ศูนย์ข่าวภาคใต้ - แนวสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ที่พาดผ่านป่าสงวนแห่งชาติป่าในช่องฝั่งตะวันตกถนนสายสาม จ.กระบี่ จนถึงวันนี้เว็บไซต์ของกรมป่าไม้ยังลงภาพประจานไว้ชัดเจนว่า “ไม่ได้ยื่นขออนุญาต” เช่นเดียวกับกรณีบุกรุกฟันต้นไม้ในป่าต้นน้ำผาดำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง โดยน้ำมือของบริษัทที่ กฟผ.จ้างสำรวจ และกรมป่าไม้ยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับผู้บุกรุก ส่วนปัญหาอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย พบรายงานของนักภูมิศาตร์จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2536 สะท้อนปัญหาเรื้อรังดอยสุเทพ เผยมีหน่วยงานรัฐกว่า 30 แห่งรุมทึ้งที่ดินทำสูญเสียพื้นที่ป่าไม้เกือบ 1 หมื่นไร่
วันนี้ (16 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีปัญหาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ซึ่งปรากฎการณ์ที่เป็นข่าวฮือฮาคือกรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการและบ้านพักคณะตุลาการศาล จ.เชียงใหม่ ที่แม้จะไม่ได้กระทำการโดยผิดกฎหมายแต่การตัดต้นไม้บริเวณก่อสร้างเนื้อที่เกือบ 150 ไร่ กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสเรียกร้องจากสังคมให้มีการรื้อถอนอาคารบ้านพักทั้งหมดและคืนสภาพผืนป่ากลับมาโดยเร็ว โดยสังคมมองว่าการตัดทำลายพื้นที่ป่าดั้งเดิมถือเป็นการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่มีอยู่น้อยนิดโดยไม่รู้คุณค่า เพราะสภาพป่าปัจจุบันมีพื้นที่ลดลงทั่วประเทศ
ทั้งนี้สภาพปัญหาการบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและมีความละเอียดอ่อนเนื่องจากผู้บุกรุกมีทุกระดับทั้งชาวบ้านประชาชนทั่วไป, นักธุรกิจนายทุนทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ยึดคืนพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ที่ถูกประชาชนบุกรุกได้เป็นเนื้อที่เกือบ 250 ไร่ ขณะเดียวกันพบว่ามีประชาชนหลายรายยินยอมคืนพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ รวมแล้วเกือบ 1,000 ไร่ และเป็นที่น่าสะเทือนใจว่าการบุกรุกหลายกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
แต่ที่น่าตกตะลึงคือข้อมูลจากรายงานการจัดทำแผนการจัดการอุทยานแห่งชาติ กรณีอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งจัดทำโดย ศ.ดร.มนัส สุวรรณ และ อ.จิระ ปรังเขียว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม 2536 ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจระบุสถานการณ์หลังมีการออกพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับในปี 2524-2525 ประกาศให้พื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย ในเขต อ.เมืองเชียงใหม่ อ.หางดง อ.แม่ริม และ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รวมพื้นท่ี 262.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 164,062.50 ไร่ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว ก็ตาม แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ
“พบว่าได้มีปัญหาสำคัญที่จัดว่าเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน (ปี2536) เกิดขึ้นเช่นกัน ปัญหานี้คือปัญหาการถือครองที่ดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ การเข้าไปตั้งถิ่นฐานและ/หรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย”
“ประเด็นของความเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ตรงที่ว่า การกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติกระทำภายหลัง หลังจากที่ประชาชนจำนวนหนึ่งได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งไปกว่านี้คือ ประเด็นปัญหามิใช่มีเฉพาะกับประชาชนเท่านั้น หากยังรวมไปถึงส่วนราชการต่างๆ ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วย ส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เผชิญปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ทั้งนี้ในรายงานได้มีข้อเสนอเพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกเพิ่มเติมโดยในข้อหนึ่งมีใจความว่า
“การกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติให้เป็นการแน่นอน การกำหนดเขตในที่นี้มิได้หมายถึงการกำหนดเขตลงบนแผนที่ ซึ่งกองอุทยานแห่งชาติได้ทำเรียบร้อยแล้ว แต่หมายถึงการปักปันเขตแดนให้เป็นที่แน่นอน ชัดเจนว่าอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ คือส่วนใดบ้างของดอยสุเทพ-ปุย”
“ความจริงอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ได้ทำการลงหมุดกำหนดเขตบ้างแล้ว แต่ยังขาดความชัดเจนและไม่เพียงพอ แม้แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ของอุทยานเองก็บอกไม่ได้ว่าเขตอุทยานแห่งชาติครอบคลุมบริเวณใดในบางจุด ความไม่ชัดเจนดังกล่าวจัดว่าเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติโดยเฉพาะที่อยู่บริเวณเชิงเขาทางด้านใต้”
ส่วนข้อมูลของการเข้าใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ของส่วนราชการในรายงานชิ้นนี้เปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ในส่วนของหน่วยงานราชการต่างๆ ว่ามีปัญหาหมักหมมเช่นไรบ้าง โดยในรายงานระบุว่า
“กรณีของส่วนราชการ ซึ่งเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ซึ่งมีอยู่กว่า 30 หน่วยงานและครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,000 ไร่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ควรจะได้มีมาตรการดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.สำรวจจำนวนส่วนราชการที่ขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ โดยมุ่งเน้นการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือเข้าใช้ประโยชน์โดยพลการ ปีที่ขออนุญาต วัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์และจำนวนพื้นที่ที่ขอใช้ประโยชน์”
“2.ส่วนราชการที่เข้าไปใช้ประโยชน์โดยมิได้ขออนุญาตให้ใช้วิธีการอลุ่มอล่วย คือให้ขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ส่วนราชการอื่นที่อาจกระทำในลักษณะเดียวกัน 3.ขอความร่วมมือส่วนราชการที่เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ใช้พื้นที่ตามจำนวนที่ขออนุญาต และให้ใช้ประโยชน์ที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อมิให้มีผลกระทบเชิงนิเวศวิทยาต่อพื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย โดยส่วนรวม”
“4.ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการที่ขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานให้บูรณะและฟื้นฟูสภาพป่าให้มีสภาพสมบูรณ์อยู่โดยตลอด และให้ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่น เช่น ดิน แร่ธาตุ และสัตว์ป่าเหล่านี้เป็นต้น 5.ส่วนราชการใด (ถ้ามี) เมื่อครบกำหนดอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแล้วควรรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างและรีบฟื้นฟูสภาพป่าโดยเร็ว ยกเว้นจะพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้การขออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ต่อไป ต้องไม่มีการขยายพื้นที่และใช้ในวัตถุประสงค์ที่นอกเหนือไปจากเดิม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ, เขตอุทยานแห่งชาติ ไปจนถึงบุกรุกเข้าใช้พื้นที่ในเขตรักษารักษาพันธุ์สัตว์ป่า ของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
อาทิ การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าในช่องฝั่งตะวันตกถนนสายสาม จ.กระบี่ เพื่อติดตั้งเสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ซึ่งในเว็บไซต์ของกรมป่าไม้ระบุไว้จนถึงวันนี้ว่า “ไม่ได้ยื่นขออนุญาต” พร้อมกับได้ลงภาพถ่ายของสถานที่ที่ได้ยื่นขออนุญาตการเข้าใช้ประโยชน์โดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นการเปรียบเทียบให้ดูด้วยนั่นคือที่ตั้งของสำนักงานสถานีทวนสัญญาณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย http://www.forest.go.th/krabi_12b/index.php?option=com_content&view=article&id=538&limitstart=11&lang=th
นอกจากนี้พบว่าการเข้าไปสำรวจพื้นที่พาดผ่านของโครงการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 KV เส้นคลองแงะ-สตูล ในบริเวณที่พาดผ่านป่าต้นน้ำผาดำ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์และเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้าสำรวจแนวสายส่งที่พาดผ่านป่าต้นน้ำผาดำ โดยมีหลักฐานภาพถ่ายระบุว่ามีการถางซุย ฟันต้นไม้ รวมถึงมีการพลอต้นไม้ให้ยืนต้นตายจำนวนหลายจุดในบริเวณที่มีการสำรวจอย่างชัดเจน
ภายหลัง กฟผ.ได้ถูกประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมาจากการเปิดเผยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตรวจข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ระบุว่า ไม่ปรากฎหนังสืออนุญาตการขอเข้าสำรวจพื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าในบริเวณป่าต้นน้ำดังกล่าวจาก กฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้แต่อย่างใด ขณะที่ตัวแทนจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้ข้อมูลว่าไม่เคยทราบรายละเอียดใดๆ จากโครงการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.ขณะเดียวกันพบว่าจนถึงขณะนี้กรมป่าไม้ยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ในประเด็นการบุกรุกป่าครั้งล่าสุดนี้เช่นกัน