวนหนัก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวสวนยางพาราบุรีรัมย์ชะลอนำยางมาขาย หลังราคาตกต่ำ ทำบรรยากาศจุดรับซื้อยางเงียบเหงา ขณะผู้ประกอบการรับซื้อยางรายย่อยและเกษตรกร เรียกร้องรัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือ วันนี้ ( 12 มิ.ย.)
บุรีรัมย์ - ชาวสวนยางพาราบุรีรัมย์ชะลอนำยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วยไปขาย หลังราคาตกต่ำส่งผลให้บรรยากาศจุดรับซื้อยางเงียบเหงา ขณะผู้ประกอบการรับซื้อยางรายย่อยและเกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือ พยุงหรือแทรกแซงราคายางให้สูงขึ้นและไม่ผันผวนตกต่ำมากกว่านี้



วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและผู้ประกอบการรับซื้อยางรายย่อย ที่ อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือกรณีราคายางพาราตกต่ำ เพียงสัปดาห์เดียวทั้งยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วยล่วงลงถึงกิโลกรัมละกว่า 10 บาท โดยขณะนี้ยางแผ่นดิบอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 53 บาท ยางก้อนถ้วยอยู่ที่กิโลกรัมละ 24-25 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่อยู่ในจุดคุ้มทุน

จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยพยุงหรือแทรกแซงราคา และหาตลาดส่งออกเพื่อให้ราคายางไม่ผันผวนตกต่ำมากไปกว่านี้ และจากราคายางที่ตกต่ำในช่วงนี้ส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายทั้งยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วยตามจุดรับซื้อต่างๆ ค่อนข้างเงียบเหงา มีเกษตรกรนำยางมาขายบางตา เหลือเพียงเฉลี่ยวันละประมาณ 10 ตันเท่านั้น จากก่อนหน้านี้ช่วงที่ราคาแผ่นดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท และยางก้อนถ้วยอยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท มีเกษตรกรนำมาขายไม่น้อยกว่าวันละ 30 ตัน

โดยสาเหตุที่เกษตรกรนำยางมาขายน้อยลงเนื่องจากต้องการชะลอราคายางให้สูงขึ้นกว่านี้ เพราะจากการคำนวณแล้วต้นทุนในการเพาะปลูกหรือผลิตยางแผ่นดิบจะต้องอยู่กิโลกรัมละ 60 บาท ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาไม่ให้ราคายางต่ำกว่ากิโลกรัมละ 70 บาทและไม่ผันผวนขึ้นลง เกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อยางรายย่อยจึงจะอยู่รอดได้

นายสุเมธ แทนไธสง เกษตรกรผู้ปลูกยางบ้านหนองเก้าข่า ต.เมืองแฝก อ.ลำปลายมาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่นำยางก้อนถ้วยมาขายที่จุดซื้อ อ.แคนดง บอกว่า ช่วงนี้ราคายางตกต่ำมากไม่อยู่ที่จุดคุ้มทุน แต่ที่จำใจนำมาขายเพราะจำเป็นต้องนำเงินไปเป็นค่าปุ๋ยและใช้จ่ายในครอบครัว และหากราคาตกต่ำลงต่อเนื่องปีนี้ก็ไม่รู้ขายยางได้คุ้มทุนหรือไม่ เพราะกว่าจะถึงอายุครบเปิดกรีดได้ต้องมีต้นทุนในการปลูกและบำรุงต้นยางมากกว่า 7 ปีจึงสามารถเปิดกรีดได้

จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง โดยการพยุงราคายางแผ่นไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 70 บาท และยางก้อนถ้วยไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 35 บาท

ด้าน นายธีรเดช ทองสม ผู้ประกอบการรับซื้อยางรายย่อยที่ อ.แคนดง ยอมรับว่า หลังราคาตกต่ำลงทำให้เกษตรกรนำยางมาขายลดลงมากกว่าครึ่ง เนื่องจากส่วนมากชะลอการกรีดเพื่อรอราคาให้สูงขึ้น และปัญหาราคายางที่ตกต่ำและผันผวนในช่วงนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ยังกระทบผู้ประกอบการรับซื้อยางรายย่อยด้วยเพราะไม่สามารถรับรู้ราคาล่วงหน้าได้ โดยช่วงที่รับซื้อมีราคาสูงแต่พอจะนำไปขายให้โรงงานแปรรูปกลับมีราคาตกต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องแบกรับภาระส่วนต่างที่หายไป

จากกรณีดังกล่าวจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือพยุงราคา หรือหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นเพื่อให้ราคายางสูงขึ้นและไม่ผันผวนตกต่ำลงอีก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวสวนยางและผู้ประกอบการรายย่อยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น